บทความ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว: พระมหากษัตริย์นักอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม

ผู้เขียน สายป่าน ปุริวรรณชนะ
บรรณาธิการ ชนัญญา เตชจักรเสมา

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากประเทศตะวันตก กับทั้งทรงสานต่อพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมชนกนาถในการจะพัฒนาชาติให้ทันสมัยทัดเทียมนานาอารยะประเทศด้วยพระราชกรณียกิจนานัปการ ได้แก่ โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาเพื่อให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้เข้าถึงการศึกษาภาคบังคับ ทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของไทย โปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรใช้คำนำหน้าชื่อและใช้นามสกุลเช่นเดียวกับชนชาติตะวันตก ทรงสถาปนาธนาคารออมสินด้วยพระราชประสงค์ให้ชาวไทยรู้จักการออมเงินในระบบธนาคาร ฯลฯ ทำให้ทรงมีภาพลักษณ์เป็น “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีแนวพระราชดำริล้ำสมัย” อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาพระราชอุปนิสัยที่ปรากฏผ่านงานพระราชนิพนธ์แล้ว กลับเห็นได้ชัดว่าแม้พระองค์จะทรงเป็นนักพัฒนา ทว่าก็ทรงเห็นความสำคัญของศิลปะและวัฒนธรรมดั้งเดิม จนอาจกล่าวได้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงพระราชฐานะเป็น พระมหากษัตริย์นักอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม พระองค์สำคัญอีกพระองค์หนึ่ง

แรกสุดเมื่อพิจารณาพระราชดำริเรื่องการเมืองการปกครอง เห็นชัดว่าแม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเล็งเห็นความสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างที่เป็นไปในอารยประเทศ และทรงตั้งพระราชหฤทัยจะพัฒนาวิถีทางของการเมืองรูปแบบดังกล่าวนี้ก่อนจะนำมาใช้จริงในสยามประเทศผ่านการที่ทรงทดลองใช้เมืองจำลอง ดุสิตธานี เป็นต้นแบบ อีกทั้งยังทรงเคยใช้พระนามแฝง “อัศวพาหุ” พระราชนิพนธ์บทความ โคลนติดล้อ ลงตีพิมพ์ใน ดุสิตสมิต หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ประจำเมืองเป็นเหตุให้ “โคนันทวิศาล หรือนามจริงคือ พลเรือตรี พระยาวินัยสุนทร (วิม พลกุล) เขียนบทความชื่อ ล้อติดโคลน โต้ตอบพระองค์อย่างเผ็ดร้อน ก็ทรงรับฟังความเห็นต่างของท่านผู้นี้ด้วยน้ำพระทัยกว้างขวางอย่างวิญญูชนในระบอบประชาธิปไตยก็ตาม ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงละทิ้งขนบธรรมเนียมการปกครองและจารีตประเพณีไทย ในทางตรงกันข้ามกลับทรงตั้งพระราชหฤทัยจะรักษาไว้ในฐานะ “นิติธรรมของชาติ” ด้วยพระราชดำริว่าจะเป็นเครื่องยังความเจริญให้แก่บ้านเมือง ดังความใน พระราชดำรัสร้อยครั้ง ว่า “บรรดาประเทศทั้งปวงใดที่รักษานิติธรรมของชาติไว้ให้ดี ประเทศนั้นย่อมดำเนินขึ้นสู่ความเจริญ ประเทศใดละเลยนิติธรรมของชาติเสียหรือปล่อยให้เสื่อมทรามไปภัยย่อมจะมีมาถึงประเทศนั้น...นิติธรรมของชาตินั้นคือคุณสมบัติและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีซึ่งเป็นที่นิยมสืบๆ ต่อกันมาในหมู่ประชาชนแห่งชาติ

ตัวอย่างสำคัญประการหนึ่งที่แสดงถึงความตั้งพระราชหฤทัยดังกล่าว ได้แก่ โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ ครั้งที่สองเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๔๕๔ ด้วยในครั้งแรกเป็นแต่เฉพาะพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร จึงมีพระราชประสงค์ให้จัดการตามโบราณราชประเพณีอย่างครบถ้วนภายหลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งทรงเน้นย้ำเหตุผลของการประกอบพระราชพิธี ๒ ครั้ง ว่านอกจากจะไม่ขัดต่อขัตติยประเพณีอันมีมาแต่ครั้งต้นราชวงศ์จักรีแล้ว ยังเป็นไปเพื่อการรักษา “ความครบถ้วนสมบูรณ์” ของพระราชพิธีด้วย ตามความที่ปรากฏใน จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนี้

		เหตุที่ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็น ๒ งานนั้น เพราะตามราชประเพณีในสยามประเทศนี้ ถือเป็นตำรามาแต่โบราณว่า พระมหากษัตริย์ซึ่งเสด็จผ่านพิภพ ต้องทำ
	พระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อน จึงจะเป็นพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์...ทรงปรึกษากระแสพระราชดำริแก่พระบรมวงศานุวงศ์ แลเสนาบดีผู้ใหญ่ ก็เห็นชอบพร้อมกันตามพระราช
	บริหาร เห็นว่าควรจะจัดระเบียบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทำเป็น ๒ ครั้ง ครั้งแรกให้เป็นการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร ตามโบราณราชประเพณี แต่
	งดการแห่เสด็จเลียบพระนคร แลการรื่นเริงอย่างอื่นๆ ไว้ เมื่อถวายเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงแล้ว จึงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชอีกครั้งหนึ่ง ให้เป็นส่วน
	การรื่นเริงสำหรับประเทศ แลให้นานาประเทศที่เป็นสีมพันธมิตรไมตรีมีโอกาสจะมาช่วยงาน แลการที่ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็น ๒ ครั้งนี้ก็ไม่ผิดโบราณราชประเพณี ด้วย
	เยี่ยงอย่างเคยมีมาในรัชกาลที่ ๑ 

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงวางระเบียบการสืบสันตติวงศ์และกิจการพระราชสำนักให้เป็นไปอย่างมีระบบแบบแผนเพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติสืบต่อไป ตลอดจนพระราชทานแนวพระราชดำริว่าด้วยความประพฤติอันควรของข้าราชการผู้ถวายงานสนองเบื้องพระยุคลบาท อันถือได้ว่าเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงของโบราณราชประเพณีว่าด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร และการจัดการภายในราชสำนักต่อไปในภายภาคหน้า

ตัวอย่างเช่น ในกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๔๑ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๗ ทรงวางระเบียบว่าด้วยการออกพระนามเจ้านายในพระราชวงศ์ไว้ในมาตรา ๔ อันเป็นแบบแผนเพื่อการขานพระนามและการปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมสืบไป ดังความว่า

		มาตรา ๔  ศัพท์ต่าง ๆ ที่ใช้ในกฎมณเฑียรบาลนี้ ท่านว่าให้บรรยายไว้ดังต่อไปนี้
		(๑) “พระรัชทายาท” คือ เจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์ พระองค์ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สมมุติขึ้น เพื่อเป็นผู้ทรงสืบราชสันตติวงศ์สนอง
	พระองค์ต่อไป
		(๒) “สมเด็จพระยุพราช” คือ พระรัชทายาทที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเป็นตำแหน่งสมเด็จพระยุพราช โดยพระราชทานยุพราชาภิเษกหรือโดยพิธีอย่างอื่น
	สุดแท้แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
		(๓) “สมเด็จหน่อพุทธเจ้า” คือ สมเด็จพระบรมราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอัครมเหสี
		(๔) “สมเด็จพระอัครมเหสี” คือ พระชายาหลวงของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามที่ปรากฏในประกาศกระแสพระบรมราชโองการทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าพระ
	บรมราชินี
		(๕) “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ” คือ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอัครมเหสี หรือพระมเหสีรอง
		(๖) “พระมเหสีรอง” คือ พระชายาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ที่ดำรงพระเกียรติยศรองลงมาจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี มีพระเกียรติยศสูงต่ำเป็นลำดับกัน 
	คือ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวี พระนางเจ้า พระราชเทวี พระนางเธอ พระอัครชายาเธอ ดังนี้เป็นต้น
		(๗) “พระเจ้าลูกยาเธอ” คือ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระสนมเอก โท ตรี
		(๘) คำว่า “พระองค์ใหญ่” ให้เข้าใจว่าพระองค์ที่มีพระชนมายุมากกว่าพระองค์อื่น ๆ ที่ร่วมพระมารดากัน

หรือหากจะพิจารณาพระราชนิยมทางด้านทัศนศิลป์ งานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมอันสร้างสรรค์ขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้มีแต่งานที่มีรูปแบบศิลปกรรมตะวันตกเท่านั้น ทว่างานที่มีรูปแบบไทยประเพณีก็โดดเด่นไม่แพ้กัน

ในด้านสถาปัตยกรรม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงพระราชทัศนะเกี่ยวกับการอนุรักษ์รูปแบบสถาปัตยกรรม “ไทยแท้” ไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง เที่ยวเมืองพระร่วง ว่า

		ฝีมือช่างไทยเราได้เคยดีมาแต่โบราณแล้ว หากมาทิ้งกันให้เลือนไปเองจึงได้โทรมหนัก และจึงได้พากันมัวหลงนึกไปเสียว่าวิชาช่างของเราเลวนัก ต้องใช้แบบฝรั่งจึงจะ
	งาม ที่จริงฝีมือและความคิดของเขากับของเราก็งามด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่งามไปคนละทาง ถ้าแม้จะใช้ของเขาก็ใช้ให้ทั้งหมด ใช้ของเราก็เป็นของเราทั้งหมด ที่น่ารำคาญนั้นคือ
	ใช้ปนกันเปรอะ เช่นมุงหลังคาโบสถ์ด้วยกระเบื้องสิเมนต์เป็นต้น ถ้านึกว่าฝรั่งเขาเห็นงามแล้ว ต้องแปลว่าเข้าใจผิดโดยแท้

พระที่นั่งวัชรีรมยา เป็นพระที่นั่งตึกหลังคาซ้อนชั้น เครื่องบนประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันปิดทองประดับกระจกเป็นรูปพระอินทร์ โลกบาลประจำทิศเหนือตามคติพราหมณ์-ฮินดู มีซุ้มบันแถลงเหนือกรอบประตูและหน้าต่าง ใช้เป็นที่ประทับ


ภาพที่ ๑ พระที่นังวัชรีรมยา และพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์
(ที่มา:
http://sanamchanpalace.blogspot.com/2011/)

พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ พระที่นั่งโถงหลังคาซ้อนชั้นแบบไทยเชื่อมต่อกับพระที่นั่งวัชรีรมยา ทรงใช้เป็นที่เสด็จออกขุนนางและใช้เป็นโรงมหรสพ

พระตำหนักทับขวัญ พระที่นั่งที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นหมู่เรือนไทยประเพณี ทรงใช้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่า


ภาพที่ ๒ พระตำหนักทับขวัญ
(ที่มา:
http://sanamchanpalace.blogspot.com/2011/)

ส่วนสถาปัตยกรรมในสถานศึกษาซึ่งสถาปนาขึ้นตามพระราชดำริ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วชิราวุธวิทยาลัย ก็มีลักษณะของการประยุกต์รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณีในการออกแบบก่อสร้าง


ภาพที่ ๓ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังคาซ้อนชั้นแบบไทย มีการประยุกต์ใช้ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ปูนปั้น หน้าบันรูปพระสรัสวตีทรงนกยูง มีคันทวยกระหนกรับเชิงชาย ซุ้มประตูหน้าต่างทำเป็นซุ้มบันแถลงรูปมกรคายนาค ดาวเพดานปูนปั้นเลียนอย่างศิลปกรรมสุโขทัย ราวบันไดทำเป็นบันไดนาค ๗ เศียร

(ที่มา:
http://www.prm.chula.ac.th/image/pic_cen67_02.jpg)

ภาพที่ ๔ หอประชุมโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย หลังคาซ้อนชั้นประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันแกะสลักเป็นรูปวชิราวุธเหนือชั้นหลังคาลาดและคอสอง หน้ามุขทำประตูหลักเป็นซุ้มยอดแหลมเหนือวงโค้ง ๒ วงรองรับหลังคาลาด ข้างบนเป็นแผงคล้ายคอสองยืดสูงไม่มีชั้นหลังคา แต่ทำเป็นลักษณะคล้ายป้อมประกอบด้วยเสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์ ภายในตบแต่งเลียนแบบอาคารเครื่องไม้ในศิลปกรรมไทยประเพณี มีชั้นลอยรับด้วยเสาและคันทวย มีแผงซุ้มกั้นส่วนประกอบพิธีกรรม
(ที่มา:
http://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/vc_annal67.htm)


ส่วนในด้านจิตรกรรม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จิตรกร เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตกร) ประยุกต์ใช้เทคนิคการวาดภาพแบบตะวันตกเพื่อเล่าเรื่องตามแบบจิตรกรรมไทยประเพณีในพุทธศาสนสถาน ในพระบรมมหาราชวัง และในพระราชวังต่างๆ อาทิ ภาพจิตรกรรมพระอุโบสถวัดราชาธิวาสวิหาร ภาพเทพชุมนุมในพระวิหารหลวง วัดพระปฐมเจดีย์ ภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภาพเทพชุมนุมในห้องพระเจ้า พระที่นั่งพิมานปฐม พระราชวังสนามจันทร์


ภาพที่ ๕ ห้องพระเจ้าภายในพระที่นั่งพิมานปฐม พระราชวังสนามจันทร์ พระยาอนุศาสน์จิตรกรเขียนภาพเทพชุมนุม
(ที่มา:
https://sites.google.com/site/sanamchandrapalace55/phrathinang-phiman-pthm)

สำหรับด้านวรรณกรรมและศิลปการละครซึ่งเป็นพระปรีชาสามารถที่โดดเด่นยิ่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ไม่เป็นการเกินจริงเลยที่จะกล่าวยกย่องพระเกียรติคุณว่าทรง “รู้จัก” และ “รักษา” ขนบวรรณคดีไทยเป็นอย่างดี ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง “สำนวนนิราศ” ที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ใน ลิลิตพายัพ ว่าทรง “เล่นคำ” ทั้งคำเสียงคล้ายและคำพ้องเสียงระหว่างชื่อสถานที่กับคำที่สื่ออารมณ์ความรู้สึกตามอย่างนิราศโบราณ กล่าวคือ ชื่อ อำเภอตรอน กับคำว่า ตัดรอน และ ทอน ชื่อ ตำบลท่าญวน กับคำว่า (ยั่ว) ยวน

					ลุตรอนนอนหม่นไหม้		อนิจจา
				ถนัดดั่งตัดรอนมา			จากห้อง
				ทอนกายแต่เสน่หา			คงผูก ชิดแม่
				มัจจุเท่านั้นน้อง			ตัดได้ขาดจริงฯ
					ท่าญวนยวนยั่วเย้า		เยือนยล
				เร้าเร่งรุดรุมรน			ราคร้อน
				จำใจจำจากจน			ใจเจ็บ
				คลาดขนิษฐ์คิดขึ้งข้อน 		คับแค้นคะนึงครวญฯ

นอกจากนี้ในด้านการละคร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชนิพนธ์บทโขนละครแบบไทยได้ดีไม่แพ้บทละครรูปแบบตะวันตก ไม่ว่าจะด้วยเนื้อหาหรือสำนวนโวหาร ดังจะขอยกตัวอย่าง ขนบวรรณคดี ที่ปรากฏในบทละครรำเรื่อง พระเกียรติรถ ซึ่งอาจไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก ทว่าเคยจัดแสดงจริงในงานสมโภชพระบรมมหาราชวังที่สวนศิวาลัย เมื่อวันที่ ๗ และวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๐ มีเรื่องย่อว่า

พระเกียรติราชพระบิดาของพระเกียรติรถเสด็จตามกวางทองไปจนถึงที่อยู่ของภีมาสูร พระองค์ทรงสัญญากับภีมาสูรว่าจะทรงยกสิ่งแรกที่มีผู้ถวายให้หลังกลับถึงกรุงเกียรติวดีแก่ภีมาสูร ปรากฏว่าเมื่อกลับไปถึงพระมเหสีกลับนำพระเกียรติรถเมื่อแรกประสูติมาถวายให้ทอดพระเนตร พระเกียรติราชเสด็จออกไปหาภีมาสูร ภีมาสูรจึงผ่อนผันให้รออีก ๒๐ ปี จึงค่อยนำโอรสมาให้ เมื่อครบกำหนดพระเกียรติรถก็เสด็จไปหาภีมาสูร ภีมาสูรแต่งตั้งให้พระเกียรติรถเป็นอุปราชเมืองบาดาล พระเกียรติรถเกิดรักใคร่กับนางสุวรรณเกศาก็พากันหนีไปถึงอาศรมพระภรัชวาทมุนี ภีมาสูรเกรงไม้เท้าพรหมทัณฑ์ของพระมุนีจึงต้องยอมให้พระเกียรติรถวิวาห์กับนางสุวรรณเกศา

บทละครรำเรื่องพระเกียรติรถนอกจากจะมีโครงสร้างของเรื่องตามขนบนิทานจักรๆ วงศ์ๆ ของไทย กล่าวคือ พระเอกมักลักลอบรักกับธิดายักษ์จึงพากันหนี แล้ว ยังมีเนื้อความตามขนบวรรณคดีโบราณ ดังนี้

			บทครวญ
					ออกพ้นนิเวศน์วังสถาน	พระกุมารจึ่งทอดฤทัยถอน
				ดูปราสาทสูงล้ำในอัมพร		ทินกรจับแสงสุพรรณพราย
				พิศดูช่อฟ้าบราลี			ยิ่งทวีอาลัยใจหาย
				เคยอยู่เย็นเป็นสุขสนุกกาย		แสนเสียดายเคหาสน์ต้องคลาดคลา
				แสนสงสารปิตุรงค์ทรงยศ		จะกำสรดรำพึงคนึงหา
				โอ้แสนสงสารพระมารดา		จะครวญถึงลูกยาไม่วายครวญ
				เปนกรรมจำไปไกลพระบาท		ตัดอาลัยไคลคลาดต้องกำสรวญ
				ยิ่งเดินทางเร่งไปใจรัญจวน		พลางครวญพลางทรงโศกาลัย
			บทสระสรงทรงเครื่อง
					ถึงเข้าที่สรงสถานสำราญกาย	ขัดฉวีพรรณรายผุดผ่อง
				ทรงสุคนธ์ปนกลิ่นผกากรอง		ผัดพักตร์อล่องฉ่องดั่งจันทรา
				สอดทรงสนับเพลาเพราเพริศ		ภูษาสีประเสริฐเลฃา
				ฉลององค์เอี่ยมโอ่โศภา		ผ้าทิพพันรัดถนัดดี
				ทรงสังวาลเพ็ชรรัตน์จำรัสดวง		ตาบทิพทับทรวงสลับศรี
				ทองกรมรกฎเขียวขจี			ธำมรงค์มณีทับทิมพราย
				ทรงประคำสำคัญของอาจารย์		พระมงกุฎสุรกานต์เฉิดฉาย
				กรกุมศรสิทธิ์ฤทธิ์ขจาย		เยื้องกรายมาขึ้นรถทรง
			บทชมราชรถ
					งามพระเกียรติรถยศยง	งามดังขุนหงส์
				สง่าสุวรรณพรรณราย
					งามราชรถเลิศเฉิดฉาย	กนกครอบลาย
				ลงยาราชาวดีศรี
					งามราชธวัชตวัดวี		พื้นแดงแสงสี
				สลับกับลายเงินทอง
					งามพลนิกายก่ายกอง 	ธงทิวปลิวฟ่อง
				เขียวเหลืองระยับสลับแดง
					งามสรรพาวุธรุทแรง		แดดวับจับแสง
				ศัสตราประหนึ่งแววมณี
					งามศุภฤกษ์ยามดี		ให้ยกโยธี
				คลาจากนครบาดาล
			บทเกี้ยวพาราสี
					ยอดมิ่ง			เพราะพี่รักเจ้าจริงจึ่งหาญกล้า
				ครั้นว่าพี่จะรอฃอบิดา			ก็หน่วงหนักชักช้าไม่ทันใจ
				มิใช่พี่ลามลวนชวนให้ชั่ว		ให้ตัวน้องหมองมัวก็หาไม่
				ขอแต่เพียงน้องตอบให้ชอบใจ		ว่าน้องไซร้รักชอบตอบพี่ชาย
				ถึงจะรอต่อไปไม่ขัดข้อง		ถ้าแน่ใจได้น้องสมมุ่งหมาย
				ขอแต่เจ้าสุวรรณพรรณราย		ตอบพี่ชายคำเดียวให้ชื่นใจ

ยิ่งไปกว่านั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงใช้ขนบการพากย์และการเจรจาอย่างโขนในบทละครรำเรื่องพระเกียรติรถ ทรงกำหนดเพลง เช่น เพลงโอ้โลม เพลงปี่แก้วน้อย เพลงแขกไทร ที่จะต้องบรรเลงในแต่ละตอน ทั้งยังทรงใช้สำนวนอย่างบทโขนละครโบราณ คือ สำนวน (ผู้) รุ่งฟ้า และสำนวน ยอดมิ่ง

สำนวนบทละครรำเรื่องพระเกียรติรถบทโขนละครโบราณ
(ผู้) รุ่งฟ้าเมื่อนั้น ฝ่ายพระเกียรติรถผู้รุ่งฟ้า๑) เมื่อนั้น พระสังข์ศิลป์ชัยผู้รุ่งฟ้า
(บทละครนอกเรื่องพิกุลทอง)

๒) เมื่อนั้น พระจอมภพกุเรปันรุ่งฟ้า
(บทละครรำเรื่องอิเหนา)

๓) เมื่อนั้น พระอุณรุทรุ่งฟ้านราสรรค์
(บทละครรำเรื่องอุณรุท)

ยอดมิ่งยอดมิ่ง เพราะพี่รักเจ้าจริงจึ่งหาญกล้ายอดเอยยอดมิ่ง เป็นความในใจจริงทุกสิ่งสรรพ์
(บทละครเรื่องรามเกียรติ์)
ตารางที่ ๒ เปรียบเทียบสำนวนพระราชนิพนธ์ในบทละครร้องเรื่องพระเกียรติรถกับบทโขนละครโบราณ

อนึ่ง พระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติอันสำคัญยิ่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ การโปรดเกล้าฯ สถาปนาหน่วยงานและสถาบันการศึกษาทางด้านศิลปะขึ้นในสยามประเทศ ได้แก่ ทรงสถาปนากรมมหรสพขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ เพื่อกำกับดูแลการมหรสพทั้งปวง และโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการกรมมหรสพสังกัดกองเสือป่ากองพิเศษ เรียกว่า “ทหารกระบี่” ต่อมาได้ทรงยกขึ้นเป็น โรงเรียนพรานหลวง สำหรับฝึกหัดศิลปินด้านนาฎศิลป์ คีตศิลป์ และสังคัตศิลป์ ส่วนกรมมหรสพนั้นภายหลังได้ยกฐานะเป็น กรมศิลปากร อันเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติทุกแขนงมาจนปัจจุบัน นอกจากนั้นยังทรงสถาปนา โรงเรียนเพาะช่าง ด้วยพระราชประสงค์เพื่อจะทรงทำนุบำรุงการช่าง การศิลปกรรมของชาติมิให้สูญหาย

ด้วยความที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็น “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” ผู้ทรงมีความรู้กว้างขวางและลึกซึ้งทั้ง ทรงแตกฉานทั้ง “เรื่องไทย” และ “เรื่องฝรั่ง” จึงทรงสามารถดำเนินพระราโชบายที่ทันสมัย ทว่าก็คงไว้ซึ่งลักษณะอันดีงามของสังคมวัฒนธรรมไทยไว้ได้ ทรงรักษาเอกลักษณ์ทางศิลปกรรมของชาติไว้ได้อย่างดี ตลอดจนทรงวางรากฐานหน่วยงานและสถาบันการศึกษาสำหรับทะนุบำรุงและสืบสานมรดกทางศิลปวัฒนธรรมไว้แก่ประเทศ จึงสมควรแก่การยกย่องพระเกียรติคุณของพระองค์ในฐานะ พระมหากษัตริย์นักอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เป็นยิ่งนัก

บรรณานุกรม

หนังสือ
จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร (อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ
	พลตรีดัด เชะชาติ ณ เมรุหน้าพลับพลาราชอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘), ๒๕๑๘.
ธนากร เบ็ญพาด. แนวคิดการออกแบบจิตรกรรมเทพชุมนุมฝีมือพระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ในพระวิหารหลวง วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร. การค้นคว้าอิสระ
	หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๗.
บทละครนอก เรื่อง พิกุลทอง. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๕๒.
ปิ่น มาลากุล, หม่อมหลวง. งานละครของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 
	๒๕๕๒.
พุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช, พระบาทสมเด็จพระ. บทละครเรื่องอุณรุท พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและ
	ประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๕.
พุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช, พระบาทสมเด็จพระ. รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก. พระนคร : คุรุสภา, ๒๕๐๖.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. บทละครรำเรื่องพระเกียรติรถ บทละครเบิกโรงเรื่องดึกดำบรรพ์ บทเสภาเรื่องพระยาราชวังสันกับสามัคคีเสวก พระราชนิพนธ์ในพระบาท
	สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ลิลิตพายัพ. พระนคร: กรมศิลปากร, ๒๕๑๑.
ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๔๑ ประกาศ ณ วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๗. หน้า ๑๙๕-๒๑๓
วรชาติ มีชูบท. เกร็ดพงศาวดารรัชกาลที่ ๖. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์, ๒๕๕๔.
วรชาติ มีชูบท. ราชสำนักรัชกาลที่ ๖. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๖๑.
วิโชค มุกดามณี (บรรณาธิการ). ศิลปะรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑-๘. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี, ๒๕๔๑.
ศิลปากร, กรม. ๙๖ ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๕๐.
อมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช), จมื่น. ดุสิตธานีเมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ:  หอสมุดแห่งชาติ, ๒๕๑๓.
อัญชลี ภู่ผะกา. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว: วรรณคดีกับการสร้างชาติ. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร
	ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๓.

ฐานข้อมูลออนไลน์
http://www.prm.chula.ac.th/image/pic_cen67_02.jpg (เข้าถึงเมื่อ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๓)
http://sanamchanpalace.blogspot.com/2011/ (เข้าถึงเมื่อ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๓)
https://sites.google.com/site/sanamchandrapalace55/phrathinang-phiman-pthm(เข้าถึงเมื่อ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓)
http://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/vc_annal67.htm (เข้าถึงเมื่อ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓)