บทความ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะพระมหากษัตริย์ นักปกครองและทหาร

ผู้เขียน เทพ บุญตานนท์
บรรณาธิการ ชนัญญา เตชจักรเสมา

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระบรมราชชนกในพ.ศ.2453 สยามในเวลานั้นได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองและเศรษฐกิจโลก ทั้งการอพยพย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติ ระบบเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงจากยุโรปสู่อเมริกาและเอเชีย รวมไปถึงสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่ชาติมหาอำนาจทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษล้วนมีดินแดนอาณานิคมอยู่ล้อมรอบสยาม ด้วยเหตุนี้การกระทบกระทั่งกันระหว่างชาติมหาอำนาจแม้จะเกิดขึ้นในดินแดนอันห่างไกลแต่ก็จะส่งผลกระทบสู่สยามได้ตลอดเวลา ดังนั้นพระบรมราโชบายในการปกครองประเทศของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะพระมหากษัตริย์ นักปกครองและทหารจึงดำเนินไปด้วยความระแวดระวัง เพื่อไม่ให้ประเทศตกอยู่ในสภาวะอันยากลำบาก

ปัญหาสำคัญของสยามในเวลานั้นคือ การที่เศรษฐกิจของประเทศต้องพึ่งพาการขับเคลื่อนของชาวจีนโพ้นทะเลที่เป็นฟันเฟืองสำคัญ ตั้งแต่แรงงานรับจ้างรายวัน ล่ามของบริษัทต่างชาติ ไปจนถึงเจ้าสัวเจ้าของกิจการทั้งห้างร้าน จนกระทั่งเจ้ามือหวย กล่าวได้ว่าคนจีนอยู่ในทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจสยามในขณะนั้น การต่อรองและควบคุมให้คนจีนปฏิบัติตามกฎหมายไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทว่ามีคนจีนจำนวนมากที่ตัดสินใจเข้าเป็นคนในบังคับชาติตะวันตกซึ่งได้รับเอกสิทธิทางกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นศาลไทยในกรณีที่เกิดมีข้อพิพาทกับคนไทยหรือกระทำผิดกฎหมาย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะพระมหากษัตริย์ทรงจำเป็นที่จะต้องดำเนินกุศโลบายที่จะทำให้คนจีนตระหนักว่าตนมีหน้าที่เฉกช่นคนไทยที่จะต้องทำนุบำรุงบ้านเมืองและปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐบาล มิใช่เข้ามาอาศัยในแผ่นดินเพื่อหาผลประโยชน์ให้กับตนเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องทรงมีบทบาทแบบนักปกครองในอันที่จะทำให้นโยบายต่าง ๆ มีลักษณะไม่เป็นการบีบบังคับจนเกินไป

นอกจากนั้นสยามยังต้องเผชิญกับการเมืองโลกในช่วงเวลาที่มหาอำนาจยุโรปซึ่งพึ่งเริ่มต้นแสวงหาอาณานิคมอย่างเยอรมนี หรือออสเตรีย – ฮังการี ได้หันมาขยายอิทธิพลของตนในยุโรปแทนการยึดครองดินแดนในเอเชียหรือแอฟริกา ดังที่มหาอำนาจในยุคแรกได้กระทำ เนื่องจากดินแดนที่อุดมด้วยทรัพยากรและประชากรอย่างอินเดียหรืออินโดจีนต่างถูกครอบครองโดยฝรั่งเศสและอังกฤษไปแล้ว การปฏิวัติอุตสาหกรรมต้องการดินแดนที่จะเป็นทั้งแหล่งวัตถุดิบในการผลิตสินค้าและตลาดสำหรับขายสินค้าของตน เมื่อดินแดนอันห่างไกลเริ่มหมดลงเรื่อย ๆ การขยายอิทธิพลไปยังประเทศในยุโรปซึ่งได้รับการคุ้มครองจากมหาอำนาจชาติอื่น ๆ จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สถานการณ์ดังกล่าวได้นำโลกเข้าสู่มหาสงครามครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เมื่อเยอรมนีและพันธมิตรประกาศสงครามกับอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย

แม้สยามจะอยู่ห่างไกลจากสงคราม แต่ด้วยระบบโลกสมัยใหม่ที่เศรษฐกิจและการเมืองโลกได้เชื่อมประเทศต่าง ๆ เข้าด้วยกัน อีกทั้งที่ตั้งของสยามยังรายล้อมไปด้วยอาณานิคมของฝรั่งเศสและอังกฤษ ทำให้มหาสงครามในคราวนี้มิใช่เรื่องไกลตัวสำหรับชาวสยามแต่อย่างใด การดำเนินนโยบายต่างประเทศและการทหารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงจำเป็นต้องใช้ความรอบคอบ ไม่ทำให้ประเทศเพลี้ยงพล้ำหากเข้าข้างฝ่ายที่แพ้สงคราม ขณะที่การเลือกที่จะเป็นกลางก็จะทำให้สยามถูกตัดออกจากระเบียบโลกใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังสงครามเช่นกัน ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะพระมหากษัตริย์และจอมทัพทรงจำเป็นที่จะต้องนำพาสยามมิใช่เพียงให้อยู่รอดจากสงครามเท่านั้น แต่ยังต้องทรงทำให้สยามได้ประโยชน์สูงสุดจากสงครามด้วย ฉะนั้นแล้วพระบรมราโชบายของพระองค์จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่ออนาคตของสยาม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะพระมหากษัตริย์และนักปกครอง

การปฏิรูปประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้ายังคงเป็นพระบรมราโชบายหลักของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น การพัฒนาทางการด้านการศึกษาซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการปฏิรูปประเทศ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนโดยเฉพาะการสร้างรางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างมณฑลต่าง ๆ กับกรุงเทพซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะพระมหากษัตริย์และนักปกครอง พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะแก้ปัญหาเรื่องชาวจีนโพ้นทะเลในสยามที่เป็นปัญหาที่สร้างความหนักใจให้แก่รัฐบาลตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากชาวจีนจำนวนมากที่อพยพเข้ามาทำมาหากินในสยามได้กลายเป็นผู้มีอิทธิพลทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ การเคลื่อนไหวของชาวจีนเพื่อต่อต้านราชวงศ์ชิงได้ทวีความรุนแรงขึ้น และสยามได้กลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของการเคลื่อนไหวดังกล่าวโดยใช้โรงเรียนจีนบังหน้าเพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการให้กระทรวงธรรมการตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์พ.ศ.2461 ขึ้น เพื่อป้องกันการใช้โรงเรียนเป็นแหล่งเคลื่อนไหวทางการเมือง พร้อมกันนี้พระองค์ทรงพยายามปลุกจิตสำนึกของคนจีนโพ้นทะเลให้ตระหนักถึงหน้าที่ของตนที่มีต่อชาติไทยอันเป็นแผ่นดินที่คนจีนได้พึ่งพาอาศัยยามที่บ้านเกิดเมืองนอนอยู่ในภาวะแร้นแค้น

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับชาวจีน

ความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศสยามมักถูกมองว่าไม่ราบรื่น เนื่องจากพระองค์ไม่ทรงพอพระทัยที่ชาวจีนขาดความจงรักภักดีทั้งต่อตัวพระองค์เองและประเทศสยาม ดังที่มักมีการอ้างอิงพระราชวิจารณ์ของพระองค์ต่อชาวจีนในพระราชนิพนธ์พวกยิวแห่งบูรพาทิศ และ ความเป็นชาติอันแท้จริง คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าข้อสรุปถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับชาวจีนเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะพระราชนิพนธ์ทั้งสองเรื่องเกิดขึ้นจากพระราชทัศนะของพระองค์ต่อชาวจีนโดยทั่วไป ที่มักให้ความสำคัญกับประโยชน์ส่วนตนมากกว่าการสนับสนุนกิจการของราชการ อย่างไรก็ดี พระราชทัศนะดังกล่าวได้แฝงไว้ซึ่งความตระหนักว่าชาวจีนมีบทบาทสำคัญที่จะต้องช่วยทำนุบำรุงชาติบ้านเมืองที่เข้ามาพำนักอาศัย เฉกเช่นประชาชนคนอื่น ๆ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้องวิพากษ์วิจารณ์ชาวจีนเป็นเป้าหมายสำคัญเนื่องจากจำนวนประชากรชาวจีนในประเทศขณะนั้นมีถึง 9 แสนคน หรือร้อยละ 9.8 ของประชากรทั้งหมด[1] และชาวจีนยังเป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ชาวจีนจึงอยู่ในฐานะที่มีอิทธิพลและมีบทบาทต่อประเทศเป็นอย่างมาก การเคลื่อนไหวทุกอย่างของชาวจีนไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนหรือต่อต้าน ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อนโยบายของรัฐบาลในการปกครองประเทศ เช่น ครั้งที่ชาวจีนหยุดงานประท้วงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายเก็บภาษีชาวจีนเพิ่ม ทำให้ชาวจีนบางกลุ่มรณรงค์ให้มีการหยุดงานประท้วงรวมถึงปิดร้านค้าของตนในกรุงเทพเพื่อกดดันให้รัฐบาลยกเลิกการเก็บภาษีดังกล่าว นอกจากนี้สมาคมลับของชาวจีนยังได้ใช้กำลังข่มขู่ร้านค้าที่ยังคงเปิดกิจการค้าขายตามปกติอีกด้วย เมื่อรัฐบาลส่งทหารและตำรวจเข้าจับกุมแกนนำที่ก่อเหตุ เหตุการณ์จึงกลับเข้าสู่ภาวะปกติ การหยุดงานประท้วงในครั้งนี้แม้จะกินเวลาเพียง 3 วัน แต่ก็ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประชาชนในเขตกรุงเทพฯ ที่ต้องขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค[2]

ด้วยเหตุนี้การดำเนินนโยบายต่อชาวจีนจึงเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ในด้านหนึ่งรัฐบาลต้องการให้คนจีนปฏิบัติตามนโยบายของรัฐอย่างเคร่งครัด แต่ในอีกด้านหนึ่งก็จะต้องไม่กดดันชาวจีนมากจนเกินไปจนก่อให้เกิดการประท้วงหรือการอพยพย้ายถิ่นไปสู่ดินแดนอื่น ความสำเร็จในการโน้มน้าวให้ชาวจีนหันมาสนับสนุนพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวย่อมเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง

พระบรมราโชบายต่อชาวจีนโพ้นทะเล

พระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมุ่งไปที่การแก้ปัญหาอิทธิพลของชาวจีนโพ้นทะเลทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมของสยาม รวมทั้งปัญหาที่ชาวจีนโดยเฉพาะในเขตรอบนอกกรุงเทพฯ กลายมาเป็นผู้มีอิทธิพลจากการเป็นเจ้าหนี้ของชาวนาไทยจำนวนมากซึ่งต้องกู้หนี้ยืมสินจากชาวจีน ชาวไทยเหล่านี้ดูจะเกรงกลัวคำสั่งของเจ้าหนี้ชาวจีนมากกว่าคำสั่งของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหรือกฎหมายไทย เพราะเกรงว่าหากไม่เชื่อฟังเจ้าหนี้ เมื่อต้องการกู้ยืมเงินในครั้งต่อไปก็จะถูกปฏิเสธ นอกจากนี้ชาวจีนที่ทำธุรกิจการค้าก็ตระหนักดีว่าพวกเขาสามารถติดสินบนข้าราชการชาวไทยเพื่อให้สนับสนุนธุรกิจขอตน เช่น การว่าจ้างชาวจีนทำงานต่าง ๆ ของรัฐบาลที่จะใช้นักโทษทำ[3]

การเข้ามาของช่างฝีมือชาวจีนเป็นจำนวนมากซึ่งมีค่าจ้างถูกกว่าช่างฝีมือไทยยังทำให้ศิลปะจีนแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในหมู่ชนชั้นนำชาวสยามและคหบดีชาวจีน จนทำให้ช่างศิลปะไทยลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว ประกอบกับทรงมีพระราชทัศนคติส่วนพระองค์ว่าสถาปัตยกรรมและศิลปะแบบจีนในวัดและวังสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น “เป็นเครื่องรำคาญตา” สำหรับพระองค์เป็นอย่างยิ่ง[4] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนให้ก่อตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกหัดช่างฝีมือไทยขึ้นเพื่ออนุรักษ์และสืบทอดงานศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยให้ดำรงอยู่ต่อไป โรงเรียนเพาะช่างจึงถือกำเนิดขึ้นในพ.ศ.2456[5]

แต่ในอีกด้านหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ก็ทรงตระหนักดีว่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากคนไทยเอง ทั้งเจ้าหน้าที่ไทยที่ยินดีรับผลประโยชน์จากชาวจีน และคนไทยเองที่ไม่นิยมทำการค้าหรืองานช่างฝีมือ ทำให้คนจีนเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจ ในขณะที่เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องพึ่งพาการลงทุนและการดำเนินธุรกิจของชาวต่างชาติ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงเลือกสนับสนุนให้คนจีนทำกิจการการค้ามากกว่าคนชาติอื่น ๆ และไม่ได้มองว่าการเข้ามาของชาวจีนจะส่งผลเสียต่อประเทศมากนัก เพราะรายได้จำนวนมากของรัฐก็มาจากคนจีน เช่น เงินค่าเช่าที่ในตลาดจังหวัดนครปฐมของพระคลังข้างที่ซึ่งเก็บได้ถึงเดือนละ 4,000 บาทนั้น เงินจำนวนมากเก็บได้จากพ่อค้าผักชาวจีนที่มาเช่าที่ขายของ นอกจากนั้น เงินค่าเช่าตึกในกรุงเทพฯ และเงินภาษีอากรที่รัฐบาลเก็บได้ในแต่ละปี ส่วนหนึ่งก็เป็นเงินที่เก็บจากพ่อค้าชาวจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในสยาม[6] นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลเองก็สนับสนุนให้ชาวจีนเป็นเจ้าของกิจการอย่างเช่นโรงสีข้าวมากกว่าจะสนับสนุนชาวคนญี่ปุ่นหรืออินเดีย[7] เพราะสามารถใช้กฎหมายไทยในการควบคุมดูแลชาวจีนเหล่านี้ได้ ต่างจากชาวต่างชาติอื่น ๆ ที่ได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ทำให้เมื่อกระทำผิด คนเหล่านี้จะอยู่นอกเหนือกฎหมายไทย

ปัญหาที่สำคัญอีกประการคือการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลเพื่อต่อต้านราชวงศ์ชิงในสยาม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกังวลว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวจะลุกลามมาเป็นการต่อต้านพระองค์ จึงทรงพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการให้ผู้นำชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศซึ่งเป็นที่เคารพและเชื่อถือเป็นกระบอกเสียงแทนพระองค์และรัฐบาล และทำหน้าที่สืบข่าวเหตุการณ์ปฏิวัติในประเทศจีนและการเคลื่อนไหวของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศ[8]

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยใช้เซียวฮุดเสง ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีบทบาทสำคัญในฐานะกระบอกเสียงของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศ แลกเปลี่ยนกับการที่รัฐบาลจะสนับสนุนเงินให้แก่หนังสือพิมพ์ จีนโนสยามวราศัพท์ ของเขา[9] เซียวฮุดเสงได้ทำหน้าที่รายงานการเคลื่อนไหวของคนจีนโพ้นทะเลในสยามและสถานการณ์การเมืองจีนให้แก่รัฐบาล เช่น กรณีที่ยี่กอฮงร้องขอให้รัฐบาลจีนส่งเรือรบเข้ามาข่มขู่รัฐบาลไทย[10] หรือเมื่อครั้งที่ยี่กอฮงยกแชร์ของบริษัทเรือเมล์ที่ถือหุ้นอยู่ให้กับรัฐบาลที่กวางตุ้ง เซียวฮุดเสงได้ให้ข้อสังเกตมายังเจ้าพระยายมราชว่า ยี่กอฮงยกหุ้นของบริษัทที่เป็นหนี้ให้รัฐบาลจีนเพื่อให้รัฐบาลต้องมาจัดการแก้ไขปัญหาและทำให้เกิดความบาดหมางระหว่างรัฐบาลสยามกับจีน เพราะรัฐบาลจีนจะคิดว่าถูกกลั่นแกล้ง โดยรัฐบาลไทยมีส่วนรู้เห็นกับยี่กอฮง[11]

นอกจากนี้เซียวฮุดเสงได้เขียนบทความหลายเรื่องที่เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวจีนโพ้นทะเลกับรัฐบาลและแก้ความเข้าใจผิดของชาวจีนโพ้นทะเลต่อราชสำนักสยาม[12] ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชื่นชมงานเขียนของหลายเรื่องของเซียวฮุดเสง เช่นเมื่อคราวที่เซียวฮุดเสงเขียนบทความอธิบายสาเหตุของการก่อกบฏในร.ศ.130 ว่าเหตุการณ์กบฏที่เกิดขึ้นที่สยามนั้นแตกต่างกับการปฏิวัติที่เกิดขึ้นที่ประเทศจีนเป็นอย่างมาก เพราะการปฏิวัติที่ประเทศจีน เกิดจากการที่ประชาชนถูกกดขี่จึงลุกขึ้นมาต่อต้านราชวงศ์ชิงซึ่งเป็นชาวต่างชาติ[13] ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชื่นชมบทความของเซียวฮุดเสงชิ้นนี้ว่าเขียนอย่างตรงไปตรงมาไม่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใด ทำให้ผู้อื่นทราบข้อเท็จจริง ซึ่งพระองค์ทรงหวังว่าเซียวฮุดเสงจะเขียนบทความลักษณะนี้ออกมาอยู่เรื่อย ๆ เพื่อแก้ความเข้าใจผิดของคนไทยต่อการปฏิวัติที่ประเทศจีน[14]

คนจีนกับการสนับสนุนกิจกรรมของรัฐบาลสยาม

ในพระราชนิพนธ์เรื่อง พวกยิวแห่งบูรพาทิศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวถึงการที่ชาวจีนมุ่งแต่จะหารายได้และตักตวงผลประโยชน์ที่ได้รับจากรัฐบาล โดยไม่ยอมเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ[15] นอกจากนี้งานพระราชนิพนธ์หลายเรื่องที่มีเนื้อหาปลุกสำนึกแห่งความรักชาติ ก็ทรงใช้คนจีนเป็นตัวแทนของบุคคลซึ่งไม่รักชาติ เช่น ในเรื่อง หัวใจนักรบ ซึ่งมุ่งแสดงให้เห็นความสำคัญของเสือป่านั้น ตัวละคร “ซุ่นเบ๋ง” เป็นภาพแทนของชาวจีนที่ทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อผลประโยชน์ของตนเองโดยไม่ได้มีความหวังดีต่อประเทศชาติแต่อย่างใด และเมื่อถึงคราวที่เกิดสงคราม ชาวจีนเหล่านี้ก็พร้อมที่จะแปรพักตร์ไปเข้ากับศัตรูเพื่อเอาตัวรอด[16] อย่างไรก็ตาม แม้ พวกยิวแห่งบูรพาทิศ และ หัวใจนักรบ จะวิพากษ์วิจารณ์ชาวจีนอย่างรุนแรงในเรื่องความรักชาติและความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ แต่ก็มิได้เหมารวมชาวจีนทุกคน แต่มุ่งเป้าหมายไปที่ชาวจีนที่มุ่งหวังเพียงผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น

พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่วิพากษ์วิจารณ์คนจีนนั้น เกิดขึ้นในช่วงที่มีการนำพระบรมราโชบายเรื่องชาตินิยมมาใช้ขับเคลื่อนประเทศอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการถือกำเนิดของเสือป่า ที่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะใช้ในการอบรมความรู้ทางทหารให้แก่ประชาชนเพื่อช่วยทหารป้องกันประเทศชาติและใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการปลูกฝังความรักชาติให้แก่ประชาชน

ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับกิจกรรมเสือป่าเป็นอย่างยิ่ง ข้าราชการและประชาชนจำนวนมากจึงสมัครเข้าเป็นสมาชิกเสือป่าเพื่อแสดงการสนับสนุนพระบรมราโชบายเรื่องชาตินิยมของพระองค์ การเป็นเสือป่าจำเป็นต้องเข้ารับการฝึกฝนวิชาทหารและเข้ารับการอบรมปลูกฝังสำนึกแห่งความรักชาติหลังเลิกงาน นอกจากนี้ สมาชิกเสือป่าทุกคนต้องเข้าร่วมการซ้อมรบที่จังหวัดราชบุรีเป็นประจำทุกปี การซ้อมรบแต่ละครั้งกินเวลาตั้งแต่หนึ่งสัปดาห์ถึงหนึ่งเดือน สำหรับข้าราชการ การขอลาราชการไปซ้อมรบเสือป่าได้รับการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในกระทรวงที่เสนาบดีมีความใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นกระทรวงนครบาลที่มีเจ้าพระยายมราชเป็นเสนาบดีเป็นกระทรวงที่มีข้าราชการเข้าร่วมเป็นสมาชิกเสือป่าจำนวนมาก

ในสังคมขณะนั้น มีกลุ่มคนเพียงสองกลุ่มที่มิได้เข้าร่วมการฝึกเสือป่า กลุ่มแรกคือทหาร ซึ่งในช่วงแรกนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงอนุญาตให้ทหารเข้าร่วมเป็นเสือป่า เพราะเสือป่ารับแต่ข้าราชการพลเรือนและประชาชนเป็นสมาชิก แต่ในเวลาต่อมาทหารจำนวนมากได้เรียกร้องให้เปิดรับทหารเข้าเป็นเสือป่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อนุญาตให้ทหารเข้าเป็นสมาชิกเสือป่าได้ แต่ไม่ต้องเข้ารับการฝึกเพราะมีความรู้ทางการทหารดีอยู่แล้ว[17] คนกลุ่มที่สองที่ไม่ได้เข้าร่วมการฝึกเสือป่าคือ ชาวจีนที่ประกอบกิจการค้าหรือรับจ้างเป็นส่วนใหญ่ คนจีนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าร่วมเป็นเสือป่าได้เพราะจำเป็นต้องประกอบอาชีพของตนเอง ไม่สามารถปิดกิจการในตอนเย็นเพื่อไปฝึกเสือป่าหรือหยุดเป็นเวลานาน ๆ เพื่อเข้าร่วมซ้อมรบ จึงเป็นเหตุให้ชาวจีนโพ้นทะเลกลายเป็นคนกลุ่มเดียวในเวลานั้นที่ไม่มีส่วนร่วมหรือสนับสนุนพระบรมราโชบายเรื่องชาตินิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ชาวจีนโพ้นทะเลโดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลาง พ่อค้าคหบดีซึ่งไม่สามารถละทิ้งธุรกิจเพื่อไปเป็นสมาชิกเสือป่า ได้พยายามหาหนทางที่จะแสดงออกอย่างชัดเจนให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักว่าพวกตนก็มีความรักชาติและจงรักภักดีไม่ได้น้อยกว่าชาวไทยคนอื่น ๆ โดยได้สนับสนุนเงินทองเพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะกิจกรรมที่เป็นพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวจีนจำนวนมากได้บริจาคเงินให้แก่กองเสือป่าเพื่อนำไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะชาวจีนที่ถูกมองว่ามีปัญหากับรัฐบาลสยามอย่างชาวจีนในภูเก็ต เช่น ในพ.ศ.2461 ข้าราชการและพ่อค้านายเหมืองในจังหวัดภูเก็ตร่วมกันบริจาคเงินให้แก่กองเสือป่าเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือนายลิ่มเซ่งติ๋ว บุญห่อ นายเหมืองจังหวัดภูเก็ตได้บริจาคเงินจำนวน 2,000 บาท เพื่อบำรุงกองเสือป่าเสนารักษาดินแดนในพ.ศ.2462[18]

นอกจากบริจาคเงินสนับสนุนกิจการเสือป่าแล้ว คนจีนยังร่วมกันบริจาคเงินซื้อเครื่องบินให้แก่กองบินทหารบก ในขณะนั้น สยามได้เริ่มก่อตั้งกองบินขึ้น แต่การหาเครื่องบินเข้าประจำการยังเป็นไปอย่างล่าช้าเพราะมีงบประมาณจำกัด ด้วยเหตุนี้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงริเริ่มซื้อเครื่องบินมอบให้กองทัพบก เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อชาติและองค์พระมหากษัตริย์ เช่น เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ อดีตผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองได้ซื้อเครื่องบินแบบเบร์เกต์ (Breguet) มอบให้กองทัพบก กองทัพจึงตั้งชื่อเครื่องบินลำนี้ว่า “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ที่ 1”[19] ขณะที่ชาวจีนที่ต้องการแสดงออกถึงความรักชาติก็ได้รวบรวมเงินกันซื้อเครื่องบินมอบให้กองทัพในพ.ศ.2465 โดยพ่อค้าชาวจีนนำโดยนายตันเล่งซื้อ นายหน้าของธนาคารสยามกัมมาจล ขุนพรหมประชาชิต (กิมใช้ ตัณสกุล) และนายศิลป์ เทศะแพทย์ ได้เป็นแกนนำชักชวนพ่อค้าชาวจีนในกรุงเทพจำนวน 163 ราย บริจาคเงินจำนวน 10,675 บาท เพื่อซื้อเครื่องบินให้แก่กองทัพบก ซึ่งกระทรวงกลาโหมตั้งชื่อเครื่องบินลำนี้ว่า “พ่อค้าจีนในพระนคร 1”[20]

ในเวลาอันรวดเร็ว เงินบริจาคจำนวนมหาศาลของชาวจีนได้นำมาใช้เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ แน่นอนว่าชาวจีนในสยามซึ่งลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงย่อมไม่อยากอพยพย้ายถิ่นไปอยู่ในดินแดนอื่นที่ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร ที่สยาม ชาวจีนยังคงใช้ภาษาจีนเพื่อสนทนาในชีวิตประจำวัน มีหนังสือพิมพ์จีนเป็นสื่อกลางบอกความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ทั้งในสยามและที่ประเทศจีน และมีเสรีภาพทางวัฒนธรรมและความเชื่ออย่างอิสระ ดังนั้นชาวจีนโพ้นทะเลจึงเลือกที่จะแสดงออกให้เห็นถึงความรักชาติ และความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อแสดงว่าพวกตนไม่ได้ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ปกครอง ในทางตรงกันข้าม ชาวจีนเหล่านี้ล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่ให้พวกเขามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยเองก็ไม่ได้เรียกร้องอะไรมากไปกว่าการที่ชาวจีนจะเชื่อฟังและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล

ดูเหมือนว่าพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อชาวจีนจะประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีเมื่อคนจีนได้ผันตัวเองมาเป็นผู้สนับสนุนกิจการของรัฐบาล โดยเฉพาะกิจการที่มาจากพระราชดำริหรือพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าอยู่หัวที่เกี่ยวข้องกับความรักชาติ ซึ่งคนจีนต่างพร้อมใจกันบริจาคเงินให้แก่รัฐบาลเป็นจำนวนมาก และเมื่อสยามต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ทางการเมืองโลกที่แปรผัน จนทำให้รัฐบาลต้องเสริมกำลังทหารเพื่อเตรียมเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านี้ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการเข้าร่วมสงครามของรัฐบาลสยาม ทั้งการสมัครเป็นทหารอาสาและการร่วมกันบริจาคเงินเพื่อซื้อเรือรบถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะทหาร

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กิจการทหารของไทยได้พัฒนาต่อเนื่องจากรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กองทัพได้นำยุทโธปกรณ์ชนิดใหม่เข้าประจำการอย่างต่อเนื่อง พร้อม ๆ กับจำนวนนายทหารที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทั้งในประเทศและต่างประเทศก็เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นอันมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับมหาอำนาจตะวันตกแล้ว การทหารของไทยยังคงล้าหลังอยู่มากทั้งด้านองค์ความรู้ทางการทหารและยุทโธปกรณ์ที่มีจำนวนจำกัด ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยายามพัฒนากองทัพสยามให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะด้านองค์ความรู้ทางทหารที่พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์งานเขียนที่เกี่ยวข้องกับทหารเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังทรงมีพระบรมราชโองการให้ปรับปรุงโครงสร้างกองทัพเสียใหม่เพื่อให้การบริหารกองทัพเป็นระบบยิ่งขึ้น

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น ซึ่งพระบรมราโชบายของพระองค์ที่เกี่ยวข้องกับสงครามครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศ เพราะหากทรงตัดสินพระทัยผิดพลาดเพียงเล็กน้อยก็อาจจะส่งผลกระทบต่ออธิปไตยของชาติ ด้วยเหตุนี้พระบรมราโชบายทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสงครามในครั้งนี้จึงถูกดำเนินไปอย่างระแวดระวัง เพื่อไม่ให้ทรงตัดสินพระทัยผิดพลาด

การปรับโครงสร้างกองทัพในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ ก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายในกระทรวงกลาโหม โดยในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บังคับบัญชาและสายงานบังคับบัญชาภายในกระทรวงกลาโหมเสียใหม่ พระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการขึ้นเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม แทนสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระภาณุพันธ์วงษ์วรเดชที่ทรงย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งจเรทหารบก อันเป็นตำแหน่งเดิมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร[21]

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระบรมราโชบายเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกองทัพ จากเดิมนั้นระบบการบริหารราชการกองทัพในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รวมกรมทหารเรือและกรมยุทธนาธิการเข้าไว้ด้วยกันภายใต้กระทรวงกลาโหมตามพระบรมราชโองการในประกาศแต่งตั้งเสนาบดีเกี่ยวแก่การปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ลงวันที่ 1 เมษายน ร.ศ.111 (พ.ศ.2425)[22] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารราชการกองทัพเสียใหม่ในพ.ศ.2453 โดยแยกหน้าที่ระหว่างกรมทหารเรือ และกรมยุทธนาธิการออกจากกัน เพื่อให้การบริหารปกครองกองทัพเป็นระบบมากยิ่งขึ้นโดยทรงมีพระบรมราชโองการยกสถานะกรมทหารเรือขึ้นเป็นกระทรวงทหารเรือ ทำหน้าที่ดูแลกิจการด้านการทหารเรือโดยมีส่วนบังคับบัญชาแยกออกจากกระทรวงกลาโหม โดยให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือแทน ส่วนกรมยุทธนาธิการได้ถูกยุบไป โดยให้กระทรวงกลาโหมดูแลกิจการด้านทหารบกแทน[23]

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระบรมราชโองการให้จัดตั้งสภาเกี่ยวกับการป้องกันพระราชอาณาจักร อันเป็นแนวคิดของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดชที่ทูลเกล้าฯ ถวาย[24] โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายถึงสาเหตุในการสถาปนาสภาเกี่ยวกับการป้องกันพระราชอาณาจักรว่า “เนื่องจากเรื่องการป้องกันประเทศเป็นเรื่องสำคัญจึงจำเป็นที่จะต้องมีความสอดคล้องประสานกัน”[25] โดยคณะกรรมการสภาป้องกันพระราชอาณาจักรประกอบด้วย เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ จอมพลทหารบก จอมพลทหารเรือ เสนาธิการทหาร โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธาน และมีเสนาธิการทหารเป็นเลขานุการประจำสภา[26]

การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการให้จัดตั้งสภาเกี่ยวกับการป้องกันพระราชอาณาจักรขึ้นก็เพื่อเป็นการเสริมบทบาททางการทหารให้แก่พระองค์ เพราะแต่เดิมเสนาบดีประจำกระทรวง และเสนาธิการทหารเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารราชการภายในกองทัพ แต่สภาเกี่ยวกับการป้องกันพระราชอาณาจักรที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งขึ้นจะเป็นการเพิ่มบทบาททางการทหารให้แก่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยข้อกำหนดของสภาเกี่ยวกับการป้องกันพระราชอาณาจักรที่ให้ข้อราชการของกระทรวงกลาโหม และกระทรวงทหารเรือต้องผ่านที่ประชุมสภากองทัพเสียก่อน โดยมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นองค์ประธานของสภาแห่งนี้

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสงครามโลกครั้งที่ 1

เกือบจะในทันทีที่ฝรั่งเศสและอังกฤษตัดสินใจประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย – ฮังการี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศให้สยามเป็นกลางในสงครามครั้งนี้ เนื่องจากในขณะนั้น สยามมีความสัมพันธ์อันดีและได้ผลกำไรมหาศาลจากการค้ากับคู่สงครามทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้สยามยังตั้งอยู่ห่างไกลจากสมรภูมิเป็นอย่างมากและไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามในครั้งนี้ การประกาศให้สยามเป็นกลางจึงน่าจะเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดสำหรับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในเวลานั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสยามจะประกาศตัวเป็นกลางในสงคราม แต่ชาวไทยจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มเจ้านายและชนชั้นนำที่ไปศึกษาเล่าเรียนยังต่างประเทศตั้งแต่เด็กต่างมีใจเอนเอียงสนับสนุนคู่สงครามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เช่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนสุโขทัยธรรมราชาทรงเอนเอียงไปทางฝ่ายสัมพันธมิตร เนื่องจากทั้งสองพระองค์ทรงใช้ชีวิตที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลาเกือบสิบปี และสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงสนับสนุนรัสเซียซึ่งอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรเนื่องจากทรงสำเร็จวิชาการทหารจากรัสเซีย ในขณะที่เจ้านายและชนชั้นสูงอีกส่วนหนึ่งที่ทรงได้รับการศึกษาจากประเทศเยอรมนี โดยเฉพาะทหารในกองทัพก็มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนเยอรมนีที่อยู่ฝ่ายมหาอำนาจกลาง เช่น สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต สมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนชัยนาทนเรนทร และสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงสงขลานครินทร์ นอกจากชนชั้นนำแล้ว สามัญชนโดยเฉพาะนักหนังสือพิมพ์ชาวจีนโพ้นทะเลในสยามต่างก็แสดงออกอย่างชัดเจนในการสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสงครามครั้งนี้

ในระหว่างผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่าย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศกลับทรงยึดหลักการของความเป็นกลางอย่างชัดเจน โดยในระหว่างที่สงครามกำลังปะทุขึ้น ฝ่ายมหาอำนาจกลางและฝ่ายสัมพันธมิตรต่างพยายามชักจูงให้รัฐบาลสยามหันมาสนับสนุนฝ่ายตนโดยการกล่าวหาอีกฝ่ายว่าละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นต้นเหตุของสงคราม แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงมีความเป็นกลางและรับฟังความพยายามของทั้งสองฝ่ายที่จะโน้มน้าวให้สยามเข้าร่วมสงครามอย่างทรงเข้าใจสถานการณ์ของสงคราม โดยไม่ทรงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง[27] อย่างไรก็ตามเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงทราบพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าทรงสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตร แม้ว่าสยามจะยังไม่ประกาศสงครามก็ตาม องค์เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศก็หันมาสนับสนุนพระบรมราโชบายดังกล่าวเช่นกัน[28]

ก่อนสยามจะเข้าสงคราม

ตั้งแต่สงครามโลกได้ปะทุขึ้นในยุโรป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงติดต่อโดยตรงกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส และหม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ เทวกุล เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลินอยู่เสมอ เพื่อทรงซักถามถึงสถานการณ์สงครามในขณะนั้น พระราชหัตถเลขาระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากรนี้เองที่ทำให้ทราบถึงพระราชดำริในพระองค์อย่างชัดเจนว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่เพียงสนับสนุนอังกฤษ แต่ทรงไม่นิยมเยอรมนีเป็นอย่างมาก[29] และในอีกด้านหนึ่ง จดหมายของพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากรที่ทรงเน้นย้ำถึงความได้เปรียบของฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่เสมอได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ข้างฝ่ายสัมพันธมิตร เพราะทรงเชื่อมั่นว่าฝ่ายอังกฤษและพันธมิตรจะได้รับชัยชนะในไม่ช้า[30]

นอกจากนี้ สนธิสัญญาเบาว์ริงที่สยามทำกับอังกฤษและชาติมหาอำนาจอื่น ๆ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระราชหฤทัยนำสยามเข้าร่วมสงคราม ในด้านหนึ่งสนธิสัญญาเบาว์ริงเป็นการนำสยามสู่โลกทุนนิยม แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้สยามสูญเสียอำนาจอธิปไตยทางการศาล เนื่องจากพลเมืองของชาติคู่สัญญาไม่จำเป็นต้องขึ้นศาลไทยหากตกเป็นจำเลยในคดีที่เกี่ยวข้องกับคนไทย นอกจากนี้สนธิสัญญายังกำหนดอัตราภาษีขาเข้าที่สยามจะเรียกเก็บจากชาติคู่สัญญาอย่างชัดเจน ทำให้ชาติมหาอำนาจใช้ประโยชน์ของสัญญานี้เข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากสยาม ซึ่งรัฐบาลสยามพยายามที่จะแก้ไขสนธิสัญญาฉบับนี้มาโดยตลอด จนยอมยกหัวเมืองมลายูให้กับอังกฤษในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อแลกกับการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของคนในบังคับอังกฤษ อย่างไรก็ตาม เนื้อหาสัญญาในส่วนอื่น ๆ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงแต่ประการใด ซึ่งรัฐบาลสยามได้พยายามที่จะแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ และสงครามโลกครั้งที่ 1 นี้เองที่ได้เปิดโอกาสให้สยามใช้สัญญาดังกล่าวเป็นข้อต่อรองกับชาติมหาอำนาจ

ระหว่างที่สงครามระหว่างชาติมหาอำนาจกำลังดำเนินไปนั้น สภาวะสงครามที่รุนแรงยืดเยื้อกว่าสงครามครั้งใดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ทำให้ชาติต่าง ๆ คาดเดาไม่ได้ว่าสงครามจะยุติลงเมื่อใด การได้ประเทศต่าง ๆ มาเป็นพันธมิตรจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ของการเพิ่มกำลังและทรัพยากรทางการทหาร สยามเป็นตัวเลือกอีกชาติหนึ่งที่มหาอำนาจทั้งสองฝ่ายต้องการให้หันมาสนับสนุนฝ่ายตน สิ่งนี้เองทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศหากมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดร้องขอให้สยามเข้าร่วมสงคราม ในเวลาไม่นาน ลอริส เมลิคอฟฟ์ (Loris Melikoff) ทูตรัสเซียประจำสยาม ได้เข้าเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถเพื่อชักชวนให้สยามเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเสนอที่จะให้ชาติสัมพันธมิตรพิจารณายกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับสยาม แต่เมื่อรัฐบาลอังกฤษทราบเรื่องดังกล่าวก็ได้ประกาศให้ชาติพันธมิตรอื่น ๆ ยุติการชักชวนสยามเข้าร่วมกับฝ่ายตน เพราะอังกฤษเป็นชาติที่มีผลประโยชน์ในสยามมากที่สุด[31]

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอังกฤษก็พยายามโน้มน้าวให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยนำสยามเข้าร่วมสงครามกับอังกฤษ ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่สำคัญคือ การขอให้พระเจ้าจอร์ชที่ 5 (George V) พระราชทานยศนายพลแห่งกองทัพบกอังกฤษให้กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นการแสดงออกว่ารัฐบาลอังกฤษให้เกียรติแก่พระองค์ และด้วยเหตุนี้เองในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2453 พระเจ้าจอร์ชที่ 5 ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงดำรงตำแหน่งนายพลกิตติมศักดิ์แห่งกรมทหารราบเดอรัม พร้อมกับส่งเครื่องเครื่องแบบมาทูลเกล้าฯ ถวาย[32]

งานพระราชนิพนธ์กับสงครามโลกครั้งที่ 1

แม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะนำสยามเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร แต่นักหนังสือพิมพ์และคนไทยในเวลานั้นจำนวนไม่น้อยให้การสนับสนุนฝ่ายมหาอำนาจกลางและเยอรมนีมากกว่า ด้วยภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่อังกฤษและฝรั่งเศสแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าต้องการคุกคามอำนาจอธิปไตยของสยาม ในขณะที่เยอรมนีไม่เคยแสดงท่าทีเป็นศัตรูและต้องการยึดครองสยาม ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจำเป็นต้องชี้แจงเหตุผลและโน้มน้าวให้ประชาชนตระหนักว่าการเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งด้านนโยบายการต่างประเทศและด้านศีลธรรม

ในระหว่างที่สยามประกาศตัวเป็นกลาง มีบทความที่แสดงความชื่นชมและให้การสนับสนุนเยอรมนีจำนวนมากลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะบทความจำนวนมากของเซียวฮุดเส็งในหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนเยอรมนี เช่น บทความเรื่อง ความคับขันยิ่งขึ้น ที่พยายามชี้แจงว่าสงครามครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากรัสเซียไม่ใช่เยอรมนี หรือบทความเรื่อง เยอรมันและออสเตรีย ที่อธิบายว่าแท้จริงแล้วแล้วเยอรมนีไม่ได้ต้องการเข้าร่วมสงคราม และพยายามหลีกเลี่ยงสงครามอย่างสุดความสามารถแล้ว[33] นอกจากนี้เซียวฮุดเสงมักนำเสนอเรื่องราวชัยชนะของกองทัพฝ่ายมหาอำนาจกลางในสมรภูมิต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องของเรือดำน้ำซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของประชาชนไทย ในไม่ช้าบทความของเซียวฮุดเสงในจีนโนสยามวราศัพท์ได้กลายเป็นโฆษณาชวนเชื่อชักชวนให้ชาวไทยสนับสนุนฝ่ายเยอรมนี

ในขณะที่บทความของเซียวฮุดเสงเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 1 กำลังได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์หนังสือและบทความที่เกี่ยวข้องกับสงคราม โดยมีพระราชประสงค์ที่จะชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่า โดยแท้จริงแล้วฝ่ายที่กำลังเสียเปรียบในสงครามคือฝ่ายมหาอำนาจกลาง มิใช่ฝ่ายสัมพันธมิตร และฝ่ายที่เป็นต้นเหตุและเป็นฝ่ายผิดในการก่อสงครามคือเยอรมนี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลข้อเขียนจากวารสารและหนังสือพิมพ์อังกฤษเป็นภาษาไทยในพ.ศ.2459 โดยรวมรวมเป็นหนังสือชื่อ การสงครามป้อมค่ายประชิต พระองค์ทรงใช้งานพระราชนิพนธ์เรื่องนี้อธิบายสถานการณ์ของสงครามที่เกิดขึ้นในยุโรปและยุทธวิธีทางการทหารที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ซึ่งเทคโนโลยีอย่างเครื่องบินและอาวุธเคมีได้ถูกนำมาใช้ในการทำสงคราม ใจความสำคัญของพระราชนิพนธ์คือทรงพยายามชักจูงให้ประชาชนเชื่อว่าฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังได้เปรียบในสงคราม และจะเป็นฝ่ายที่ได้รับชัยชนะ เช่น บทความเรื่อง “การติดต่อและลำเลียง” ซึ่งได้อธิบายว่า แม้เยอรมนีจะพยายามปิดล้อมเมืองปารีส แต่ด้วยประสิทธิภาพของการขนส่งและการสื่อสารของทหารฝรั่งเศสที่ดีกว่าทหารเยอรมนี ทำให้กองทัพฝรั่งเศสมีชัยเหนือกองทัพเยอรมนีและสามารถปกป้องเมืองปารีสไว้ได้[34]

การที่คนไทยในเวลานั้นนิยมชมชอบเรื่องราวเกี่ยวกับการปฏิบัติการของเรือดำน้ำเยอรมนี จนเปรียบเทียบเรือดำน้ำว่าเป็นอาวุธมหัศจรรย์ที่ไม่มีวันพ่ายแพ้ ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์แปลบทความของเฟรด เจน (Fred T. Jane) ในวารสารแลนด์แอนด์วอเตอร์ (The Land and Water Magazine) เรื่อง “ประโยชน์แห่งเรือใต้น้ำ” มาตีพิมพ์ในวารสารสมุทสารฉบับที่ 6 โดยทรงใช้นามปากกากว่า “พันแหลม” บทความเรื่องประโยชน์แห่งเรือดำน้ำอธิยายว่าแท้ที่จริงแล้วการปฏิบัติการของเรือดำน้ำเยอรมนีไม่ได้รับชัยชนะไปทั้งหมด โดยเฉพาะการขัดขวางขบวนเรือขนส่งยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ มายังอังกฤษนั้น เรือดำน้ำเยอรมนีสามารถจมเรือขนส่งได้เพียง 19 ลำ จาก 5,970 ลำ ในขณะที่ขบวนเรือคุ้มกันเรือขนส่งสินค้าสามารถทำลายเรือดำน้ำได้ถึง 6 ลำ[35] นอกจากนี้พระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์แปลบทความที่เกี่ยวข้องกับสงครามเป็นจำนวนมาก เช่น เรื่อง “เหตุการณ์ยุทธทางทะเล” ซึ่งอธิบายถึงชัยชนะของกองทัพเรืออังกฤษเหนือกองทัพเรือเยอรมนีในยุทธนาวีต่าง ๆ

หนึ่งในบทความสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์แปลเพื่อชี้ให้เห็นว่าฝ่ายเยอรมนีเป็นฝ่ายที่ไร้ศีลธรรม รัฐบาลและประชาชนจึงไม่ควรสนับสนุนคือบทความเรื่อง “การจมลูซิทาเนีย” ตีพิมพ์ลงในวารสารสมุทสารฉบับที่ 2 ในพ.ศ.2458 ในบทพระราชนิพนธ์นี้ทรงชี้ให้เห็นว่าการจมเรือโดยสารของกองทัพเยอรมนีนั้น นอกจากจะขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ยังเป็นการละเมิดศีลธรรมอันดีในการพรากชีวิตผู้บริสุทธิ์[36] นอกจาบทความเรื่องการจมลูซิทาเนียแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทความอื่น ๆ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของกองทัพเยอรมนีว่าเป็นฝ่ายที่ไม่น่าไว้วางใจ เช่น บทพระราชนิพนธ์เรื่อง “อย่าเผลอ” ตีพิมพ์ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2457 ทรงใช้นามปากกว่า “รามจิตติ” บทความเรื่อง “อย่าเผลอ” มีเนื้อหาเป็นการเตือนไม่ให้คนไทยหลงเชื่อโฆษณาชวนเชื่อของเยอรมนีและเอาใจเข้าข้างฝ่ายเยอรมนีโดยเฉพาะทหารในกองทัพที่สำเร็จการศึกษาจากประเทศเยอรมนีเป็นจำนวนมาก[37] นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์บทความอีกบทหนึ่งชื่อ “เหตุใดตุรกีจึงรบด้วย” โดยทรงใช้นามปากกาว่า “อัศวพาหุ” บทความดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการที่ตุรกีต้องเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายเยอรมนีก็เพราะทหารในกองทัพตุรกีจำนวนมากสำเร็จการศึกษาจากเยอรมนีทำให้นายทหารเหล่านี้มีความนิยมชมชอบเยอรมนี จนตัดสินใจเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายเยอรมนีอย่างง่ายดาย ทั้ง ๆ ที่ตุรกีไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการเข้าข้างฝ่ายเยอรมนีในคราวนี้ แต่กลับเป็นเยอรมนีที่ได้ประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว เพราะมีตุรกีคอยดูแลคาบสมุทรบอลข่านจากการรุกรานของฝ่ายสัมพันธมิตร[38] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์อย่างชัดเจนที่จะใช้งานพระราชนิพนธ์ชิ้นนี้ตักเตือนนายทหารไทยที่ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยเยอรมนีที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนฝ่ายมหาอำนาจกลางในคราวนี้ ได้ตระหนักว่าการเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายเยอรมนีไม่ได้นำประโยชน์มาสู่ประเทศชาติแต่อย่างใด

หลังจากบทพระราชนิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้รับการตีพิมพ์ออกมาเป็นจำนวนมาก และเจ้าพระยายมราชออกมาขู่บรรดาบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ว่างานเขียนที่เข้าข้างเยอรมนีอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ[39] บรรดานักหนังสือพิมพ์รวมทั้งเซียวฮุดเสงได้หันมาเขียนงานสนับสนุนพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อสงครามในคราวนี้ โดยเซียวฮุดเสงได้เขียนบทความเรื่อง “ความอิสระเป็นสิ่งที่ควรพยายามรักษาไว้ให้ได้”[40] และ “ปาหน้าไกเซอร์” อันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์พระบรมราโชบายทางการทหารของสมเด็จพระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ที่ต้องการรุกรานชาติอื่น ๆ[41]

เรือหลวงพระร่วง

ในขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุขึ้นในยุโรป เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (ม.ร.ว.ลบ สุทัศน์) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมและข้าราชบริพารที่ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ก่อตั้งราชนาวีสมาคมขึ้นในพ.ศ. 2457 เพื่อระดมเงินจากข้าราชการและประชาชนเพื่อซื้ออาวุธมอบให้แก่กองทัพเพื่อใช้ในการป้องกันประเทศ[42] เมื่อก่อตั้งสมาคมขึ้นแล้ว เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธรได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สมาคมอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมกับขอพระราชทานชื่อเรือรบ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานชื่อเรือรบที่จะซื้อว่า “เรือหลวงพระร่วง” อันเป็นพระนามของพระร่วงปฐมกษัตริย์ในตำนานของชาวสยาม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับกิจกรรมนี้เป็นอย่างมาก เพราะการเรี่ยไรเงินซื้อเรือหลวงพระร่วงนี้ตรงกับพระบรมราโชบายเกี่ยวกับชาตินิยมที่พระองค์ทรงมุ่งหมายจะปลุกสำนึกความรักชาติและความจงรักภักดีของประชาชน พระองค์ทรงสนับสนุนกิจการของราชนาวีสมาคมเป็นอย่างดี ทั้งการที่ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์สมาคมและทรงรับเป็นองค์บรรณาธิการวารสาร สมุทสาร ซึ่งราชนาวีสมาคมจัดทำขึ้นเพื่อนำเงินรายได้จากการขายวารสารมาสมทบทุนซื้อเรือรบ นอกจากนี้ยังพระราชทานบทพระราชนิพนธ์จำนวนมากมาลงพิมพ์ในวารสารเพื่อเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันบริจาคเงินซื้อเรือรบ

ในการโน้มน้าวให้ประชาชนบริจาคเงินซื้อเรือหลวงพระร่วง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง เช่น เห่เรือยุคใหม่ พระราชนิพนธ์รัชกาลปัตยุบัน ตีพิมพ์ในวารสารสมุทสารฉบับที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2457[43] , “เหตุการณ์ยุทธทางทเล” ตีพิมพ์ในวารสารสมุทสาร ฉบับที่ 4 เดือนเมษายน พ.ศ.2458[44] และบทพระราชนิพนธ์เรื่อง ขอชวนท่านเป็นแมลงหวี่ ตีพิมพ์ในวารสารสมุทสาร ฉบับที่ 13 เดือนมกราคม พ.ศ.2458[45] ซึ่งในพระราชนิพนธ์บทนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายสาเหตุที่ทำให้การเรี่ยไรเงินมีความล่าช้าเนื่องจากคนไทยจำนวนมากเพิกเฉยต่อกิจกรรมดังกล่าว[46] พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนช่วยกันสนับสนุนกิจการของราชนาวีสมาคมให้มากยิ่งขึ้น มิใช่เพียงร่วมกันบริจาคเงินเท่านั้น แต่ควรร่วมกันเป็นกระบอกเสียงให้แก่ราชนาวีสมาคมในการชักชวนให้คนอื่น ๆ ร่วมกันบริจาคเงินให้มากยิ่งขึ้น[47] ต่อมาเมื่อสยามกำลังจะเปลี่ยนสถานะจากชาติเป็นกลางมาเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 ตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว วารสารสมุทสารก็เป็นเครื่องมือสำคัญในการชักจูงใจประชาชนให้คล้อยตามแนวพระราชดำริดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีบทพระราชนิพนธ์ปลุกใจให้ผู้อ่านเกิดความรักชาติด้วย[48]

นอกจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงมีงานพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ มาลงตีพิมพ์ในวารสารสมุทสารแล้ว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ทรงพระนิพนธ์บทความเรื่อง ตำนาน ร.พ.ต. เสือคำรณสินธุ์ ลงในวารสารสมุทสารฉบับที่ 3 ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ.2457[49] หรือข้าราชบริพารที่ใกล้ชิดพระองค์ เช่น เจ้าพระยารามราฆพขณะมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาประสิทธิ์ศุภการก็ได้เขียนบทความลงในวารสารสมุทสารเรื่อง “ของสำคัญในประเทศสยามในเวลานี้” ตีพิมพ์ในฉบับที่ 13 ประจำเดือนมกราคม พ.ศ.2458[50] เนื้อหาในบทความมุ่งเน้นให้ประชาชนตระหนักว่าสยามมีสิ่งสำคัญอยู่สามสิ่งที่คนไทยต้องรักษาปกป้องได้แก่ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนต้องปกป้องรักษาคือพระมหากษัตริย์ เพราะมหากษัตริย์จะเป็นผู้ปกป้องชาติ และศาสนาให้คงอยู่ต่อไป ด้วยเหตุนี้คนไทยจึงควรจะทำตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็คือการร่วมกันบริจาคเงินเพื่อซื้อเรือหลวงพระร่วงอันจะเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือพระมหากษัตริย์ในการปกป้องชาติ และศาสนา[51] นอกจากบทความของเจ้าพระยารามราฆพแล้ว ยังมีข้าราชการคนสำคัญในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นพระสารประเสริฐ และพระยากัลยาณไมตรี รวมทั้งนักหนังสือพิมพ์อย่างนายชิต บุรทัต ร่วมเขียนบทความลงในวารสารสมุทสาร บทความเหล่านี้มุ่งเน้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งจะเป็นผู้ปกป้องชาติไทยให้พ้นจากอริราชศัตรูทั้งปวง

นอกจากวารสารสมุทสาร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้หนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของเมืองดุสิตธานีในการปลุกเร้าข้าราชการและประชาชนให้ร่วมกันบริจาคเงินซื้อเรือหลวงพระร่วง ด้วยการลงโฆษณาภาพของทหารเรือที่หน้าตาบึ้งตึง มีคำบรรยายใต้ภาพว่าที่ทหารเรือแสดงกริยาบึ้งตึงอยู่นี้ก็เพราะเสียใจที่ยังไม่ได้เรือพระร่วงมา[52] หรือภาพของเรือพระร่วงที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโดยมีคำบรรยายภาพว่า “ท่านเห็นไหม? เรือพระร่วงยังค้างอยู่”[53] นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริที่จะมอบรายได้จากการจำหน่ายหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตให้แก่ราชนาวีสมาคมเพื่อสมทบทุนซื้อเรือรบหลวงพระร่วงด้วย[54]

การจัดแสดงละครเป็นอีกวิธีหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนำมาใช้เพื่อเรี่ยไรเงินจากประชาชน ในการจัดแสดงละครเพื่อเรี่ยไรเงินซื้อเรือหลวงพระร่วงนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง วิวาหพระสมุท ขึ้นเป็นการเฉพาะ บทละครเรื่องนี้จัดแสดงครั้งแรกในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2459 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงร่วมแสดงเป็นนายนาวาเอกเอ็ดเวอร์ด ไลออน ผู้บังคับการเรือหลวงอ๊อกฟอร์ด ของประเทศอังกฤษ[55] ในพระราชนิพนธ์เรื่อง วิวาหพระสมุท นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยายามชี้ให้ประชาชนเห็นถึงความจำเป็นที่กองทัพจะต้องมีความเข้มแข็งเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ[56]

การเรี่ยไรเงินเพื่อจัดซื้อเรือรบพระร่วงยังถูกโยงกับแนวคิดชาตินิยมและความเสียสละเพื่อส่วนรวม โดยเฉพาะเรื่องความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้ในการชักจูงใจประชาชนให้ร่วมบริจาคเงิน ซึ่งใช้ได้เป็นอย่างดีกับชาวจีนโพ้นทะเลที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีความจงรักภักดี ชาวจีนจำนวนมากทั้งที่เป็นกรรมกรและพ่อค้าคหบดีต่างร่วมกันบริจาคเงินเซื้อเรือรบพระร่วงเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกตนมีความจงรักภักดีต่อชาติ และสถาบันกษัตริย์ [57] นอกจากนี้กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเพื่อหาเงินสมทบทุนในการจัดซื้อเรือพระร่วง ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นความสำคัญที่องค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น การจัดจำหน่ายพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระองค์ในราคาภาพละ 1 บาท และทรงลงพระปรมาภิไธยของพระองค์กำกับให้แก่ผู้ที่ซื้อพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ในราคาสูงกว่าราคาปกติ การจัดจำหน่ายพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์สามารถรวบรวมเงินได้ถึง 917 บาท[58] นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเช่น การจัดงานรื่นเริงในฤดูหนาวที่สนามกองเสือป่าเสนาหลวงเพื่อเก็บเงินรายได้มอบให้แก่ราชนาวีสมาคม[59]

อย่างไรก็ตาม โครงการซื้อเรือหลวงพระร่วงนี้ก็มีผู้ไม่เห็นด้วยอยู่ไม่น้อย เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเห็นว่าควรนำเงินไปพัฒนาประเทศในด้านอื่นมากกว่านำมาซื้อเรือรบ[60] นักหนังสือพิมพ์อย่างเซียวฮุดเส็ง ผู้ใช้นามปากกาว่า “บาทกุญชร” เขียนบทความแสดงความคิดเห็นลงใน จีนโนสยามวารศัพท์ เกี่ยวกับประเภทของเรือรบที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะซื้อ โดยบาทกุญชรเสนอให้ซื้อเรือพิฆาตแทนเรือลาดตระเวนขนาดเบาเพราะมีราคาถูกกว่าทำให้ซื้อได้หลายลำ[61] หรือในกรณีของ “สันดอน” ซึ่งเขียนบทความลงใน กรุงเทพเดลิเมล์ ได้เสนอว่าควรซื้อเรือดำน้ำมากกว่าเรือลาดตระเวนเบา[62] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีบทความพระราชนิพนธ์ตอบโต้บทความทั้งสองและทรงยืนยันพระราชดำริที่จะทรงให้ราชนาวีสมาคมซื้อเรือลาดตระเวนเบา[63] แม้จะมีบทความตอบโต้กันเกี่ยวกับเรือหลวงพระร่วง แต่พบว่าไม่มีบทความที่คัดค้านการซื้อเรือรบ มีเพียงความเห็นแย้งเกี่ยวกับประเภทของเรือรบที่เท่านั้น เหนือสิ่งอื่นใด การเรี่ยไรเงินเพื่อซื้อเรือรบพระร่วงนั้นก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากชาวจีนที่ร่วมกันบริจาคเป็นจำนวนมาก จนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทความเรื่อง ขอบใจเพื่อนจีน ลงใน วารสารสมุทสาร ฉบับปฐมฤกษ์เพื่อชื่นชมที่คนจีนร่วมบริจาคเงินในคราวนี้


		“การที่เพื่อนจีนได้แสดงไมตรีจิตร์ต่อไทย จะช่วยทารั้วบ้านด้วยครั้งนี้ ไทยขอบใจชั้น 1 แล้ว และถ้าจะให้ดีเพื่อนจีนแสดงไมตรีจิตรต่อไปให้เปนการสม่ำเสมอ ก็คงจะได้รับ
	ความขอบใจอย่างยิ่งขึ้นอีกเปนแน่
		ข้าพเจ้าขอให้ท่านเอดิเตอร ได้โปรดช่วยนำจดหมายนี้ลงในหนังสือของท่านด้วย เพื่อข้อความเหล่านี้จะได้ประสบตาเพื่อนจีนซึ่งข้าพเจ้าอยากให้ได้รับความขอบใจนั้นด้วย”[64]

ประกาศสงคราม

การตัดสินพระทัยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับฝ่ายสัมพันธมิตรของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งมีส่วนสำคัญให้พระบรมราโชบายดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากนายทหารอื่น ๆ ในกองทัพด้วย เพราะสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงเป็นนายทหารที่มีอิทธิพลและมีพระราชอำนาจมากในกองทัพ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการสนับสนุนอย่างชัดเจนจากพระอนุชาแล้ว ก็ทรงแจ้งเรื่องนี้ต่อคณะเสนาบดีว่าพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะนำสยามเข้าร่วมสงครามในการประชุมสภาเสนาบดีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2460 ซึ่งที่ประชุมก็สนับสนุนการตัดพระสินพระราชหฤทัยในครั้งนี้เป็นอย่างดี ทว่าการประชุมในวันนั้น ขาดสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงทหารเรือที่ไม่ได้ทรงเข้าร่วมประชุมด้วย พระองค์ทรงเป็นเจ้านายพระองค์เดียวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกังวลเป็นอย่างมากว่าจะไม่สนับสนุนพระบรมราโชบายของพระองค์ เพราะสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตทรงสำเร็จวิชาทหารบกจากเยอรมนี อีกทั้งยังทรงมีความสนิทสนมกับจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ความไม่สบายพระทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็หมดสิ้นไป เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตเสด็จมาเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในทันทีหลังจากทรงทราบเรื่องการประกาศสงคราม และทรงนำแผนการจับกุมและยึดเรือของชาติมหาอำนาจกลางมาทูลเกล้าฯ ถวายให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาด้วย อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงสนับสนุนพระบรมราโชบายดังกล่าว[65]

ในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางและนำสยามเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงคราม ในพิธีประกาศสงครามที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์พระมหาพิชัยยุทธสีแดง พระหัตถ์ซ้ายทรงถือพระแสดงดาบคาบค่าย ส่วนพระหัตถ์ขวาทรงถือใบมะกอก รวมทั้งทรงทัดใบมะกอกที่พระกรรณข้างซ้าย

หลังการประกาศสงครามแล้ว ก็เกิดคำถามขึ้นว่าสยามจะช่วยสัมพันธมิตรทำสงครามในคราวนี้ได้อย่างไร สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงแนะนำว่าควรเป็นการช่วยเหลือด้านจิตใจ เช่น การขับไล่ชาวเยอรมันออกจากประเทศ รวมทั้งการไล่ข้าราชการฝ่ายมหาอำนาจกลางที่รับราชการอยู่กับรัฐบาลสยามออก เนื่องจากในขณะนั้นกองทัพสยามไม่มีกำลังทหาร ยุทโธปกรณ์ และงบประมาณเพียงพอที่จะช่วยเหลือพันธมิตร อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่กำลังเกิดข้อถกเถียงว่าสยามจะมีส่วนร่วมในสงครามนี้อย่างไรบ้าง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการได้ทรงมีพระหัตถเลขาถามชาติพันธมิตรว่าต้องการความช่วยเหลืออย่างไรบ้างจากรัฐบาลสยาม อันเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจของสยามที่ไม่ได้ต้องการเข้าร่วมสงครามเพื่อผลประโยชน์ในอนาคตของตนเท่านั้น แต่หากต้องการช่วยเหลือชาติพันธมิตรให้ได้รับชัยชนะในสงครามคราวนี้

รัฐบาลอังกฤษได้ส่งหนังสือตอบกลับมาโดยขอยืมเรือทั้ง 7 ลำที่รัฐบาลสยามยึดได้จากบริษัทของเยอรมนีที่จอดเทียบท่าที่กรุงเทพ ส่วนรัฐบาลฝรั่งเศสได้ขอให้สยามจัดหาน้ำมันละหุ่งให้[66] รัฐบาลสยามได้ตอบสนองคำขอต่าง ๆ เหล่านี้โดยทันที อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาฝรั่งเศสได้ขอให้สยามช่วยส่งนักบิน แพทย์ และคนขับรถไปยังสมรภูมิที่ยุโรปเพื่อสนับสนุนกองทัพสัมพันธมิตร[67] ข้อเรียกร้องดังกล่าวแม้ในด้านหนึ่งจะสร้างความวิตกกังวลให้กับรัฐบาลสยามในช่วงแรก แต่ในอีกด้านหนึ่ง ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของสยามไปโดยสิ้นเชิง จากอดีตที่สยามเป็นเพียงชาติที่ถูกมหาอำนาจรุกรานเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ แต่ในวันนั้น ชาวไทยมีโอกาสร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับมหาอำนาจ

เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสงครามอันยืดเยื้อนี้จะจบลงเมื่อใด รัฐบาลฝรั่งเศสได้ส่งจดหมายมาหาเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศขอให้จัดส่งทหารเข้าร่วมรบกับทหารสัมพันธมิตร ซึ่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ตอบตกลงต่อข้อเรียกร้องดังกล่าวในทันทีโดยที่ไม่ทราบว่าสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารในเวลานั้นทรงแนะนำให้สยามช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตรทางด้านจิตใจเท่านั้น เพราะกองทัพสยามไม่มีกำลังพลเพียงพอ เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงทราบว่าเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศได้ตกปากรับคำที่จะส่งกำลังทหารเข้าร่วมรบกับชาติพันธมิตร ก็ทรงไม่เห็นด้วยเป็นอย่างมาก เพราะทรงตระหนักดีว่าเป็นเรื่องยากที่จะส่งทหารเหล่านั้นเข้าร่วมรบ โดยเฉพาะนักบินซึ่งในขณะนั้นทั้งกองทัพมีนักบินอยู่เพียง 4 นาย[68]

อย่างไรก็ตาม สยามไม่สามารถกลับคำที่ให้ไว้กับฝรั่งเศสได้ เพราะจะยิ่งทำให้ชาติพันธมิตรเห็นว่าสยามไม่มีความจริงใจที่จะช่วยเหลือ ดังนั้นเสนาธิการทหารจึงแนะนำให้ส่งทหารไปฝึกบินกับกองทัพฝรั่งเศส โดยให้ฝรั่งเศสเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายด้านการฝึก ส่วนสยามจะออกค่าใช้จ่ายเรื่องค่ากินอยู่ของทหารเอง อย่างไรก็ตาม เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศก็ยืนยันที่จะต้องส่งคนขับรถ และแพทย์ไปช่วยรบตามที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้ขอมา สุดท้ายแล้วแม้เสนาธิการทหารจะไม่ยินดีกับสิ่งที่เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศขอร้องแกมบังคับ แต่ก็ตัดสินใจส่งคนขับรถและแพทย์ทหารไปช่วยฝ่ายพันธมิตรที่ยุโรป ด้วยเหตุนี้เอง ทหารสยามจึงได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในนามกองทหารอาสา เนื่องจากนายทหารที่เข้าร่วมสงครามในคราวนี้มิใช่มีเพียงทหารประจำการเท่านั้น แต่ยังมีพลเรือนที่รัฐบาลเปิดรับสมัครเข้าร่วมกับกองทหารอาสาอีกเป็นจำนวนมาก

การแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

สงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งกองทหารอาสาของกองทัพบกสยามได้มีส่วนร่วมในการสวนสนามฉลองชัยชนะที่ถนนช็องเซลีเซ (Champs-Élysées) อันเป็นการยืนยันถึงสถานะของกองทัพสยามที่เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตร พร้อมกับการสิ้นสุดลงของสงคราม สหรัฐอเมริกาได้เสนอให้ก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติขึ้นเพื่อเป็นตัวกลางแก้ปัญหาระหว่างประเทศในอนาคต มิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอย่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นอีก สยามซึ่งเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับเชิญเข้าร่วมเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติเฉกเช่นมหาอำนาจชาติอื่น ๆ สยามได้ใช้เวทีองค์การสันนิบาตชาตินี้เรียกร้องให้แก้ไขสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรม

ในระหว่างที่ชาติมหาอำนาจกำลังทำสงครามกันอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นโอกาสที่สยามจะใช้วิกฤตระหว่างประเทศในครั้งนี้เรียกร้องให้มหาอำนาจแก้ไขสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมได้ หากมีชาติหนึ่งชาติใดเรียกร้องให้สยามเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายตน พระองค์ก็จะทรงใช้เรื่องดังกล่าวเป็นข้อแลกเปลี่ยน ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็เกิดขึ้นเมื่อทางรัสเซียและฝรั่งเศสต่างร้องขอให้สยามเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรโดยมีข้อแลกเปลี่ยนที่จะยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับสยาม อย่างไรก็ตามรัฐบาลอังกฤษซึ่งได้รับผลประโยชน์อย่างมากจากสนธิสัญญาดังกล่าวได้คัดค้านข้อเสนอของทั้งสองชาติ จนเป็นเหตุให้การเจรจาเรื่องดังกล่าวยุติลง

กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลงพร้อมกับการก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติ รัฐบาลสยามที่เป็นหนึ่งในสมาชิกได้นำเรื่องสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเสนอแก่ที่ประชุมขององค์การเพื่อให้มีการพิจารณาแก้ไขสัญญาดังกล่าว[69] ข้อเสนอของรัฐบาลสยามได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นมหาอำนาจที่มีบทบาทสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยสหรัฐฯ ยินดีที่จะยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตต่าง ๆ ที่มีต่อสยาม โดยไม่มีข้อแลกเปลี่ยนใด ๆ[70]

ความพยายามเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมระหว่างสยามกับมหาอำนาจเริ่มตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อยมากระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่กระนั้น การเจรจาก็ไม่คืบหน้าเท่าใดนัก เนื่องจากชาติตะวันตกยังคงกังวลต่อสิทธิของคนในบังคับ โดยเฉพาะสิทธิทางด้านกฎหมายที่ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของสยามและจะสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนที่ได้รับจากสนธิสัญญา สงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลงพร้อมกับการรับปากของสหรัฐอเมริกาที่จะแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม การเจรจาระหว่างสยามกับสหรัฐอเมริกาจึงได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง จนในที่สุดทั้งสองประเทศได้ตกลงทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ในพ.ศ.2463 ซึ่งประเด็นสำคัญของสนธิสัญญาฉบับนี้ คือการกำหนดอำนาจของศาลกงสุลสหรัฐอเมริกาในไทยเสียใหม่ว่า จะมีสิทธิถอนคดีจากศาลไทยไปพิจารณายกเว้นคดีในชั้นศาลฎีกา โดยสิทธิการถอนคดีนี้จะสิ้นสุดลงหลังจากสยามประกาศใช้ประมวลกฎหมายทั้งหมดครบถ้วนแล้ว 5 ปี สนธิสัญญาฉบับนี้ยังทำข้อตกลงเกี่ยวกับการเก็บภาษีศุลกากรที่เคยกำหนดว่ารัฐบาลสยามไม่สามารถเก็บภาษีสินค้านำเข้าได้เกินร้อยละ 3 โดยระบุว่าสยามสามารถกำหนดอัตราภาษีศุลกากรได้โดยอิสระ แต่ต้องเก็บภาษีคนในบังคับสหรัฐฯ เท่ากับที่เก็บภาษีชาติอื่น ๆ[71]

สนธิสัญญาสยาม - สหรัฐอเมริกา พ.ศ.2463 ได้กลายเป็นต้นฉบับของสนธิสัญญาฉบับอื่น ๆ ที่สยามได้ทำการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับมหาอำนาจชาติอื่น โดยเนื้อหาในสนธิสัญญาเป็นไปในลักษณะเดียวกับสนธิสัญญาสยาม – สหรัฐอเมริกา ที่ชาติมหาอำนาจจะยินยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตโดยสมบูรณ์หลังจากที่สยามประกาศใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วนได้ 5 ปีและยอมให้สิทธิสยามกำหนดอัตราภาษีศุลกากรตามต้องการ สำหรับเยอรมนีและออสเตรีย - ฮังการี สยามสามารถยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับทั้งสองชาติได้ทันทีในการลงนามสงบศึกในสนธิสัญญาแวร์ซายส์ (Treaty of Versailles) โดยรัฐบาลสองประเทศยอมรับว่าสนธิสัญญา อนุสัญญาและข้อตกลงต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตระหว่างเยอรมนีและสยามได้สิ้นสุดลงตั้งวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2460[72]

การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำสยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 นอกจากจะทำให้สยามได้เข้าไปอยู่ในระเบียบโลกใหม่แล้ว สยามยังสามารถยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่กับชาติมหาอำนาจกลางได้ทันที สำหรับชาติพันธมิตรนั้น สยามได้เริ่มต้นเจรจาเพื่อขอแก้ไขสนธิสัญญาใหม่ ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้สยามได้แก้ไขสนธิสัญญาจนนำไปสู่การแก้ไขสนธิสัญญากับมหาอำนาจชาติอื่น ๆ ซึ่งในที่สุดแล้วสยามสามารถยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้กับทุกชาติโดยสมบูรณ์ในพ.ศ.2481

สรุป

ปัญหาชาวจีนในสยามและการนำสยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้แสดงให้เห็นบทบาทของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งในฐานะพระมหากษัตริย์ นักปกครองและทหาร ที่พระองค์ทรงสามารถนำพาประเทศให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ท่ามกลางวิกฤตทั้งภายในและภายนอก ทั้งการที่ทรงทำให้ชาวจีนซึ่งครั้งหนึ่งแสดงตัวอย่างชัดเจนว่าไม่ให้การสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐบาล แม้แต่การจ่ายภาษีซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานในฐานะประชากร ยิ่งกว่านั้นความร่ำรวยและอิทธิพลของชาวจีนโพ้นทะเลในสยามที่ทวีเพิ่มขึ้นได้กลายเป็นข้อหนักใจของรัฐบาลมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้วิเทโศบายทางการเมืองที่ยืดหยุ่นมากกว่าการบังคับขู่เข็ญโดยใช้กฎหมาย พระองค์พยายามโน้มน้าวชาวจีนให้ตระหนักถึงหน้าที่ของตนที่มีต่อประเทศที่เข้ามาพึ่งพาอาศัย ซึ่งงานพระราชนิพนธ์เรื่อง พวกยิวแห่งบูรพาทิศ ได้เป็นเครื่องมือสำคัญที่พระองค์ทรงใช้เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของชาวจีนและได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้ชาวจีนจำนวนมากเริ่มหันมาสนับสนุนพระบรมราโชบายด้านชาตินิยมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างไรก็ตาม การที่ชาวจีนจำนวนมากประกอบอาชีพค้าขายหรือรับจ้าง แต่กิจกรรมที่มุ่งเน้นการสร้างชาติของพระองค์อย่างเช่น เสือป่าจำเป็นต้องใช้เวลามากในการเข้าร่วม ทำให้ชาวจีนไม่สามารถปิดร้านของตนเป็นเวลานานเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวได้ ชาวจีนจึงเลือกที่จะแสดงให้เห็นว่าพวกตนสนับสนุนพระบรมราโชบายชาตินิยมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยการร่วมกันบริจาคเงินเป็นจำนวนมากเพื่อสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์ ทั้งกิจกรรมเสือป่า การซื้อเรือรบหลวงพระร่วง และการซื้อเครื่องบินมอบให้กองทัพ กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการพิสูจน์ตนเองของชาวจีนว่ามีความรักชาติและความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับคนไทย

ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพยายามแก้ปัญหาความมั่นคงภายในประเทศ การเมืองระหว่างประเทศในรัชสมัยพระองค์ก็ทวีถึงจุดที่ชาติมหาอำนาจในยุโรปตัดสินใจทำสงครามเพื่อขยายอำนาจและอิทธิพลของตน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสยามอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในระยะแรกของสงคราม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศให้สยามเป็นกลาง แม้ในฐานะทหารแล้ว พระองค์จะมีพระราชประสงค์ที่จะสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตรและจะนำสยามเข้าร่วมสงครามโลกกับฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ในฐานะกษัตริย์และผู้ปกครอง พระองค์ทรงจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติในเวลานั้นเป็นสำคัญ โดยเฉพาะหากทรงประกาศเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ก็อาจจะเกิดความแตกแยกของคนในชาติได้ เพราะในเวลานั้น นักหนังสือพิมพ์และคนไทยจำนวนมากต่างเห็นใจและสนับสนุนฝ่ายเยอรมนีมากกว่า เนื่องจากมีทัศนคติในแง่ลบต่อฝรั่งเศสและอังกฤษ อันเป็นผลสืบเนื่องจากความพยายามของทั้งสองชาติในการขายอิทธิพลเข้ามายังประเทศสยามตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะที่เยอรมนีไม่เคยมีท่าทีคุกคามสยามแต่อย่างใด

พระราชประสงค์ที่ทรงต้องการนำสยามเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรมีพื้นฐานมาจากการที่ทรงศึกษาที่อังกฤษเป็นเวลาเกือบสิบปีและทรงมีพระทัศนคติว่าสงครามครั้งนี้ผู้กระทำผิดคือฝ่ายเยอรมนีที่รุกรานประเทศอื่นก่อน อย่างไรก็ตามการที่คนไทยจำนวนมากสนับสนุนฝ่ายเยอรมนี ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงพยายามชี้แจงให้คนไทยตระหนักว่าชาติที่เป็นฝ่ายผิดในสงครามคือเยอรมนี และทรงชักจูงให้คนไทยหันมาสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตร ด้วยการทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมหลายเรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการชักจูงให้ประชาชนคล้อยตามว่าฝ่ายเยอรมนีเป็นฝ่ายผิด พร้อมกับทรงชี้ให้เห็นว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะได้รับชัยชนะในอีกไม่ช้า

พระราชประสงค์ที่จะเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถผู้ทรงเป็นที่เคารพของทหารในกองทัพ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงมีพระดำริว่าเมื่อสงครามจบลง จะเกิดการจัดระเบียบโลกใหม่ หากสยามไม่เข้าร่วมสงครามและสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะ สยามจะไม่สามารถเข้าไปอยู่ในระเบียบโลกใหม่นี้ด้วย ดังนั้นพระองค์จึงทรงสนับสนุนพระบรมราโชบายที่จะเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการสนับสนุนจากพระราชอนุชานี้เองทำให้พระองค์ทรงตัดสินพระทัยนำสยามเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในเวลาต่อมา พร้อมกันนี้สยามยังได้ตัดสินใจส่งทหารไปช่วยชาติสัมพันธมิตรรบกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง แม้ว่าการส่งทหารเข้าร่วมสงครามครั้งนี้จะเกิดขึ้นด้วยความไม่เต็มใจนักของรัฐบาลสยาม แต่ก็ก่อผลประโยชน์อย่างมากในเวลาต่อมา เมื่อสงครามยุติลงโดยสยามอยู่ฝ่ายเดียวกับผู้ชนะ ทำให้สยามสามารถยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับชาติผู้แพ้สงครามได้ในทันทีและเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับมหาอำนาจ พร้อมกันนี้สยามได้เข้าเป็นสมาชิกองค์กรสันนิบาตชาติเมื่อมีการก่อตั้งองค์กรขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นรูปแบบของระเบียบโลกใหม่ที่เกิดขึ้นหลังสงคราม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในช่วงเวลาที่บริบททางการเมืองทั้งภายในและภายนอกกำลังอยู่ในจุดที่มีความสำคัญต่ออนาคตของชาติเป็นอย่างยิ่ง ในการธำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของชาติ พระองค์ทรงมีบทบาทหลายด้านอันมีส่วนสำคัญในการปกครองประเทศ ทั้งบทบาทในฐานพระมหากษัตริย์ที่จะต้องปกครองนำพาสยามให้รอดพ้นจากวิกฤตต่าง ๆ ทั้งปัญหาเรื่องชาวจีน ในฐานะทหารที่ต้องนำชาติเข้าสู่มหาสงครามเพื่อให้คงรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ และในฐานะนักปกครองผู้สามารถทำให้ประชาชนทุกฝ่ายยอมปฏิบัติตามพระบรมราโชบายของพระองค์ด้วยความเต็มใจ โดยไม่ให้ดูเป็นการบังคับขู่เข็ญจนประชาชนเกิดความรู้สึกต่อต้านพระองค์


1. สกินเนอร์, จอร์จ วิลเลียม, สังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548, พิมพ์ครั้งที่ 2), หน้า 187.[^]
2. เรื่องเดียวกัน, หน้า 165.[^]
3. กจช., ร.6 น.25/20 ปัญหาเรื่องคนจีนที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ลงวันที่ 1 มีนาคม 2458.[^]
4. “คำกราบบังคมทูลรายงาน ในการเปิดโรงเรียนเพาะช่าง”, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 30, ตอนที่ ง (25 มกราคม 2456): 2500.[^]
5. เรื่องเดียวกัน, หน้า 2492.[^]
6. กจช., ร.6 น.25/20 ปัญหาเรื่องคนจีนที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ลงวันที่ 1 มีนาคม 2458.[^]
7. เรื่องเดียวกัน.[^]
8. เพ็ญพิสุทธิ์ อินทรภิรมย์, “บทบาทและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเซียวฮุดเสง พ.ศ. 2450-2474” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544), หน้า 132.[^]
9. เรื่องเดียวกัน, หน้า 129.[^]
10. กจช., ร.6 บ.3.1/19 นายเซียวฮุดเส็ง และนายฮง (หรือยี่กอฮง) ลงวันที่ 22 มิถุนายน 130.[^]
11. กจช., ร.6 บ.3.1/19 นายเซียวฮุดเส็ง และนายฮง (หรือยี่กอฮง) ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 131.[^]
12. เพ็ญพิสุทธิ์ อินทรภิรมย์, “บทบาทและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเซียวฮุดเสง พ.ศ.2450 – 2474,” หน้า 178.[^]
13. กจช., ร.6 บ.3.1/19 นายเซียวฮุดเส็ง และนายฮง (หรือยี่กอฮง) ลงวันที่ 6 มิถุนายน 130.[^]
14. เรื่องเดียวกัน.[^]
15. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, พวกยิวแห่งบูรพาทิศ และเมืองไทยจงตื่นเถิดของอัศวพาหุ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2528), หน้า 15.[^]
16. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, บทละครพูดเรื่อง เสียสละ บทละครพูดเรื่องหัวใจนักรบ และ หัวใจชายหนุ่ม (กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, 2518), หน้า 242.[^]
17. อัจฉราพร กมุทพิสมัย, กบฏ ร.ศ.130 : กบฏเพื่อประชาธิปไตย แนวคิดทหารใหม่ (กรุงเทพฯ : อมรินทร์วิชาการ, 2540), หน้า 134.[^]
18. เทพ บุญตานนท์, “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการสร้างภาพลักษณ์ทางการทหาร,” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556), หน้า 126 – 127.[^]
19. “แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่อง เครื่องบินซึ่งมีผู้บริจาคเงินซื้อให้แก่กองทัพบก,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 36, ตอนที่ 0 (23 พฤศจิกายน 2462): 2451.[^]
20. “แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่อง พ่อค้าจีนในกรุงเทพพระมหานครพร้อมใจกันบริจาคทรัพย์เพื่อซื้อเครื่องบิน,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 39, ตอนที่ 0 ง (28 พฤศจิกายน 2465): 504 – 507.[^]
21. “ประกาศ ตั้งตำแหน่งจเรทัพบกและเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 27, ตอนที่ ก (11 ธันวาคม 129): 49 – 50.[^]
22. แจ่มจันทร์ วงศ์วิเศษ, “การปรับปรุงกองทัพบกของไทยตามแบบตะวันตก ตั้งแต่ พ.ศ.2394-2475”, หน้า 170.[^]
23. “ประกาศ ตั้งตำแหน่งจเรทัพบกและเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 27, ตอนที่ ก (11 ธันวาคม 129): 49 – 50.[^]
24. หจช., ร.6 ก.20.1/4 สภาการทัพ ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน ร.ศ.129.[^]
25. “พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งกระทรวงทหารบก ทหารเรือ,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 27, ตอนที่ ก (11 ธันวาคม 129): 48 – 49.[^]
26. เรื่องเดียวกัน, หน้า 48 – 49.[^]
27. โรจน์ จินตมาศ, “แนวความคิดของผู้นำไทยเรื่อง "ชาติ" กับการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของไทย,” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2531), หน้า 69.[^]
28. เทพ บุญตานนท์, “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการสร้างภาพลักษณ์ทางการทหาร,” หน้า 191. [^]
29. กจช., ร.6 ต.15.4/1 พระราชหัตเลขาถึงพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2457. [^]
30. กจช., กต.65/6 หม่อมเจ้าไตรทศกับหม่อมเจ้าอมรทัตในเบอร์ลิน ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2457. [^]
31. สุจิรา ศิริไปล์, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสงครามโลก ครั้งที่หนึ่ง (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2528), หน้า 44. [^]
32. กจช., ร.6 ต.21/31 คำแปลพระราชโทรเลขของสมเด็จพระเจ้ายอร์ชถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 22 กันยายน 2458 [^]
33. เพ็ญพิสุทธิ์ อินทรภิรมย์, “บทบาทและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเซียวฮุดเสง พ.ศ.2450 – 2474,” หน้า 209.[^]
34. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, การสงครามป้อมค่ายประชิต : ปาฐกถา (พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒ ธนากร, 2459), หน้า 37.[^]
35. พันแหลม, “ประโยชน์แห่งเรือใต้น้ำ,” สมุทสาร 6 (มิถุนายน 2458): 7 – 12.[^]
36. รามจิตติ, “การจมแห่งเรือลูซิตาเนีย,” สมุทสาร 2 (สิงหาคม 2458): 54[^]
37. โรจน์ จินตมาศ, “แนวความคิดของผู้นำไทยเรื่อง "ชาติ" กับการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของไทย.” หน้า 98.[^]
38. โรจน์ จินตมาศ, “แนวความคิดของผู้นำไทยเรื่อง "ชาติ" กับการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของไทย.” หน้า 98.[^]
39. เพ็ญพิสุทธิ์ อินทรภิรมย์, “บทบาทและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเซียวฮุดเสง พ.ศ. 2450-2474, หน้า 213.[^]
40. เซียวฮุดเสง ศรีบุญเรือน, “ความอิศระเปนสิ่งที่ควรพยายามรักษาไว้ให้ได้” จีนโนสยามวราศัพท์. (17 กรกฎาคม 2460).[^]
41. เซียวฮุดเสง ศรีบุญเรือน, “ปาหน้าไกเซอร์” จีนโนสยามวราศัพท์. (11 มกราคม 2460).[^]
42. Vella, Walter F., Chaiyo ! King Vajiravudh and the Development of Thai Nationalism, p.97.[^]
43. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, “เห่เรือยุคใหม่ พระราชนิพนธ์รัชกาลปัตยุบัน,” สมุทสาร 2 (กุมภาพันธ์ 2457): 32 – 33.[^]
44. พันแหลม, “เหตุการณ์ยุทธทางทเล” สมุทสาร 4 (เมษายน 2458): 16.[^]
45. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, “ขอชวนท่านเป็นแมลงหวี่,” สมุทสาร 13 (มกราคม 2458): 14 - 27.[^]
46. เรื่องเดียวกัน, หน้า 15.[^]
47. เรื่องเดียวกัน, หน้า 21 – 22.[^]
48. โรจน์ จินตมาศ, “แนวความคิดของผู้นำไทยเรื่อง "ชาติ" กับการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของไทย.” หน้า 90.[^]
49. กรมพระนครสวรรค์วรพินิต, สมเด็จเจ้าฟ้า, “ตำนาน ร.พ.ต. “เสือคำรนสินธุ์”,” สมุทสาร 3 (มีนาคม 2457): 6.[^]
50. ประสิทธิ์ศุภการ, พระยา, “ของสำคัญในประเทศสยามในเวลานี้,” สมุทสาร 13 (มกราคม 2458): 197.[^]
51. ประสิทธิ์ศุภการ, พระยา, “ของสำคัญในประเทศสยามในเวลานี้,” สมุทสาร 13 (มกราคม 2458): 198.[^]
52. ดุสิตสมิต 2 (ธันวาคม-มกราคม-กุมภาพันธ์ 2461): 34.[^]
53. ดุสิตสมิต 52 (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2462): 113.[^]
54. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, “คำนำ,” ดุสิตสมิต 1 (ธันวาคม-มกราคม-กุมภาพันธ์ 2461): 7.[^]
55. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, บทละครพูดสลับลำเรื่องวิวาหพระสมุทร และบทละครสังคี เรื่อง มิกาโด (กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2518), หน้า (4).[^]
56. เรื่องเดียวกัน, หน้า 85.[^]
57. Vella, Walter F., Chaiyo ! King Vajiravudh and the Development of Thai Nationalism, p. 101.[^]
58. “แจ้งความราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 41, ตอนที่ 0 ง (27 กรกฎาคม 2467): 1326.[^]
59. กจช., ร.6 น.35/14 แจ้งความการรื่นเริงในฤดูหนาวที่สวนจิตรลดา มกราคม พระพุทธศักราช 2461 ลงวันที่ มกราคม 2461.[^]
60. นพวรรณ วชิราภิวัธน์, “พระวินิจฉัยของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดารงราชานุภาพเกี่ยวกับระบบราชการในช่วงพ.ศ. 2435 – 2458,” (วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2524), หน้า 222.[^]
61. พันแหลม, พันแหลม เล่ม 1 (ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2457), หน้า 3.[^]
62. สันดอน, “เรี่ยรายแลสร้างเรือรบ,” กรุงเทพเดลิเมล์ (13 พฤศจิกายน 2457).[^]
63. เทพ บุญตานนท์, “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการสร้างภาพลักษณ์ทางการทหาร,” หน้า 162.[^]
64. อัศวพาหุ, “ขอบใจเพื่อนจีน”, สมุทสาร 1 (มกราคม 2457): 95.[^]
65. สิริรัตน์ เกตุษเฐียร, “บทบาททางการเมืองของสมเด็จพระจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (พ.ศ. 2446 - พ.ศ. 2475),” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2522), หน้า 97.[^]
66. สุจิรา ศิริไปล์, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสงครามโลก ครั้งที่หนึ่ง, หน้า 93.[^]
67. กจช., กต. 65.16 ฝรั่งเศสขอไม้สัก, ไม้แก่น, คนพยาบาล, นักบินอาสา ลงวันที่ 5 กันยายน 2460.[^]
68. เริ่องเดียวกัน.[^]
69. ทรงศรี อาจอรุณ, “การแก้ไขสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิสภาพนอกอาณาเขต กับประเทศมหาอำนาจ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2502), หน้า 115.[^]
70. เรื่องเดียวกัน, หน้า 116.[^]
71. ทรงศรี อาจอรุณ, “การแก้ไขสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิสภาพนอกอาณาเขต กับประเทศมหาอำนาจ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,” หน้า 141 – 142.[^]
72. เรื่องเดียวกัน, หน้า 210.[^]