บทความ

นางในวรรณคดี พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

อุษา: บุปผชาติฉลาดเลือกภมร

ผู้เขียน สายป่าน ปุริวรรณชนะ
บรรณาธิการ ชนัญญา เตชจักรเสมา

เมื่อกล่าวถึง “ท้าวแสนปม” เชื่อแน่ว่าคงแทบจะไม่มีคนไทยคนไหนที่ไม่รู้จักตำนานว่าด้วยเรื่องของชายอัปลักษณ์ เนื้อตัวเต็มไปด้วยปุ่มปมน่ารังเกียจผู้ปลูกมะเขือไปถวายธิดาของกษัตริย์ซึ่งมีครรภ์ขึ้นหลังจากเสวยมะเขือนั้น แต่สุดท้ายแล้วชายอัปลักษณ์ก็ได้รับความช่วยเหลือจากเทวดาให้กลายเป็นกษัตริย์รูปงาม ได้ครองเมือง ครองรักกับธิดากษัตริย์อย่างมีความสุข ตลอดจนให้กำเนิด “พระเจ้าอู่ทอง” ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงเคยมีพระบรมราชวินิจฉัยถึงตำนานดังกล่าวนี้ไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง ประมวลพระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยาม ว่าตำนานนี้มีเค้าเรื่องมาจากประวัติศาสตร์ ทว่าได้รับการแต่งเติมเรื่องราวอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เสียจนกลายเป็นนิทานไป

พระราชดำริดังกล่าวนี้สัมพันธ์กับเนื้อเรื่องของพระราชนิพนธ์บทละครดึกดำบรรพ์เรื่อง ท้าวแสนปม ซึ่งพระองค์ทรงดัดแปลงเหตุการณ์มหัศจรรย์ในตำนานเดิมให้มีเหตุผลสมจริงขึ้น โดยทรงเล่าว่าพระชินเสนโอรสเจ้าเมืองศรีวิชัยปลอมพระองค์เป็นชายหนุ่มอัปลักษณ์ชื่อ “แสนปม” เหตุเพราะนำดินเขม่า ฝุ่นและสีแต้มจนดูคล้ายตัวเต็มไปด้วยปุ่มปมเพื่อไปลอบชมโฉมนางอุษา ธิดาเจ้าเมืองไตรตรึงษ์ นายแสนปมไปฝากตัวกับตาผู้ดูแลสวนหลวงกระทั่งมีโอกาสได้พบนางอุษา

เมื่อพบนางก็นึกรักจึงอธิษฐานให้นางนึกรักตนตอบและมองข้ามรูปโฉมภายนอกไป ฝ่ายนางอุษานั้นก็สังเกตท่าทางของนายแสนปมว่ามิน่าใช่ไพร่ธรรมดาเช่นกัน ฝ่ายนายแสนปมต้องการสานต่อความสัมพันธ์กับนางจึงนำมะเขือที่ใช้เหล็กจารเพลงยาวแสดงความในใจส่งขึ้นไปถวาย นางอุษาเองก็ฉลาดพอจะรู้ว่านายแสนปมนี้มิใช่ชายไพร่ จึงส่งสารตอบคำเกี้ยวพาซึ่งภายหลังนำมาเป็นเนื้อร้องเพลง “สาส์นรัก” ดังนี้

			“ในลักษณ์นั้นว่าน่าประหลาด	เป็นเชื้อชาตินักรบกลั่นกล้า
		เหตุไฉนย่อท้อรอรา			ฤๅจะกล้าแต่เพียงวาที
		เห็นแก้วแวววับที่จับจิต			ไยไม่คิดอาจเอื้อมให้ถึงที่
		เมื่อไม่เอื้อมหรือจะได้อย่างไรมี		อันมณีหรือจะโลดไปถึงมือ
		อันของสูงแม้ปองต้องจิต			ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้หรือ
		มิใช่ของตลาดที่อาจซื้อ			หรือแย่งยื้อถือได้โดยไม่ยอม
		ไม่คิดสอยมัวคอยดอกไม้ร่วง		คงชวดดวงบุปผชาติสะอาดหอม
		ดูแต่ภุมรินเที่ยวบินดอม			จึ่งได้ออมอบกลิ่นสุมาลี”

ต่อมาทั้งสองลักลอบมีสัมพันธ์รักกันจนนางอุษาตั้งครรภ์ ทว่าพระชินเสนมีเหตุต้องกลับเมืองศรีวิชัยไปก่อน กระทั่งเมื่อนางอุษาประสูติโอรส โหรทำนายว่าวันข้างหน้ากุมารนั้นจะได้เป็นท้าวพญามหากษัตริย์ ท้าวไตรตรึงษ์ผู้เป็นตาจึงเสี่ยงทายหาบิดาของโอรสนางอุษาโดยให้บรรดาชายหนุ่มถือขนมนมเนยเข้ามาให้กุมารเลือก แต่กุมารกลับไม่เลือกของสิ่งใด เว้นแต่ก้อนข้าวเย็นของนายแสนปมเท่านั้น ท้าวไตรตรึงษ์กริ้วมากตรัสบริภาษต่างๆ นานา นายแสนปมจึงตีกลองอินทเภรีเป็นสัญญาณให้ไพร่พลที่ซุ่มอยู่กรูกันเข้ามาในเมือง ท้าวไตรตรึงษ์เห็นดังนั้นก็ทราบว่าแท้จริงแล้วนายแสนปมคือพระชินเสน จึงได้ยกพระธิดาให้

หากเปรียบผู้หญิงเป็นดอกไม้ เปรียบผู้ชายเป็นแมลง นางอุษาในพระราชนิพนธ์บทละครดึกดำบรรพ์เรื่องท้าวแสนปมก็จัดว่าเป็นบุปผชาติที่ฉลาดเลือกภมร เนื่องด้วยเพียงแค่ได้อ่านสารรักบนผลมะเขือก็สามารถคาดเดาได้ว่าผู้ส่งสารมีสถานภาพสูงส่งคู่ควรกับตนเอง ทั้งกล้าที่จะสานสัมพันธ์รักตอบเมื่อแน่ใจแล้วว่าชายผู้นั้นรักนางจริง ความรักของนางจึงลงเอยด้วยความสมหวังเหมาะควรทุกประการ

บรรณานุกรม

มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ประมวลพระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยาม. พระนคร: 
	กรมศิลปากร, ๒๔๙๖.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. มัทนะพาธา, บทละคอนพูดคำฉันท์ และบทละครเรื่องท้าวแสนปม. 
	พระนคร: ศิลปาบรรณาคาร, ๒๕๑๓.
	



เชิญพบกับอุษาได้ใน ท้าวแสนปม ฉบับดิจิทัลออนไลน์เปิดอ่านได้ฟรี

http://eresource.car.chula.ac.th/chula-ebooks/redirect.php?name=K6-60020