จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แรกกำเนิดขึ้นโดยพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเปลี่ยนแปลงกรมมหาดเล็ก เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2441 ทรงจัดตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือนขึ้น เพื่อจัดการศึกษาแก่กุลบุตรให้มีความรู้ความสามารถพร้อมที่จะเข้ารับราชการ เริ่มจัดการเรียนการสอนใน พ.ศ. 2442 ต่อมาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2445 จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก สนองพระบรมราโชบายในด้านความเสมอภาคและโอกาสทางการศึกษาให้แก่ทวยราษฎร์ของพระองค์อย่างทั่วถึงทัดเทียมกัน
ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริที่จะขยายการโรงเรียนของพระบรมราชชนกนาถให้กว้างขวางถึงระดับอุดมศึกษา ให้เป็นสง่าแก่พระนครต่อไป จึงทรงสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็นโรงเรียนชั้นอุดมศึกษา พระราชทานนามว่า “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ใช้วังของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ที่ตำบลวังใหม่ เป็นสถานที่และพระราชทาน “เงินหางม้า” หรือเงินเหลือจากที่ราษฎรเรี่ยไรเพื่อสร้างพระบรมรูปทรงม้าสมเด็จพระปิยมหาราช เป็นทุนปลูกสร้างมหาวิทยาลัยในภายภาคหน้า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดที่ดินพระคลังข้างที่ไว้เป็นเขตโรงเรียน ทิศเหนือจดถนนสระประทุม ทิศใต้จดถนนหัวลำโพง ทิศตะวันออกจดถนนสนามม้า ทิศตะวันตกจดคลองสวนหลวง รวมเนื้อที่ 1,309 ไร่ นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2457 กับ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกบัญชาการอันเป็นรากฐานของมหาวิทยาลัยขึ้น ทางด้านถนนสนามม้าแล้วเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาพระฤกษ์ เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2458 ต่อมาในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 จึงมีประกาศพระบรมราชโองการประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย ปรากฏความในประกาศประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนหนึ่งว่า “เพื่อเป็นอนุสสาวรีย์สมพระเกียรติแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง”
( จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย. ประวัติจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย 2459-2509. 2510 )
พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระปิยมหาราช ตั้งพระราชหฤทัยจะทรงอุปถัมภ์ให้การฝึกหัดกุลบุตร สำหรับเข้ารับราชการเป็นการมั่นคงสำหรับประเทศบ้านเมืองต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกวิชาฝึกหัดฝ่ายข้าราชการพลเรือนจากกระทรวงมหาดไทย ตั้งขึ้นเปนโรงเรียนต่างหาก เรียกว่าโรงเรียนมหาดเล็ก
( ธรรมศักดิ์มนตรี, พระยา. โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในล้อมรั้ว ม.ป.ท. : ม.ป.พ. หน้า 11-27 )
พระเกี้ยวเป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศา หรือพระเศียรของพระราชโอรส และพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ คำว่า เกี้ยว ถ้าเป็นคำนามแปลว่า เครื่องประดับศีรษะหรือเครื่องสวมจุก ถ้าเป็นคำกริยาแปลว่าผูกรัดหรือพัน พระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภูมิใจ ทั้งนี้สืบเนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในสมเด็จพระปิยมหาราช ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้ จุฬาลงกรณ์ แปลว่า เครื่องประดับศีรษะหรือจุลมงกุฎ จุลมงกุฎมี ความหมายสำคัญยิ่งคือเกี่ยวโยงถึงพระนามาภิไธยเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ จึงมีความหมายว่า จุลมงกุฎ หรือพระราชโอรสของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ยิ่งกว่านั้น ยังมีความเกี่ยวพันถึงพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีหมายความว่า “พระจอมเกล้าน้อย” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้พระเกี้ยวเป็นพิจิตรเรขา (สัญลักษณ์) ประจำรัชกาลของพระองค์ เมื่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือนหรือโรงเรียนมหาดเล็ก จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระเกี้ยว เป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียนมหาดเล็ก ต่อมาเมื่อโรงเรียนมหาดเล็กกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายของโรงเรียนก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่กราบบังคมทูลขอพระราชทาน เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กได้วิวัฒน์ขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารก็ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เปลี่ยนข้อความใต้พระเกี้ยวตามชื่อซึ่งได้รับพระราชทานใหม่ตลอดมา พระเกี้ยวองค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตึกจักรพงษ์ เป็นพระเกี้ยว ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เพื่อสร้างจำลองจากพระเกี้ยวจริงที่ประดิษฐานอยู่ในพระคลังมหาสมบัติในพระบรมมหาราชวัง มหาวิทยาลัยสร้างเมื่อ พ.ศ. 2529 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเจิม และทรงพระสุหร่ายที่องค์พระเกี้ยว แล้วพระราชทานแก่มหาวิทยาลัยต่อหน้าประชาคมจุฬาฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา 2531 (13 กรกฎาคม 2532)
( จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2559)