บทความ

นางในวรรณคดี พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

อันโดรเมดา: นางในตำนานปรัมปราเพื่อแสนยานุภาพทางทะเล

ผู้เขียน สายป่าน ปุริวรรณชนะ
บรรณาธิการ ชนัญญา เตชจักรเสมา

		“อันโดรเมดาสุดาสวรรค์		ยิ่งกว่าชีวันเสน่หา
		ขอเชิญสาวสวรรค์ขวัญฟ้า		เปิดวิมานมองมาให้ชื่นใจ
		ถึงกลางวันสุริยันแจ่มประจักษ์		ไม่เห็นหน้านงลักษณ์ยิ่งมืดใหญ่
		ถึงราตรีมีจันทร์อันอำไพ		ไม่เห็นโฉมประโลมใจยิ่งมืดมน
		อ้าดวงสุริย์ศรีของพี่เอ๋ย		ขอเชิญเผยหน้าต่างนางอีกหน
		ขอเชิญจันทร์แจ่มกระจ่างกลางสากล	เยี่ยมมาให้พี่ยลเยือกอุรา”

หลายคนน่าจะเคยได้ยินเพลง “คลื่นกระทบฝั่ง” หนึ่งในเพลงไทยเดิมที่นักดนตรีไทยมักนำมาขับร้องและบรรเลงในโอกาสมงคลต่างๆ ร่วมกับเพลง “บังใบ” และเพลง “แขกสาหร่าย” ซึ่งประกอบกันเข้าเป็นเพลงชุด “ตับวิวาห์พระสมุทร” เหตุที่เรียกอย่างนี้ก็เพราะเนื้อร้องของทั้งสามเพลงนำมาจากบทพระราชนิพนธ์ละครพูดสลับลำ วิวาหพระสมุท ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในครั้งนั้นทรงใช้พระนามแฝงว่า “ศรีอยุธยา” เห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงนำเค้าเรื่องนี้มาจากเทพปกรณัมกรีกซึ่งเล่าถึง “นางอันโดรเมดา (Andromeda)” ธิดาของท้าวซีฟิอัส (Cepheus) กับนางแคสสิโอเปีย (Cassiopeia) ที่กำลังจะถูกสังเวยให้แก่โพไซดอน เทพแห่งมหาสมุทรโดยมีวีรบุรุษชื่อ “เพอร์ซุส (Perseus)” มาช่วยนางไว้และได้สมรสกับนาง ทว่าทรงดัดแปลงจนกลายเป็นเรื่องดังนี้

นางอันโดรเมดาเป็นธิดาของท้าวมิดัส กษัตริย์แห่งเกาะอัลฟะเบตาในสมัยกรีกโบราณ นางรักกับเจ้าชายอังเดร แต่พระบิดาไม่ยอมยกให้เพราะพระบิดาของเจ้าชายอังเดรมีฐานะยากจน ยิ่งไปกว่านั้นชาวเกาะอัลฟะเบตายังมีความเชื่อว่าทุกๆ ๑๐๐ ปีจะต้องสังเวยหญิงสาวแก่พระสมุทร เมื่อใกล้ถึงเวลาสังเวยปรากฏว่ามีเรือรบอังกฤษชื่อ “อ๊อกสฟอร์ด” มาเทียบท่าที่เกาะ ชาวเกาะเห็นนายเต๊กหลี เจ๊กบ๋อยของเรือซึ่งไว้หางเปียก็เข้าใจว่าเป็นคนประหลาดมีหางบนหัว เต๊กหลีจึงรับสมอ้างว่าตนเป็นบริวารของพระสมุทรมารับเครื่องสังเวย โดยทำอุบายร่วมกับคอนแสตนตีโนส สหายของโยฮันนิส หลานชายของคริสโตเฟอร์บาทหลวงประจำเกาะว่าถ้าท้าวมิดัสประกอบพิธีสังเวยเมื่อไร ตนจะชี้บอกว่าคอนแสตนตีโนสเป็นตัวแทนพระสมุทรมาวิวาห์กับเจ้าหญิงอันโดรเมดา

เคราะห์ดีที่ฝ่ายนางอันโดรเมดากับเจ้าชายอังเดรบังเอิญรู้อุบายของพวกคอนแสตนตีโนสจึงส่งนางพี่เลี้ยงชื่อแมรี่ ริดเด็ลล์ ไปขอความช่วยเหลือจากนาวาเอกเอ็ดเวอร์ด ไลออน ผู้บังคับการเรือรบอ๊อกสฟอร์ด นาวาเอกไลออนจึงนำทหารเรือติดอาวุธมาร่วมพิธีสังเวย ทหารเรืออังกฤษใช้ดาบปลายปืนจี้บาทหลวงคริสโตเฟอร์จนต้องจำใจยอมรับว่านาวาเอกไลออนเป็นตัวแทนที่แท้จริงของพระสมุทรเนื่องจากเป็นผู้บังคับการเรือรบของอังกฤษ มีอำนาจเหนือท้องทะเล ส่วนเต๊กหลีเองก็ไม่กล้าโกหกตามอุบายเดิม

จากนั้นนาวาเอกไลออนจึงกล่าวว่าเจ้าชายอังเดรซึ่งขณะนั้นสวมเครื่องแบบราชนาวีอังกฤษแล้วถือเป็นเครือญาติของพระสมุทร สมควรให้นางอันโดรเมดาอภิเษกด้วย ส่วนตนเองก็สมรสกับแมรี่ ริดเด็ลล์ พี่เลี้ยงของเจ้าหญิง นำมาซึ่งความยินดีของชาวเกาะอัลฟะเบตาทุกคน

ไม่เพียงแต่เค้าเรื่องเท่านั้น หากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำเอา “เรื่องตะวันตก” มาดัดแปลงสร้างสรรค์ขึ้นเป็นพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องวิวาหพระสมุทได้อย่างลงตัว อาทิ ชื่อ “ท้าวมิดัส” พระบิดาของนางอันโดรเมดาก็ทรงนำมาจากชื่อ “ท้าวไมดัส (Midas)” กษัตริย์โง่เขลา มีหูเป็นหูลาในเทพปกรณัมกรีก ทั้งยังทรงเน้นย้ำพระราชดำริเรื่องความสำคัญของแสนยานุภาพทางทะเลอันเนื่องมาจากการมีเรือรบที่ทันสมัย “อย่างอังกฤษ” ด้วยการพระราชนิพนธ์ให้นาวาเอกไลออน ผู้บังคับการเรือรบอ๊อกสฟอร์ด เป็นผู้คลี่คลายปมปัญหาของเรื่องให้จบลงด้วยความสุขสมหวัง สอดคล้องกับพระราชประสงค์ในการพระราชนิพนธ์เพื่อนำมาแสดงตามคำกราบบังคมทูลของกองเสือป่าหลวงรักษาพระองค์ในการระดมทุนจัดซื้อ “เรือรบหลวงพระร่วง” ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑

หากพิจารณาจากพระราชประสงค์ในการพระราชนิพนธ์ ก็อาจกล่าวได้ว่าชื่อของ “นางอันโดรเมดา” มิได้เป็นเพียง “นางในตำนานปรัมปรา” อีกต่อไป ทว่าได้กลายมาเป็น “นางเอก” ผู้มีส่วนสร้างแสนยานุภาพให้แก่ราชนาวีไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย

บรรณานุกรม
ภาษาไทย
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. หนามยอกเอาหนามบ่ง สำนวนแรก และวิวาหพระสมุท. กรุงเทพฯ: 
	มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๐.
	
ภาษาอังกฤษ
Hamilton, Edith. Mythology: Timeless Tales of Gods and Heroes. New York: Warner Books, 
	1999.
	



เชิญพบกับอันโดรเมดาได้ใน วิวาหพระสมุท ฉบับดิจิทัลออนไลน์เปิดอ่านได้ฟรี

http://eresource.car.chula.ac.th/chula-ebooks/redirect.php?name=53_0071