บทความ

นางในวรรณคดี พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ศกุนตลา: มารดาแห่งภารตวรรษ

ผู้เขียน สายป่าน ปุริวรรณชนะ
บรรณาธิการ ชนัญญา เตชจักรเสมา

ในบรรดา “นางในวรรณคดีพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖” เชื่อแน่ว่า “ชื่อ” ของนางศกุนตลาน่าจะเป็นที่คุ้นหูของคนไทยมากที่สุดชื่อหนึ่ง นอกจากนี้หลายคนคงพอจะรู้จักเรื่องราวของนางบ้างแล้วว่าศกุนตลาเป็นธิดาของพระมหาฤๅษีวิศวามิตรกับนางอัปสรเมนกาซึ่งถูกพระอินทร์ส่งมาทำลายตบะของพระฤๅษีนั่นเอง ด้วยเหตุนี้หลังจากที่มารดาคลอดนางออกมาจึงได้ทิ้งนางไว้โดยมีฝูงนกคอยดูแล เป็นที่มาของชื่อ “ศกุนตลา” หมายถึง นางนกเลี้ยง ต่อมาเมื่อพระกัณวะฤๅษีมาพบเข้าจึงได้นำมาเลี้ยงดูในฐานะธิดาบุญธรรม นางศกุนตลาเจริญวัยขึ้นก็มีรูปโฉมงดงามตามที่บทพระราชนิพนธ์พรรณนาไว้ว่า

			“ดูผิวสินวลละอองอ่อน	มะลิซ้อนดูดำไปหมดสิ้น
		สองเนตรงามกว่ามฤคิน        	นางนี้เปนปิ่นโลกา
		งามโอษฐ์ดังใบไม้อ่อน           	งามกรดังลายเลขา
		งามรูปเลอสรรขวัญฟ้า          	งามยิ่งบุปผาเบ่งบาน
		ควรฤๅมานุ่งคากรอง            	ควรแต่เครื่องทองไพศาล
		ควรแต่เปนยอดนงคราญ         	ควรคู่ผู้ผ่านแผ่นไผท” 

ความงามล้ำเลิศนี้ทำให้นางได้พบรักกับ “ท้าวทุษยันต์” กษัตริย์แห่งหัสตินาปุระซึ่งเสด็จตามกวางดำจนหลงทางมายังอาศรมของพระกัณวะฤๅษี ทั้งสองมีสัมพันธ์รักอย่างลึกซึ้งทางใจและกาย ท้าวทุษยันต์จึงมอบธำมรงค์ (แหวน) ให้นางเป็นเครื่องแทนความรักก่อนเสด็จกลับบ้านเมืองไปเตรียมการอภิเษกนางเป็นมเหสี ทว่าระหว่างที่ท้าวทุษยันต์จากไป นางศกุนตลาก็เป็นทุกข์มากกระทั่งจิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว จนมิได้ต้อนรับ “พระฤๅษีทุรวาส” ผู้มาเยือนอาศรมของพระกัณวะ พระฤๅษีทุรวาสเจ้าโทสะจึงสาปนางให้สวามีจดจำนางไม่ได้ ภายหลังเมื่อคลายโกรธก็กล่าวแก้ให้ท้าวทุษยันต์จำนางได้เองเมื่อได้เห็นของที่มอบให้นางไว้เป็นที่ระลึก

ต่อมาฤๅษีกัณวะได้ส่งตัวนางศกุนตลาซึ่งกำลังตั้งครรภ์ให้ไปสู่ราชสำนักของท้าวทุษยันต์ แต่ในระหว่างทางได้ทำธำมรงค์ของท้าวทุษยันต์หล่นลงในแม่น้ำ ปลาใหญ่ตัวหนึ่งกลืนแหวนนั้นไว้ในท้อง ส่งผลให้ท้าวทุษยันต์จำนางไม่ได้เมื่อได้พบกันกลางท้องพระโรงเมืองหัสตินาปุระ นางศกุนตลาจึงน้อยใจถึงแก่บริภาษตัดพ้อสวามีก่อนตั้งใจจะจากไป แต่โสมราตมหาดเล็กของท้าวทุษยันต์กลับทูลเตือนไว้ว่าให้รอดูลักษณะของบุตรในครรภ์นางศกุนตลาเมื่อคลอดออกมาก่อนว่าจะมีลักษณะของมหาบุรุษหรือไม่ ทุษยันต์จึงมอบหน้าที่ให้โสมราตจัดการ เมื่อเห็นนางร่ำไห้เสียใจจึงเกิดความสงสัยและตัดสินใจตั้งสัตยาธิษฐานให้มีลางปรากฏหากสิ่งที่นางพูดเป็นความสัตย์ ปรากฏว่ามีนางอัปสรเหาะลงมาอุ้มนางศกุนตลาหายไป

หลังจากที่นางศกุนตลาไปแล้วชาวประมงซึ่งจับปลาที่กลืนธำมงรงค์ของนางศกุนตลาได้ก็ถูกนำตัวมาเฝ้าท้าวทุษยันต์ เมื่อท้าวทุษยันต์ได้เห็นแหวนจากในท้องปลาความทรงจำของพระองค์ต่อนางอันเป็นที่รักจึงได้กลับคืนมาทำให้เสียพระทัยมาก สุดท้ายพระอินทร์ช่วยเหลือให้ทั้งสองได้กลับมาพบกันอีกครั้งหลังจากให้ท้าวทุษยันต์ไปปราบอสูรกาลเนมี นางศกุนตลาจึงได้อภิเษกเป็นมเหสีแห่งหัสตินาปุระโดยสมบูรณ์ ส่วนโอรสของนาง ได้แก่ ท้าวภรต ผู้เป็นบรรพบุรุษของกษัตริย์ในตำนานอินเดียทั้งหลาย รวมถึงกษัตริย์ปาณฑพและเการพผู้ก่อสงครามมหาภารตยุทธ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชาธิบายที่มาของบทพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ว่า “เรื่องศกุนตลานี้ ต้นเรื่องอยุ่ในมหาภารต เปนเรื่องเกร็ดอันหนึ่ง (หรือเรียกตามภาษาสันสกฤตว่า “อุปาขฺยาณ” มีนามปรากฏว่า “ศกุนฺตโลปาขฺยาณ”...ต่อมาภายหลังยุคมหาภารต มีจินตกวีชื่อกาลิทาส ได้เก็บความมานิพนธ์ขึ้นเป็นเรื่องลครชนิดที่เรียกว่า “นาฏะกะ” คือเปนคำพากย์คำเจรจาคล้ายๆ โขนของเรา” แม้จะทรงนำตัวเรื่องนิทานมาจากบทละครเรื่องอภิชญาณศากุนตลัม (Abhijñānaśākuntalam) ของกาลิทาสฉบับแปลภาษาอังกฤษของเซอร์วิลเลียม โจนส์ เทียบเคียงกับฉบับของเซอร์โมนิแยร์ วิลเลียมส์ ทว่าพระองค์ก็รับสั่งอย่างชัดเจนว่า “การแต่งบทลครเรื่องศกุนตลาเปนภาษาไทยนี้ ฃ้าพเจ้าตั้งรูปตามใจฃ้าพเจ้าเอง คือให้เหมาะแก่การจะเล่นเปนลครอย่างไทยได้ ไม่ได้ดำเนินตามแบบนาฏกะฉบับเดิม แต่หาได้คิดเพิ่มเติมข้อความอันใดลงไปโดยอำเภอใจนอกเรื่องไม่” ยิ่งไปว่านั้นยังทรงให้รายละเอียดอีกด้วยว่า “ศกุนตลาเปนนาฏะกะซึ่งชาวยุโรปตื่นเต้นกันมากกว่าทุกเรื่อง” อันน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทรงพระราชนิพนธ์ “แปลแต่ง” บทละครสันสกฤตเรื่องนี้เป็นบทละครไทย

ทั้งนี้ความน่าสนใจของตัวละครนางศกุนตลาในบทพระราชนิพนธ์ประการหนึ่งมาจากการที่นางเป็น “ต้นวงศ์” ของกษัตริย์ทั้งปวง กระทั่งการเรียกชื่อประเทศอินเดียว่า “แดนภารตะ-ภารตวรรษ-ภารตประเทศ” ก็สืบเนื่องมาแต่นามของ “ท้าวภรต” โอรสของนางศกุนตลากับท้าวทุษยันต์นี่เอง

แรกสุดเมื่อพิจารณาจากชาติกำเนิด เห็นชัดว่านางศกุนตลามีกำเนิดที่สูงส่ง กล่าวคือ เป็นเชื้อสายของบุคคลผู้เป็นทั้งกษัตริย์และมหาฤๅษีอย่าง “พระวิศวามิตร” ซึ่งโดยตัวของพระวิศวามิตรผู้นี้ก็เรียกได้ว่ายิ่งใหญ่และแกร่งกล้าจนสามารถข้ามจากฐานะ “ราชฤๅษี” (ฤๅษีวรรณะกษัตริย์) สู่ “พรหมฤๅษี” (ฤๅษีวรรณะพราหมณ์ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของฤๅษีทั้งปวง) เทียบเท่ากับพระมหาฤๅษีวสิษฐ์โอรสของพระพรหมผู้เป็นหัวหน้าของฤๅษีทั้งปวงเลยทีเดียว ส่วนมารดาของนางก็ได้แก่ “นางอัปสรเมนกา” ผู้ทรงทิพยภาวะและความงามเป็นเลิศ

ใช่แต่จะมีกำเนิดสูงส่งและมีความงามล้ำเลิศที่กล่าวถึงไปแล้วเท่านั้น ในด้านอุปนิสัยนางศกุนตลาก็ถือว่าเป็น “สตรีผู้เด็ดขาด” รวมถึงฉลาดในการเจรจาซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของนางกษัตริย์ กล่าวคือ เมื่อท้าวทุษยันต์ไม่มีทีท่าว่าจะระลึกได้ว่านางเป็นใคร นางก็กล้าบริภาษพระองค์กลางท้องพระโรงและตัดสินใจจากไปโดยไม่ร่ำไรขอร้อง

			“ทรงภพ                 	ผู้เปนโปรพฦๅสาย
		พระองค์เองไม่มียางอาย          	พูดง่ายย้อนยอกกลอกคำ
		มาหลอกชมดมเล่นเสียเปล่าๆ      	ทิ้งฃ้าคอยสร้อยเศร้าทั้งเช้าค่ำ
		เด็ดดอกไม้ไปดมชมจนช้ำ           	ไม่ต้องจดจำนำพา
		เหมือนผู้ร้ายย่องเบาเฃ้าลักทรัพย์	กลัวเขาจับวิ่งปร๋อไม่รอหน้า
		จงทรงพระเจริญเถิดราชา           	ฃ้าขอลาแต่บัดนี้ไป”

ยิ่งไปกว่านั้น สืบเนื่องจากเหตุการณ์นี้ในบทละครเรื่องศกุนตลายังได้เน้นย้ำภาพลักษณ์ความเป็น “สตรีผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง” ของนางด้วยเหตุการณ์ที่โสมราตมหาดเล็กของท้าวทุษยันต์ตั้งสัตยาธิษฐานให้มีสิ่งบ่งบอกว่านางศกุนตลามีได้ทูลความเท็จ ก็ปรากฏว่ามีนางอัปสรมารับนางหายไปอยู่กับพระกัศยปเทพบิดรและพระนางอทิติเทพมารดร

ความสำคัญของบทพระราชนิพนธ์เรื่องศกุนตลานอกจากจะเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำตัวเรื่องมาจากบทละครของกาลิทาส กวีเอกของอินเดียแล้ว บทพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ยังเป็นวรรณคดีอินเดียเรื่องแรกที่พระองค์ทรงนำมาเผยแพร่ในวงวรรณคดีไทย ประกอบด้วยภาษาวรรณศิลป์อันงดงามไพเราะผสานกับเนื้อเรื่องที่สนุกสนาน ทั้งยังทรงดัดแปลงวรรณคดีนิทานเรื่องนี้เป็นสำนวนต่างๆ อีกหลายสำนวน

บรรณานุกรม

ภาษาไทย
ประเทือง ทินรัตน์. ศกุนตลา: การศึกษาเชิงวิเคราะห์ที่มาและความสัมพันธ์กับฉบับต่างๆ. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร
	มหาบัณฑิต(วรรณคดีเปรียบเทียบ) บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2526.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ศกุนตลาสำนวนต่างๆ พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี
	ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม หม่อมเจ้าดุลภากร วรวรรณ จัดพิมพ์เนื่องในงานพระราชทาน
	เพลิงศพหม่อมสิรี วรวรรณ ณ อยุธยา ณ เมรุวัดธาตุทอง วันที่ 15 มีนาคม 2521. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา
	ลาดพร้าว, 2521.
ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา. ภารตนิยาย. กรุงเทพฯ: แม่คำผาง, 2547. 

ภาษาอังกฤษ
Kālidāsa. Abhijñāna-Śākuntala. Delhi: Motilal Banarsidass, 1972.




เชิญพบกับศกุนตลาฉบับดิจิทัลออนไลน์เปิดอ่านได้ฟรี

  1. ศกุนตลา : สำนวนต่างๆ (บทละครดึกดำบรรพ์)

    http://eresource.car.chula.ac.th/chula-ebooks/redirect.php?name=clra50_0103


  2. ศกุนตลา (บทละครรำ)

    http://eresource.car.chula.ac.th/chula-ebooks/redirect.php?name=cl52_0032