พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชประวัติ



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ประสูติ เมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตร ศิริวัฒนราชกุมาร ทรงได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า กรมหมื่นพิฆเณศวรสุรสังกาศ หลังจากทรงผนวชเป็นสามเณรทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ทรงเป็นพระราชปิโยรสที่สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดให้เสด็จอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เสมอเพื่อให้มีโอกาสแนะนำสั่งสอนวิชาการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชารัฏฐาภิบาล ราชประเพณีและโบราณคดี นอกจากนั้นยังทรงศึกษาภาษามคธ ภาษาอังกฤษ การยิงปืนไฟ กระบี่กระบอง มวยปล้ำ รวมทั้งการบังคับช้างอีกด้วย

ครองราชย์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการกราบบังคมทูลเชิญขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากสมเด็จพระบรมราชชนกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ด้วยพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2411 โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 จึงทรงปกครองแผ่นดินด้วยพระองค์เองอย่างสมบูรณ์ ทรงครองราชย์อยู่เป็นเวลายาวนานถึง 42 ปี และได้ทรงพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศทุกวิถีทาง

สวรรคต

ในบั้นปลายพระชนมชีพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์นัก หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 แล้ว พระอาการก็ค่อยทรุดลงเป็นลำดับ และเสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระวักกะพิการเมื่อเวลา 2 ยาม 45 นาที ของวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สิริพระชนมายุ 58 พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติ 42 ปี ทรงมีพระราชโอรส พระราชธิดารวมทั้งสิ้น 77 พระองค์ ด้วยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อไพร่ฟ้าประชาชนอย่างหาที่สุดมิได้มาตลอดรัชกาลอันยาวนาน ประชาชนจึงพร้อมใจกันถวายพระบรมราชสมัญญานาม ว่า สมเด็จพระปิยมหาราช อันมีความหมายว่า พระมหากษัติรย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน และถือวันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันปิยมหาราชมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

พระมเหสีเทวีในรัชกาลที่ 5

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอัครมเหสี พระมเหสี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม หลายพระองค์/ท่าน ดังจะกล่าวถึงบางพระองค์ดังนี้

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ (พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2407 มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี ได้ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระภรรยาเจ้าใพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระเชษฐภคินีอีก 2 พระองค์ดังกล่าวแล้ว และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปเมื่อ พ.ศ. 2440 ได้ทรงมอบหมายให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินได้เรียบร้อยเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่ง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามาภิไธยจาก สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี เป็น สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ จึงทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกของประเทศไทย ทั้งยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์สภานายิกาสภากาชาดไทยพระองค์แรกอีกด้วย สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงเป็นพระบรมราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี ได้ทรงมีพระราชดำรัสสั่งให้ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระบรมราชชนนีว่า"สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี" เสด็จสวรรคตเมื่อวันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2462 พระชนมายุ 55 พรรษา

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) เมื่อวันที่ 10 กันยายน มกราคม พ.ศ. 2405 มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ได้ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระภรรยาเจ้าใพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระเชษฐภคินีอีก 2 พระองค์ พระองค์ทรงเป็นพระราชชนนีของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทย ทรงเป็นพระมาตุจฉาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระอัยยิกาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงดำรงตำแหน่งองค์สภาชนนีสภาอุณาโลมแดงอันเป็นชื่อของสภากาชาดไทยเมื่อครั้งแรกตั้งในต้นรัชกาลที่ 5 พระองค์แรกและพระองค์เดียว และองค์สภานายิกาสภากาชาด พระองค์ที่ 2 และยังได้ทรงสร้างสถานพยาบาลซึ่งปัจจุบันคือ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสภากาชาด เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงได้รับการประกาศยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพและการอนุรักษ์พัฒนาด้านวัฒนธรรม เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 150 ปีวันพระราชสมภพ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี (พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2403 มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงรับราชการฝ่ายในเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระขนิษฐาร่วมพระโสทรอีก 2 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) และพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุเรือพระประเทียบล่ม ณ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี (ปัจจุบันนี้คือ วัดกู้) เมื่อวันที่31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อัครวรราชกุมารี พระราชธิดา และพระราชบุตรในพระครรภ์ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ระหว่างการตามเสด็จฯพระบรมราชสวามีแปรพระราชฐานไปประทับยังพระราชวังบางปะอิน ภายหลังการสิ้นพระชนม์ ทรงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ดำรงพระฐานันดรศักดิ์พระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เจ้าดารารัศมี พระราชชายา (เจ้าดารารัศมี พระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์แห่งนครเชียงใหม่)

ทรงเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 และแม่เจ้าเทพไกรสรพระมหาเทวี (นามเดิม ทิพเกสร) ประสูติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2416 ได้ตามพระบิดาลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพเมื่อ พ.ศ. 2429 และได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณฝ่ายในตำแหน่งเจ้าจอม ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนฐานานุศักดิ์เป็นพระสนมเอกและพระราชชายาในตำแหน่งพระอัครมเหสีตามลำดับหลังมีพระประสูติกาลพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี พระองค์ทรงมีความจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างสูง ทรงปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ อย่างดียิ่งจนเป็นที่รักใคร่นับถือโดยทั่วไป และทรงมีบทบาทในการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระบรมราชจักรีวงศ์กับดินแดนล้านนา ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไปในทางที่ดี ยังประโยชน์แก่ราชอาณาจักรสยามและหัวเมืองฝ่ายเหนือเป็นอย่างยิ่ง หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระราชชายาได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบถวายบังคมทูลลาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตินครเชียงใหม่เป็นการถาวรเมื่อ พ.ศ. 2457 ในบั้นปลายแห่งพระชนมชีพพระองค์ประทับอยู่ที่พระตำหนักดาราภิรมย์ ณ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม อันเป็นตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างพระราชทานเป็นเวลานานถึง 20 ปี โดยทรงใช้ตำหนักหลังนี้ปฏิบัติพระกรณียกิจอันเป็นคุณูปการแก่ชาวเหนือในทุกๆ ด้าน ได้ทรงทดลองปลูกกุหลาบพันธุ์ใหม่และทรงตั้งชื่อถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบรมราชสวามีว่า กุหลาบ “จุฬาลงกรณ์” และสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ณ คุ้มรินแก้ว สิริพระชันษา 60 ปี 3 เดือน 13 วัน ในการนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศกุดั่นน้อยและเครื่องสูง 1 สำรับ และให้ข้าราชบริพารไว้ทุกข์มีกำหนด 7 วัน เป็นเกียรติยศ


พระราชกรณียกิจ



การปกครอง

เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นไปของโลก และด้วยทรงตระหนักถึงภยันตรายของลัทธิแสวงหาอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกที่กำลังแผ่เข้ามาในเวลานั้น จึงทรงพยายาม ปรับปรุงระบบการปกครองให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการปฏิรูประเบียบวิธีการปกครองให้ทันสมัยขึ้นหลายอย่าง โดยทรงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้เหมาะสมกับยุคสมัยหลายประการ อาทิเช่น
  • ทรงตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและสภาองคมนตรีเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในปี พ.ศ. 2417
  • ทรงประกาศตั้งกระทรวง 12 กระทรวง ในปี พ.ศ. 2435
  • ทรงยกเลิกการจัดเมืองเป็นชั้นเอก โท ตรี จัตวา เป็นการปกครองแบบเทศาภิบาลคือรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑล
  • มีการตราพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ทีละมณฑลภายใต้การกำกับดูแลของข้าหลวงเทศาภิบาลที่ส่งไปจากส่วนกลาง โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2437
  • โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกระบบไพร่ ระบบทาส เพื่อปลดปล่อยประชาชนพลเมืองให้พ้นจากพันธะอันรัดตัวต่าง ๆ ทำให้ประชาชนทั้งชาติมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน

การศาล

ทรงปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลให้ทันสมัย และขจัดสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่ไทยต้องเสียเปรียบแก่ชาวต่างชาติ โดยปรับปรุงระเบียบการศาลให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร มีกระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบอย่างแท้จริง โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรรมการตรวจชำระและร่างกฎหมาย ได้ทรงประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญาซึ่งถือเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของไทย และทรงจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายเพื่อผลิตนักกฎหมายให้พอแก่ความต้องการ ทำให้การพิจารณาคดีและการลงโทษแบบเก่าหมดไป

การทหารและตำรวจ

โปรดเกล้าฯ ให้จัดการทหารตามแบบยุโรป และวางกำหนดการเกณฑ์คนเข้าเป็นทหารแทนการใช้แรงงานบังคับไพร่ตามประเพณีเดิม โดยประกาศพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124 เป็นครั้งแรก อีกทั้งทรงจัดตั้งโรงเรียนการทหาร คือ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กับจัดตั้งตำรวจภูธร ตำรวจนครบาลเพื่อให้ดูแลบ้านเมืองและปราบปรามโจรผู้ร้ายโดยทั่วถึง

การเลิกทาส

พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่ง คือ การเลิกทาส ซึ่งทรงดำเนินการด้วยความสุขุมคัมภีรภาพนับแต่ปี พ.ศ. 2417 จนถึง พ.ศ. 2448 รวมเวลายาวนานกว่า 30 ปี จึงสำเร็จเสร็จสิ้นโดยไม่มีความขัดแย้งรุนแรงถึงลงมือรบพุ่งดังที่เกิดขึ้นในบางประเทศ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศ "พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย" เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 แก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ ให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัวเมื่ออายุ 20 ปี ครั้นอายุได้ 21 ปี ทาสผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ พระราชบัญญัตินี้มีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 เป็นต้นไป ทั้งห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปีเป็นทาสอีก และโปรดเกล้าฯ ให้ออก "พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124" ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไท เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวลงเดือนละ 4 บาท นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2448 นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก และเมื่อทาสจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ ห้ามมิให้ขึ้นค่าตัว ทั้งยังเตรียมการให้ผู้ที่พ้นจากความเป็นทาสได้มีความรู้ และมีเครื่องมือทำมาหากินเลี้ยงตัวเองได้อีกด้วย

การศึกษา

ด้วยทรงตระหนักดีว่าการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างคนและประเทศ จึงทรงขยายการศึกษาออกไปสู่ราษฎรทุกระดับ ได้พระราชทานพระตำหนักสวนกุหลาบให้เป็นโรงเรียน และมีการตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรแห่งแรกที่วัดมหรรณพาราม โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมศึกษาธิการซึ่งต่อมาเข้าสังกัดกระทรวงธรรมการเพื่อบังคับบัญชาเกี่ยวกับการศึกษาให้เป็นระเบียบ นอกจากนั้น ยังส่งพระราชโอรสไปทรงศึกษาในยุโรปด้วยทรงมีพระราชดำริว่า ผู้จะปกครองบ้านเมืองต้องรู้จักโลกกว้างขวางจึงจะแก้ไขปัญหาได้ทันการณ์ ทั้งยังเป็นสื่อเจริญพระราชไมตรีได้เป็นอย่างดี สำหรับนักเรียนทั่วไป โปรดเกล้าฯ ให้มีการสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวง “คิงสกอลาชิป” ตั้งแต่ พ.ศ. 2440 เพื่อส่งนักเรียนที่เรียนดีไปศึกษายังต่างประเทศหลายรุ่น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังจากทรงปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินเมื่อ พ.ศ. 2435 แล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงงานของกรมมหาดเล็กด้วยทรงพระราชดำริว่า เมื่อราชการบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป ย่อมต้องการผู้มีความรู้ความสามารถที่จะปฏิบัติราชการให้เหมาะสมกับกาลสมัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงงานของกรมมหาดเล็ก และได้เริ่มจัดตั้ง “สำนักฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน” ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2442 ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็น “โรงเรียนมหาดเล็ก” เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2445 หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็น “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” และพระราชทานเงินคงเหลือจากการที่ราษฎรเรี่ยไรกันสร้างพระบรมรูปปิยราชานุสาวรีย์ จำนวน 982,672.47 บาท เพื่อใช้เป็นทุนขยายกิจการ โรงเรียนในชั้นแรก ซึ่งกิจการของโรงเรียนได้เจริญก้าวหน้าเป็นปึกแผ่นเรื่อยมา และที่สุดได้มีประกาศพระบรมราชโองการประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 ดังนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเป็นเสมือนพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าได้บริจาคเงินเพื่อใช้ในการพัฒนาและประดิษฐานเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย

เศรษฐกิจ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงเริ่มปฏิรูปการคลังโดยทรงวางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ปรับปรุงการภาษีอากรและระเบียบการเก็บภาษีอากร
  • โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง หอรัษฎากรพิพัฒน์ ขึ้นใน พ.ศ. 2416 และยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวงการคลังเมื่อ พ.ศ. 2435 เพื่อทำหน้าที่เก็บภาษีอากรของแผ่นดินมารวมไว้แห่งเดียว และเพื่อให้การรับจ่ายเงินของแผ่นดินเป็นไปอย่างรัดกุม
  • โปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อพ.ศ. 2439 เป็นการกำหนดรายจ่ายมิให้เกินกำลังของเงินรายได้ เพื่อรักษาดุลยภาพและความมั่นคงของฐานะการคลัง ในการจัดทำงบประมาณครั้งนี้ ยังโปรดเกล้าฯ ให้แยกการเงินส่วนแผ่นดินและส่วนพระองค์ออกจากกันอย่างเด็ดขาด นับเป็นพระมหากษัตริย์ในระบบอบสมบูรณาญาสิทธิราชพระองค์เดียวในโลกที่ออกกฎหมายจำกัดอำนาจการใช้เงินของพระองค์เอง และเนื่องจากการค้าขายในพระราชอาณาจักรเริ่มเจริญขึ้น จึงได้ทรงจัดระบบเงินตราใหม่ โดยยกเลิกระบบเงินพดด้วงและหน่วยเงินแบบเดิมมาใช้หน่วยเงินเป็นบาท สลึง สตางค์ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้แทน ธนบัตรแบบแรกอย่างเป็นทางการของไทยได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2445
  • ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ตั้ง “บุคคลัภย์” (BookClub) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกของชาวสยามขึ้นเป็นธนาคารในนาม “บริษัท แบงก์สยาม กัมมาจล ทุนจำกัด” เมื่อ พ.ศ. 2449 ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อย่างเป็นทางการ นับเป็นธนาคารแห่งแรกที่ตั้งขึ้นด้วยเงินทุนของคนไทย ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์” และยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการออกพันธบัตรเพื่อนำเงินมาปรับปรุงสาธารณูปโภคพื้นฐานและพัฒนาประเทศให้ทันสมัย
  • การที่ไทยประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และมีข้าวเป็นสินค้าออกสำคัญ การขยายพื้นที่ทำนา และน้ำย่อมเป็นปัจจัยสำคัญ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงตั้งพระทัยที่จะพัฒนาการเกษตร มีการขุดคลองเพื่อขยายพื้นที่นา ตั้งโรงเรียนการคลอง โรงเรียนวิชาการเพาะปลูก และกระทรวงเกษตราธิการ นอกจากนั้นยังมีการจัดตั้งกรมคลอง เพื่อดูแลเรื่องการชลประทาน มีการออกหนังสือรับรองกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือโฉนดที่ดินซึ่งต่อมาได้มีการเดินสวนเดินนาออกโฉนดที่ดินไปทั่วประเทศ ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการสำรวจป่าไม้และจัดตั้งกรมป่าไม้ กรมโลหกิจและภูมิวิทยา และกรมช่างไหมขึ้นอีกด้วย

ศิลปะ วรรณกรรม และการศาสนา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรอบรู้และเอาพระทัยใส่ในศิลปะวิทยาการต่าง ๆ และทรงฝากฝีพระหัตถ์ไว้หลายด้าน ที่เด่นชัด คือการถ่ายภาพและวรรณกรรม

ในด้านการถ่ายภาพนั้น ไม่ว่าเสด็จประพาสที่ใดจะทรงติดกล้องถ่ายรูปไปด้วยเสมอ ดังนั้น ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์จึงกลายเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ ด้วยแสดงให้เห็นสภาพบ้านเมืองและผู้คนในรัชสมัยได้อย่างดียิ่ง

ส่วนในด้านวรรณกรรมนั้น ทรงเป็นทั้งกวีและนักแต่งหนังสือที่มีความรู้ลึกซึ้ง ทรงสามารถแเต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน บทละคร ตลอดจนร้อยแก้วต่าง ๆ ได้อย่างดียิ่ง ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือไว้มากมายหลายประเภททั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ประเพณี วรรณคดีและอื่น ๆ ซึ่งล้วนแต่มีคุณค่าเป็นที่ยอมรับและได้รับการยกย่องในวงวิชาการวรรณกรรมไทยทั้งสิ้น นอกจากนั้น ยังทรงจัดตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนครขึ้น และให้มีคณะกรรมการออกหนังสือของหอพระสมุดติดต่อกันหลายเล่มในชื่อ วชิรญาณ และวชิรญาณวิเศษ ทั้งยังมีการตราพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ขึ้นเป็นครั้งแรกอีกด้วย

ในทางศาสนา ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกทุกศาสนา ทรงสร้างวัดหลายแห่ง ได้แก่ วัดราชบพิตร ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาล วัดเทพศิรินทราวาส วัดนิเวศธรรมประวัติ และวัดเบญจมบพิตร ในปี พ.ศ. 2431 ทรงอาราธนาพระเถรานุเถระมาประชุมชำระพระไตรปิฏกและตีพิมพ์เป็นภาษาไทยพระราชทานไปยังพระอารามต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 1,000 ชุด เรียกว่าพระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ และในปี พ.ศ. 2445 โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์เพื่อจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ให้ดียิ่งขึ้น กำหนดให้สมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุขและผู้บังคับบัญชาสูงสุดฝ่ายสงฆ์ กำหนดให้มีมหาเถรสมาคม เป็นองค์การปกครองสูงสุดของสงฆ์ นับเป็นพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ฉบับแรกของไทย

การคมนาคมและการสาธารณูปโภค

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ยวดยานพาหนะสมัยใหม่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนใหม่หลายสาย สายที่สำคัญยิ่ง คือ ถนนราชดำเนิน ซึ่งทอดยาวตั้งแต่ลานพระบรมรูปทรงม้าจนถึงพระบรมมหาราชวัง และยังมีถนนสายอื่น ๆ เช่น ถนนพาหุรัด ถนนเยาวราช เป็นต้น ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองสายต่างๆ ขึ้นอีก เช่น คลองเปรมประชากร คลองประเวศบุรีรมย์ และนับจาก พ.ศ.2437 เป็นต้นมา ทรงบริจาคเงินสร้างสะพานใหม่ในการเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปี โดยชื่อของสะพานทั้งหมดเหล่านี้จะขึ้นต้นด้วยคำว่า “เฉลิม” นอกจากนั้น ยังโปรดเกล้าฯ ให้บริษัทรถรางไทยจัดการเดินรถรางขึ้นในพระนครเมื่อ พ.ศ. 2430

ส่วนการคมนาคมกับต่างจังหวัด โปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ กับนครราชสีมาเป็นสายแรก เมื่อ พ.ศ. 2433 หลังจากนั้นจึงมีการสร้างทางรถไฟไปยังภาคต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

ในด้านการสื่อสาร ได้โปรดเกล้าฯ ให้ติดตั้งเครื่องโทรเลข โทรศัพท์ ตามด้วยการรับส่งจดหมายอย่างเป็นระบบ และสามารถตั้งกรมไปรษณีย์โทรเลขได้ในพ.ศ.2426 นอกจากการนั้น สาธารณูปโภคพื้นฐานอันได้แก่ ไฟฟ้า และน้ำประปา ก็เกิดขึ้นรัชสมัยของพระองค์ท่านด้วยเช่นเดียวกัน

การสาธารณสุข

ในด้านการสาธารณสุข โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสภาอุณาโลมแดงอันเป็นต้นกำเนิดของสภากาชาดไทยในปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ.2436 และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพยาบาลวังหลัง ซึ่ง ต่อมาได้พระราชทานนามใหม่ว่า “โรงพยาบาลศิริราช” สำหรับรักษาผู้ป่วยอย่างเป็นทางการ นับเป็นโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของเมืองไทย

การต่างประเทศ

ในด้านการต่างประเทศนั้น ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จประพาสนอกพระราชอาณาจักร และทรงเป็นพระมหากษัตริย์จากบูรพาทิศพระองค์แรกที่เสด็จยุโรป โดยทรงเริ่มจากการเสด็จเยือนประเทศใกล้เคียงก่อน เช่น มลายู ชวา อินเดีย ฯลฯ จนเมื่อ พ.ศ. 2440 จึงเสด็จถึงยุโรปเป็นครั้งแรก ครั้งนั้น ได้เสด็จเยือนประเทศต่าง ๆ ในยุโรปรวม 15 ประเทศ ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ให้ไทยเป็นที่รู้จักในสังคมยุโรป เพื่อกระชับไมตรีอันจะยังประโยชน์แก่บ้านเมือง เพื่อทอดพระเนตรการบริหารประเทศในด้านต่าง ๆ รวมทั้งเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมือง หลังจากนั้นได้เสด็จไปเยือนอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2450 การเสด็จไปยุโรปทั้งสองคราวนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้ากับราชสำนักยุโรปได้อย่างสง่างามยิ่ง และก่อให้เกิดผลดีสมพระราชประสงค์ทั้งทางการทูตและการเมือง

ประเพณีและวัฒนธรรม

  • ด้านการแต่งกาย ทรงปรับปรุงการแต่งกายและทรงผมตั้งแต่ช่วงต้นรัชกาล โดยฝ่ายชาย เปลี่ยนจากผมทรงมหาดไทยเป็นตัดแบบฝรั่ง ข้าราชสำนักนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนแทนผ้าสมปักเก่า สวมเสื้อแพรตามสีกระทรวงแทนเสื้อกระบอกแบบเก่า ทรงออกแบบเสื้อราชปะแตน โปรดเกล้าฯ ให้ทหารนุ่งกางเกง พัฒนาเครื่องแบบให้รัดกุม ส่วนฝ่ายหญิง โปรดเกล้าฯให้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ บุนนาค) พระสนมเอกไว้ผมยาวแทนผมปีกแบบเก่า
  • ทรงยกเลิกประเพณีหมอบคลาน เมื่อ พ.ศ. 2416 ในวันพระราชพิธีราชาภิเษก โดยให้ยืนเข้าเฝ้าและถวายคำนับแบบตะวันตก เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้นั่งก็มีเก้าอี้ให้นั่งเฝ้า แต่หากเป็นการเข้าเฝ้าแบบไทยในหมู่คนไทยด้วยกันเอง คงใช้ประเพณีคลานและหมอบเฝ้าดังเคยปฏิบัติกันมา