ผู้เขียน สายป่าน ปุริวรรณชนะ
บรรณาธิการ ชนัญญา เตชจักรเสมา
เมื่อกล่าวถึง “จูเลียต” นางเอกในพระราชนิพนธ์เรื่อง โรเมโอและจูเลียต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลมาจากวรรณกรรมบทละครโศกนาฏกรรม Romeo and Juliet ของวิลเลียมส์ เชคสเปียร์ (Williams Shakespeare) มหากวีชาวอังกฤษในช่วงสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๑ แน่นอนว่าทุกคนต้องนึกถึงเรื่องราวความรักอันจบลงด้วยความตายของนางกับโรเมโอ ชายคนรักผู้เป็นทายาทของตระกูลคู่อริ
ชะตากรรมน่าสลดใจของทั้งคู่เริ่มต้นจากวันที่โรเมโอแห่งตระกูลมอนตะคิวได้เข้าร่วมงานเลี้ยงของตระกูลคาปูเล็ตแล้วเผอิญได้พบกับจูเลียตลูกสาวของตระกูลดังกล่าวและเกิดความรักต่อกัน คืนนั้นโรเมโอจึงลักลอบเข้าไปในอุทยานของคฤหาสต์คาปูเล็ต เช่นเดียวกับที่จูเลียตออกมารำพึงถึงโรเมโออยู่ริมระเบียงห้องนอน นำไปสู่การฝากคำพันรักโต้ตอบกันซึ่งกลายเป็น “ฉากประทับใจ” ของเรื่อง โดยเฉพาะ “บทสาบานรัก” อันลึกซึ้งคมคาย
ต่อมาแม้ว่าทั้งสองจะลักลอบสมรสกันอย่างลับๆ ทว่าเมื่อโรเมโอพลั้งมือฆ่าญาติของจูเลียตจนทำให้ต้องโทษเนรเทศออกจากเมืองเวโรนา จูเลียตจึงจำต้องเข้าพิธีสมรสกับปารีสคู่หมายเดิม เช้าวันนั้นนางจึงตัดสินใจดื่มยาที่ทำให้หมดสติเสมือนตายไปชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหา เมื่อโรเมโอกลับมาพบนางก็เข้าใจว่าหญิงผู้เป็นที่รักตายแล้วจริงๆ โรเมโอจึงดื่มยาพิษฆ่าตัวตายด้วยความเสียใจ ส่วนจูเลียตเมื่อฟื้นขึ้นมาพบว่าโรเมโอตายไปแล้วจึงใช้มีดสั้นที่ชายคนรักพกติดตัวแทงตัวเองถึงแก่ชีวิต ฝ่ายตระกูลมอนตะคิวและคาปูเล็ตเห็นลูกหลานต้องมาสิ้นชีพบูชาความรักก็สลดใจ เลิกเป็นอริต่อกันแต่นั้นมา
ในการพระราชนิพนธ์แปลบทละครเรื่องโรเมโอและจูเลียตนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชาธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า “ในการประพนธ์คำกลอนภาษาไทยในเรื่องลครนี้ ฃ้าพเจ้าตั้งใจให้ใกล้สำนวนโวหารเดิมของเชกสเปียร์” ทั้งยังตั้งพระราชหฤทัยให้ผู้รู้ได้สอบทานบทพระราชนิพนธ์กับบทประพันธ์เดิมของเชคสเปียร์ด้วย จนอาจกล่าวได้ว่าทรงพยายามจะรักษาทั้ง “เรื่องราว” และ “ลีลา” ของสำนวนทรงแปลให้เป็นไปตามต้นฉบับเดิมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ดังนี้แล้ว “จูเลียต” ในพระราชนิพนธ์จึงเรียกได้ว่าเป็นการถ่ายทอดบุคลิกของนางเอกผู้นี้จากบทละครของเชคสเปียร์ออกมาอย่างตรงไปตรงมา กล่าวคือ เป็นสาวงามวัยแรกรุ่นดรุณีผู้ไม่เคยรักใครมาก่อน จนเมื่อได้พบกับโรเมโอผู้เป็นทั้งรักครั้งแรกและรักแรกพบ ความรักนั้นจึงเข้มข้นรุนแรงจนลืมอาลัยแก่ชีวิต กระทั่งจูเลียตถึงแก่เอ่ยปากออกมาเองหลังจากที่เพิ่งพบกันทว่ายังไม่รู้จักว่าโรเมโอเป็นใครว่า “แม้ภรรยาของเฃามี หลุมศพของฃ้านี้จะแทนแท่นนอนอาวาห์” ต่อเมื่อรู้ว่าโรเมโอเป็นคนตระกูลมอนตะคิว นางก็ยังแสดงความปรารถนาในตัวเขาถึงขั้นสละได้แม้ตัวตนและตระกูลของตนเอง
จูเลียต: โอ้โรเมโอ! อ้า, เธอเปนโรเมโอไย? ตัดขาดจากบิดา และแปลงนามเสียเป็นไร; หรือเธอยอมมิได้. ขอเพียงปฏิญญารัก, แล้วฃ้าจะเลิกเปนคาปูเล็ตด้วยใจภักดิ์
ในขณะเดียวกันก็ไม่ใส่ใจถือเอาเรื่องชาติตระกูลของโรเมโอมาเป็นข้อจำกัดของความรักที่มีต่อเขา
จูเลียต: นามเธอเท่านั้นหนอที่นับว่าเปนอรี; เธอเปนตัวเธอนี่, มิใช่มอนตะคิวนา. ใดเปนมอนตะคิว? ไม่ใช่หัตถ์หรือบาทา, หรือแขน, หรือใบหน้า, หรืออวัยวะใด ที่เปนของบุรุษ. เปนนามอื่นเถิดเปนไร!-
ยิ่งเมื่อจูเลียตและโรเมโอรู้ว่าต่างมีใจตรงกัน ความเข้มข้นรุนแรงของอารมณ์รักจึงยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณจนกลายเป็นความปักใจมั่นถึงกับลักลอบสมรสกันเอง ความรักปักใจอย่างลึกซึ้งมั่นคงประกอบกับความรู้สึกว่าตนเองได้สมรสกับโรเมโอแล้วได้กลายเป็นแรงขับดันให้จูเลียตไม่เพียงแต่จะกล้าเสี่ยงกินยาที่ทำให้หมดสติเสมือนตายเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งความโศกสาหัสจนตัดสินใจเลือกตายตามโรเมโอไปในที่สุด
หากผู้มีความรู้ด้านวรรณคดีและภาษาอังกฤษได้มีโอกาสอ่านพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนี้เทียบกับต้นฉบับของเชคสเปียร์ จะพบว่าพระองค์ทรงถ่ายทอด “รสวรรณคดี” ทั้งความรัก ความสุข และความโศกออกมาได้อย่างงดงามไม่ผิดเพี้ยนจากสำนวนเดิม ด้วยเหตุนี้ “จูเลียตของเชคสเปียร์” จึงปรากฏกายให้คนไทยได้รู้จักผ่านบทพระราชนิพนธ์ได้อย่างสมบูรณ์
บรรณานุกรม ภาษาไทย มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. โรเมโอและจูเลียต ของวิลเลียมส์ เชคส์เปียร์ สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม ทรงแปลและประพนธ์เป็นภาษาไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทเขษม พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรชายา ในรัชกาลที่ ๖ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๙, ๒๕๑๙. ภาษาอังกฤษ Bullen, Arthur Henry (editor). The Complete Works of Williams Shakespeare. London: CRW Publishing Limited, 2005.
© 2021 Chulalongkorn University
|
One fine body…