บทความ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะมกุฎราชกุมาร

ผู้เขียน เทพ บุญตานนท์
บรรณาธิการ ชนัญญา เตชจักรเสมา

ในการเตรียมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อขึ้นครองราชสมบัตินั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงให้ความสำคัญเพียงการศึกษาของพระราชโอรสเท่านั้น การฝึกฝนพระองค์ให้ทรงมีความรู้และประสบการณ์ในการบริหารปกครองประเทศก็มีความสำคัญไม่น้อย ด้วยเหตุนี้ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมอบหมายพระราชภารกิจให้พระราชโอรสทรงปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์หลายครั้ง เช่น การเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์เพื่อเข้าเฝ้าและเข้าพบผู้นำประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารจะได้ทรงทำความรู้จักคุ้นเคยกับผู้นำชาติต่าง ๆ และเป็นโอกาสให้พระองค์ทรงมีประสบการณ์ทางการทูต ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศยังเป็นโอกาสอันดีที่พระองค์จะได้ทรงทอดพระเนตรกิจการความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ของต่างชาติ เพื่อจะทรงนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสยามในอนาคต เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จนิวัติกรุงเทพแล้ว พระองค์ยังทรงปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระบรมชนกนาถอยู่โดยตลอด ทั้งในราชการทหารที่พระองค์ทรงเข้าร่วมและทอดพระเนตรการซ้อมรบเป็นประจำ การเสด็จเยี่ยมพสกนิกรในต่างจังหวัดซึ่งทำให้พระองค์ทรงทราบถึงสภาพแวดล้อมและภูมิศาสตร์ของพื้นที่ต่าง ๆ อีกทั้งยังทรงรับพระราชภาระในการดูแลหอพระสมุดวชิรญาณซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์กลางของความรู้ของชาวสยามในเวลานั้น

พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับการศึกษาของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มพระบรมราโชบายปฏิรูปประเทศ และการปกครองให้ทันสมัยเฉกเช่นชาติตะวันตก ปัญหาสำคัญที่พระองค์ทรงต้องเผชิญก็คือ การขาดผู้มีความรู้ความสามารถที่จะทำงานในระบบราชการแบบใหม่ ด้วยเหตุนี้ ชาวต่างชาติจำนวนมากจึงถูกว่าจ้างเข้ามาทำงานให้กับรัฐบาลสยาม อย่างไรก็ตาม การว่าจ้างชาวต่างชาติเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น เพราะนอกจากค่าจ้างที่แพงกว่าชาวสยามหลายเท่าตัวแล้ว การว่าจ้างชาวต่างชาติยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเมืองระหว่างประเทศของสยามกับมหาอำนาจตะวันตก ที่ล้วนแต่อยากให้สยามจ้างคนของตนเข้ารับราชการในตำแหน่งสำคัญ เพื่อจะได้เข้ามามีอิทธิพลต่อรัฐบาลสยาม ด้วยเหตุนี้เองการพัฒนาชาวสยามให้มีความรู้ความสามารถเฉกเช่นชาวตะวันตกจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง บุคคลกลุ่มสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมุ่งหมายที่จะให้มีส่วนร่วมและมีบทบาทหลักในการปฏิรูปประเทศก็คือบรรดาพระราชโอรสของพระองค์นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิศริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ จึงได้เสด็จไปศึกษาวิชาความรู้อย่างตะวันตก ณ ประเทศอังกฤษ เป็นเวลากว่าสิบปี โดยเสด็จไปเมื่อพ.ศ.2436 พร้อมกับพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ และม.ร.ว.เปีย มาลากุล ตามเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทำหน้าที่ดูแลพระองค์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธทรงประทับที่พระตำหนักนอร์ธลอดจ์ (North Lodge) ณ เมืองแอสคอต (Ascot) โดยมีหม่อมราชวงศ์สิทธิ์ สุทัศน์ (พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร) ตามเสด็จไปในฐานะพระสหาย และเรียนหนังสือร่วมกับสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ

ในเบื้องต้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธทรงเข้าศึกษาวิชาทหารเรือ[1] เนื่องจากทรงมุ่งให้พระราชโอรสชั้นเจ้าฟ้าทุกพระองค์ทรงศึกษาวิชาทหารเพื่อจะนำความรู้มาใช้ในการป้องกันประเทศจากรุกรานของมหาอำนาจ พระราชดำริดังกล่าวนี้เป็นผลพวงมาจากวิกฤติการณ์ ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) เมื่อฝรั่งเศสตัดสินใจส่งเรือรบเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาและทอดสมออยู่หน้าพระบรมมหาราชวังเพื่อบังคับให้สยามปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลฝรั่งเศสคือยกดินแดนที่ถือครองอยู่บริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส[2]

ในส่วนของการศึกษาขั้นต้น พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณทรงแนะนำให้พระราชโอรสที่เสด็จไปศึกษายังต่างประเทศ รวมทั้งให้สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธทรงประทับกับครอบครัวชาวอังกฤษ เพื่อจะทรงได้รับการศึกษาทั้งวิชาการและภาษาอังกฤษได้อย่างรวดเร็ว [3] เมื่อสำเร็จการศึกษาขั้นต้นแล้วจึงจะเสด็จไปศึกษาในโรงเรียนชั้นนำของอังกฤษ เช่น โรงเรียนอีตันหรือฮาร์โรว์ นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระราชดำริว่า เมื่อโรงเรียนปิดเทอม พระอภิบาลจะจัดให้พระราชโอรสได้มีโอกาสเสด็จไปท่องเที่ยวยังประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป เพื่อจะได้ทรงเรียนรู้อุปนิสัยใจคอของคนชาติต่าง ๆ[4]

สำหรับสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระองค์ประทับอยู่กับครอบครัวของนายเบสิล ทอมป์สัน (Basil Thompson) ซึ่งเป็นบุตรคนเล็กของอาร์คบิชอป ทอมป์สัน สาเหตุที่พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณทรงเลือกครอบครัวของนายทอมป์สัน เนื่องจากนายทอมป์สันสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด (Oxford University) อันเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศอังกฤษและของโลก เคยรับราชการในหน่วยงานที่ดูแลดินแดนอาณานิคมของอังกฤษที่เกาะฟิจิในทะเลแปซิฟิก และยังรู้จักกับชนชั้นนำของอังกฤษจำนวนมาก[5] การที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธประทับอยู่กับครอบครัวของนายทอมป์สัน จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้วิถีชีวิต กิริยามารยาทของผู้ดีอังกฤษ รวมทั้งจะทรงมีโอกาสคบค้าสมาคมกับชนชั้นสูงของอังกฤษด้วย

ระหว่างที่ประทับอยู่กับครอบครัวของนาททอมป์สัน สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธได้ทรงมีโอกาสเสด็จไปท่องเที่ยวยังที่ต่าง ๆ ทั้งในอังกฤษและและประเทศอื่น ๆ ในยุโรป เช่น ฝรั่งเศสและเบลเยียม ดูเหมือนว่าชีวิตในวัยเยาว์ของพระองค์จะดำเนินไปตามแบบแผนที่สมเด็จพระบรมราชชนกและที่ปรึกษาในพระองค์ได้ทรงวางไว้ จนกระทั่งในพ.ศ.2437 เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จสวรรคต ทำให้สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธที่ทรงมีพระเกียรติยศเป็นที่สองจากพระเชษฐา ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นมกุฎราชกุมาร ตำแหน่งดังกล่าวได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพระองค์และอนาคตของประเทศชาติ เนื่องจากจะต้องเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบรมราชชนก การศึกษาของพระองค์จึงมีความสำคัญที่จะกำหนดอนาคตของสยาม

ในการหารือระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระอภิบาลในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนแนวทางการของศึกษาของพระองค์ มีการหารือกันว่าสมควรจะให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จกลับมาศึกษาและเรียนรู้งานปกครองที่สยามเฉกเช่นสมเด็จพระเชษฐาหรือไม่ ในกรณีนี้ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณทรงชี้แจงว่า การทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าการศึกษาที่เมืองไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเห็นคล้อยตาม แต่ประเด็นที่เป็นเรื่องหนักใจของราชสำนักสยามก็คือ หลักสูตรที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชควรจะทรงศึกษา ซึ่งพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณได้ทูลเกล้าฯ ถวายหลักสูตรวิชาทหารของโรงเรียนนายร้อยของประเทศต่าง ๆ แก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อให้พระองค์ทรงพิจารณา ประกอบไปด้วยโรงเรียนนายร้อยของประเทศเบลเยียม และโรงเรียนนายร้อยของประเทศอังกฤษ อันได้แก่ โรงเรียนนายร้อยที่วูลลิช (Royal Military Academy, Woolwich) และโรงเรียนนายร้อยที่แซนเฮิสต์ (Royal Military Academy Sandhurst) รวมถึงหลักสูตรของโรงเรียนนายร้อยของประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนี[6]

เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ ที่ปรึกษาราชการส่วนพระองค์ และพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ได้กราบบังคมทูลถวายความเห็นว่า ควรให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงศึกษาในประเทศอังกฤษเพื่อให้เกิดมิตรภาพระหว่าง 2 ประเทศ นอกจากนี้ยังจะได้รับความเห็นอกเห็นใจจากชาวอังกฤษ[7] ซึ่งผู้อภิบาลทั้งชาวไทยและต่างประเทศได้แนะนำให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่ประเทศอังกฤษต่อไป โดยแบ่งการศึกษาเป็นสองช่วงคือ การศึกษาวิชาทหารโดยแนะนำให้ส่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิสต์ และการศึกษาวิชาของฝ่ายพลเรือนที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

อันที่จริงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธไม่จำเป็นต้องมีความรู้ความชำนาญในวิชาทหารมากเท่ากับพระราชโอรสพระองค์อื่น ๆ เพราะการปกครองประเทศจำเป็นต้องใช้ความรู้ด้านพลเรือน แต่ถึงกระนั้นก็มีพระบรมราชานุญาตให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จเข้าศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิสต์ ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับอังกฤษ[8]

ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธจึงทรงย้ายมาประทับ ณ พระตำหนักเกรตนีย์ (Graitney) เพื่อเข้ารับการศึกษาวิชาทหารเบื้องต้นจากพันโท ซี.วี. ฮูม (Lieutenant Colonel C.V. Hume) เพื่อเป็นการเตรียมพระองค์ก่อนเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อย และในพ.ศ.2440 พระองค์ทรงเข้ารับการศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิสต์ตามคำกราบบังคมทูลแนะนำของพันโท ซี.วี. ฮูม เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธทรงเข้ารับการศึกษาตามหลักสูตรของโรงเรียนได้ระยะหนึ่ง ก็ทรงเข้าประจำการในกรมทหารราบเบาเดอรัม (Durham Light Infantry) ต่อมาทรงเข้ารับการศึกษาเพิ่มเติมในวิชาการทหารปืนใหญ่ที่โอคแฮมตัน (Okehampton) และเข้ารับการศึกษาอบรมวิชายิงปืนเล็กที่โรงเรียนปืนคาบศิลา (The school of Musketry) เมืองไฮต์ (Hythe)[9]

หลังจากทรงศึกษาวิชาทหารในสาขาต่าง ๆ และเสด็จเข้าประจำในกองทหารราบเบาเดอรัมระยะหนึ่งอันเป็นการทำให้พระองค์ทรงคุ้นเคยกับวิถีชีวิตของทหารในกองทัพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ [10](หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) ผู้อภิบาลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ให้จัดการศึกษาวิชาพลเรือนให้แก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ต่อจากการศึกษาวิชาทหาร[11]

เมื่อพ.ศ.2442 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารทรงเข้าศึกษาวิชาพลเรือนเพิ่มเติมที่วิทยาลัยไครสต์เชิร์ช มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ตามคำแนะนำของนายเฟรเดอริก เวอร์นีย์ (Mr. Frederick Verney) ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางการทูตของสยามประจำกรุงลอนดอน นายเวอร์นีย์เห็นว่ามหาวิทยาลัยออกฟอร์ดมิเพียงเป็นสถานศึกษาชั้นนำระดับโลก แต่ยังเป็นแหล่งรวมของกุลบุตรชั้นสูง การศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ดจะทำให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงมีโอกาสพบปะสมาคมกับชนชั้นสูงของอังกฤษ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสยามและพระองค์ในอนาคต[12] สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามบรมราชกุมารทรงเข้ารับการศึกษาตามหลักสูตรของเจ้านายอังกฤษที่มหาวิทยาลัยจัดให้ โดยเน้นศึกษาวิชาประวัติศาสตร์และการเมืองการปกครองเป็นพิเศษ[13] เมื่อทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ดได้ประมาณปีเศษ พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารแคมเบอร์ลีย์ (Staff College, Camberley) เช่นเดียวกับพระเชษฐาและพระอนุชาพระองค์อื่น ๆ ที่ทรงเข้าเรียนในโรงเรียนเสนาธิการทหารหลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อย แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาต เนื่องจากทรงเห็นว่าเป็นการเสียเวลามากเกินไป และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามบรมราชกุมารควรเสด็จนิวัติพระนครเพื่อมาเรียนรู้การบริหารประเทศ

ก่อนที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธจะทรงเสร็จสิ้นการศึกษาจากออกฟอร์ดโดยมิได้ทรงสอบไล่เพื่อรับปริญญาอันเป็นไปตามประเพณีของพระราชวงศ์อังกฤษ พระองค์ได้พระราชนิพนธ์หนังสือเรื่อง The War of the Polish Succession[14] ตามคำกราบบังคมทูลขอจาก ฟรานซิส พาเจต์ (Francis Parget)[15] คณบดีของวิทยาลัย พระราชนิพนธ์เรื่องสงครามสืบราชสมบัติโปลันด์นับได้ว่าเป็นงานเขียนวิชาการเรื่องแรก ๆ ของไทย ที่มีการอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ตามหลักวิชาการ การศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ดมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อพระบรมราโชบายในการปกครองประเทศเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนเยอรมนีและออสเตรีย – ฮังการี

ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารทรงมีโอกาสเสด็จเยือนประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปหลายประเทศ ทั้งในฐานะผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเข้าร่วมพระราชพิธีที่สำคัญของราชวงศ์ต่าง ๆ ในยุโรป เช่น พิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าอัลฟองโซที่ 13 แห่งสเปน (Alfonso XIII of Spain) ที่กรุงมาดริด ในพ.ศ.2429 หรือพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 (Edward VII) และเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ ทำให้ทรงได้ใช้ทักษะและความรู้ทางการทูตที่ทรงเรียนรู้และฝึกฝนมาจากทั้งโรงเรียนนายร้อยแซนเฮิสต์และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดอันเป็นแหล่งรวมกุลบุตรชั้นสูงชาวยุโรปอย่างเต็มที่ การเสด็จประพาสประเทศในยุโรปทำให้พระองค์ทรงมีโอกาสได้พบเห็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี วิถีชีวิตผู้คน และวัฒนธรรมอันหลากหลาย และได้ทรงนำประสบการณ์เหล่านี้มาถ่ายทอดไว้ในพระราชนิพนธ์บันทึกการเดินทางหลายเรื่อง เช่น The Letter of the butterflies ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในเวลาต่อมาในชื่อว่า “จดหมายถึงผีเสื้อ” หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกการเดินทางของพระองค์ขณะเสด็จประพาสประเทศออสเตรีย - ฮังการี [16] และ The Germany Series ซึ่งเป็นบันทึกเรื่องราวเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเยอรมนีในพ.ศ.2445[17]

ในพ.ศ.2445 ก่อนที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธจะเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสยาม พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ ได้แก่ อิตาลี [18] เนเธอร์แลนด์ [19] เบลเยียม[20] ฝรั่งเศส [21] เยอรมนี[22] ออสเตรีย[23] ฮังการี[24] เดนมาร์ก[25] รัสเซีย[26] และอียิปต์ [27] ในฐานะผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงเข้าเฝ้าและเข้าพบผู้นำของชาติต่าง ๆ เช่น ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2445 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารทรงเข้าพบกับนายเอมีล ลูแบ (Émile Loubet) ประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศสและทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ (Ordre National de la Légion D'honneur) พร้อมกันนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมวงศ์ให้แก่นายเอมีล ลูแบ[28]

นอกจากทรงเข้าเฝ้าและเข้าพบผู้นำประเทศแล้ว สิ่งสำคัญประการหนึ่งในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ คือ การเสด็จเยี่ยมชมการฝึกทหารและยุทโธปกรณ์ทางการทหารของชาติมหาอำนาจ เช่น การเสด็จพระราชดำเนินเยือนโรงเรียนปืนใหญ่ของฝรั่งเศสที่ฟงแตนโบล (Fontainebleau) และเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมการฝึกทหารของเบลเยียม[29] สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระองค์ใส่พระทัยต่อกิจการทหาร มาจากการที่ประเทศสยามจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนากองทัพเพื่อจัดการปัญหาภายในประเทศจากกบฏกลุ่มต่าง ๆ และการปกป้องอธิปไตยของชาติจากมหาอำนาจ อีกทั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมรร ยังทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิสต์ ดังนั้นกิจการทางการทหารจึงเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงให้ความใส่พระทัยเป็นพิเศษ

ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปพระองค์ทรงได้พบเห็นเรื่องราวที่น่าสนใจ จึงทรงบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน รวมทั้งทรงแสดงพระราชทัศนะเกี่ยวกับสภาวะทางการเมืองของประเทศเหล่านั้น พระราชนิพนธ์บันทึกแสดงให้เห็นถึงความรอบรู้ของพระองค์ในด้านต่าง ๆ ทั้งทางการเมือง ศิลปะ วัฒนธรรม และเทคโนโลยี รวมไปถึงพระราชดำริส่วนพระองค์เกี่ยวกับบริบททางการเมืองโลกในขณะนั้นด้วย

ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศออสเตรีย – ฮังการีระหว่างวันที่ 25 เมษายน ถึงวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2445 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารทรงพระราชนิพนธ์บันทึกรายวันในรูปแบบจดหมาย เพื่อบอกเล่าเกี่ยวกับพระราชกิจที่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติและสิ่งต่าง ๆ ที่ทรงพบ เช่น การเข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์โจเซฟที่ 1 (Franz Joseph I) ซึ่งได้เสด็จมาต้อนรับพระองค์ถึงสถานีรถไฟเวสต์บานโฮฟ (Westbahnhof) ที่กรุงเวียนนา (Vienna) และนำพระองค์เสด็จสู่สถานที่ประทับ คือ พระราชวังโฮฟบวร์ก (Hofburg) ด้วยพระองค์เอง[30] ทั้งยังทรงจัดงานเลี้ยงรับรองให้อย่างเป็นทางการ ขณะทรงอยู่ในงานเลี้ยงรับรอง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารทรงพบเจอผู้คนมากมายที่ไม่เคยทรงรู้จักมาก่อน ในพระราชนิพนธ์ The Letter of Butterflies สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารทรงบันทึกไว้ว่า พระองค์ทรงสนทนากับนายจูเลียส เซเซนยี่ รัฐมนตรีฮังการีประจำพระจักรพรรดิ เพราะจะเสด็จพระราชดำเนินเยือนฮังการีเป็นดินแดนต่อไป เรื่องนี้ทำให้นายจูเลียสแปลกใจและดีใจเป็นอย่างมากที่มกุฎราชกุมารแห่งสยามทรงรู้จักและติดตามสถานการณ์การเมืองของฮังการี เพราะคนส่วนใหญ่จะรู้จักแต่ประเทศออสเตรีย แต่ไม่รู้จักฮังการีที่เป็นรัฐหนึ่งในจักรวรรดิออสเตรีย – ฮังการี[31]

อีกสิ่งหนึ่งที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงสนพระทัยคือศิลปวัฒนธรรม ในเวลานั้นออสเตรีย – ฮังการีนับได้ว่าเป็นชาติที่รุ่มรวยทางศิลปะและวัฒนธรรม มีคีตกวีชื่อดัง เช่นโยฮัน สเตราส์ (Johann Strauss) และ โวล์ฟกัง อมาเดอุส โมซาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart) มีพระราชวังอันวิจิตรงดงามอย่างพระราชวังเชิร์นบรุนน์ (Schönbrunn Palace) และพระราชวังโฮฟบวร์ก พระองค์ทรงกล่าวถึงการตกแต่งพระราชวังเชิร์นบรุนน์ว่าได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก แต่ทรงเห็นว่าศิลปะการตกแต่งพระราชวังเชิร์นบรุนมีความแข็งกระด้างขาดความอ่อนนุ่ม โดยส่วนพระองค์โปรดการตกแต่งพระราชวังแบบอังกฤษที่มีความเป็นธรรมชาติมากกว่า[32]

นอกเหนือจากทรงวิพากษ์วิจารณ์ศิลปะและสถาปัตยกรรมของออสเตรีย พระองค์ยังทรงวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองภายในของจักรวรรดิออสเตรีย – ฮังการีว่าการเป็นพระจักรพรรดิแห่งออสเตรีย - ฮังการีนั้น ดูจะไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเท่าใดนัก เพราะพระราชวงศ์และจักรวรรดิออสเตรีย – ฮังการีค่อนข้างจะอยู่ในสถานการณ์อันยากลำบาก เมื่อคราวที่ได้ทรงพบกับอาร์คดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินาน (Archduke Franz Ferdinand of Austria) ซึ่งทรงเป็นมกุฎราชกุมารของออสเตรีย - ฮังการี [33] น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า เพียงเก้าปีหลังจากที่มีพระทัศนะเกี่ยวกับราชบัลลังก์ของออสเตรีย - ฮังการี อาร์คดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานก็ถูกลอบปลงพระชนม์ที่บอสเนียในพ.ศ.2454 เมื่อคราวเสด็จเยือนบอสเนียอย่างเป็นทางการเพื่อโน้มน้าวให้ชาวบอสเนียยินยอมผนวกประเทศเข้ารวมกับออสเตรีย - ฮังการี การลอบสังหารอาร์คดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานในคราวนั้นได้จุดชนวนสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นในเวลาต่อมา

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมการฝึกทหารและยุทโธปกรณ์ของกองทัพออสเตรีย – ฮังการี ซึ่งขณะนั้นถือว่าเป็นมหาอำนาจทางการทหารชาติหนึ่งในยุโรปที่มียุทโธปกรณ์อันทันสมัย นอกจากนั้นยังทรงมีโอกาสทอดพระเนตรพิธีสวนสนามของกองทัพออสเตรีย – ฮังการี โดยทรงบันทักเกี่ยวกับกองทัพไว้ว่ามีทหารหลากหลายเชื้อชาติในกองทัพ ทั้งฮังการี บอสเนีย แม้กระทั่งทหารแขก[34]

ในพระราชนิพนธ์เรื่อง The Letter of Butterflies มีการกล่าวถึงสถานที่ที่น่าสนใจของออสเตรีย - ฮังการี รวมทั้งเกร็ดประวัติศาสตร์ของสถานที่นั้น ๆ เช่น ในตอนที่เสด็จถึงกรุงบูดาเปสต์ พระองค์ทรงเล่าถึงสะพานเซเชนยี (Széchenyi) ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำดานูบแห่งใหม่ ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอเมริกัน พระองค์ทรงบอกเล่าถึงความวิจิตรงดงามของสะพาน ขณะเดียวกันก็ทรงแสดงพระราชทัศนะว่า โบสถ์เก่าที่ตั้งอยู่อีกฝั่งแม่น้ำทำให้ทัศนียภาพของสะพานเสียไป แต่ก็ไม่สามารถรื้อถอนโบสถ์นั้นได้ เพราะเป็นโบราณสถานของเมือง[35]

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรีย – ฮังการีนับเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งของสยามในการผูกสัมพันธไมตรีกับชาติมหาอำนาจตะวันตก และดูเหมือนว่าออสเตรีย – ฮังการีเองก็ให้ความสำคัญกับการต้อนรับเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารเป็นอย่างมาก เพราะในพระราชบันทึก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารทรงบันทึกถึงช่วงเวลาที่ประทับอยู่ในออสเตรียว่าทรงได้รับการต้อนรับดีกว่าที่อื่น ๆ เป็นอย่างมาก ถึงแม้รัสเซียจะให้การรับรองพระองค์เป็นอย่างดีเช่นกัน แต่พระเจ้าซาร์ก็มิได้เสด็จมารับพระองค์ที่สถานีรถไฟด้วยพระองค์เองเหมือนกับที่สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งออสเตรีย – ฮังการีทรงกระทำ

		“การมาเยี่ยมออสเตรีย เป็นผลดีแน่นอน การรับรองที่บ้านเมืองจัดให้แก่ฉันและผู้ติดตามเป็นที่น่าพอใจมาก ฉันได้รับเกียรติยศอย่างสูงยิ่งกว่าที่แห่งอื่น ๆ เว้นรุสเซีย 
	แต่ที่รุสเซียนั้นพระมหากษัตริย์ก็มิได้ไปรับฉันที่สถานีรถไฟเช่นที่นี่[36]

สำหรับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารแล้ว การเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปเยือนออสเตรีย - ฮังการี และประเทศอื่น ๆ ในยุโรป นับได้ว่าเป็นการฝึกฝนและเตรียมพระองค์เพื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระบรมราชชนก ซึ่งทรงต้องพยายามทำให้พระองค์เป็นที่ยอมรับในหมู่เชื้อพระวงศ์และชนชั้นสูงของยุโรป ในวันที่สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งออสเตรีย – ฮังการีทรงจัดงานเลี้ยงและพระองค์ได้ทรงพบปะกับบรรดาเจ้านายแห่งราชวงศ์ฮับส์บวร์กและขุนนางของออสเตรีย - ฮังการี ทรงบันทึกไว้ว่า

		“... ในคืนวันนั้น จะมีคนอย่างน้อยหนึ่งคนที่จะคิดว่ามกุฎราชกุมารแห่งสยามนั้นใช้การได้ ฉันไม่รับรองว่าจะมีใครอีกที่ให้ความนิยมแห่งมกุฎราชกุมารแห่งสยาม 
	เช่นเดียวกับ เค้านต์ เซเยนนี่ แต่รับรองได้อย่างแน่นนอนว่า จะไม่มีใครเห็นฉันเป็นเพียงตัวตุ่นตัวหนึ่ง ข้อนี้สำคัญมากไม่ใช่เหรอ?”[37] 

ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ.2445 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนจักรวรรดิเยอรมนี เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 (Wilhelm II of Germany) ในระหว่างที่เสด็จเยือนเยอรมนี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารทรงจดบันทึกพระกรณียกิจในแต่ละวันเป็นลายพระหัตถ์พระราชทานแก่พี่น้องตระกูลพอตเตอร์ ซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองเชสต์นัต ฮิลล์ (Chestnut Hill) รัฐฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) ประเทศสหรัฐอเมริกา พระราชหัตถเลขาเหล่านี้รวมขึ้นเป็นหนังสือชื่อ The Germany Series (ภายหลังมีผู้แปลเป็นภาษาไทยชื่อว่า จดหมายจากเยอรมนี) โดยพระองค์ทรงใช้พระนามแฝงว่า “Calton H. Terris” พระราชนิพนธ์บันทึกเรื่องราวในแต่ละวันที่พระองค์ทรงประสบตั้งแต่ออกเดินทางจากประเทศฝรั่งเศส ทั้งการเสด็จไปงานเลี้ยงรับรอง การเสด็จไปทอดพระเนตรการฝึกทหาร รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ รวมทั้งพระราชทัศนะต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ทรงพบเห็น พระราชนิพนธ์ The German Series สะท้อนให้เห็นพระราชดำริ พระราชทัศนะตลอดจนพระราชนิยมส่วนพระองค์ ทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรมและการเมืองการปกครอง รวมไปถึงความเจริญทางด้านอุตสาหกรรมของเยอรมนี ซึ่งในเวลานั้นนับว่าเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีความก้าวหน้าในระดับต้น ๆ ของโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กกล้า ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกมารได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมโรงงานถลุงเหล็กกล้าที่เมืองบาเด็น (Baden) ด้วย[38]

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปในฐานะผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการฝึกฝนให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารทรงมีความชำนาญทางการทูต และทรงคุ้นเคยกับเชื้อพระวงศ์ของราชสำนักยุโรป ความพยายามกระชับความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์นับว่าเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ราชสำนักสยามใช้มาโดยตลอด เพื่อปกป้องสยามจากการรุกรานของตะวันตก ด้วยความมุ่งหวังว่าความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ระหว่างพระมหากษัตริย์ด้วยกัน จะช่วยถ่วงดุลอำนาจระหว่างชาติตะวันตกด้วยกันไม่ให้ชาติหนึ่งชาติใดรุกรานสยาม

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

หลังจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารทรงสิ้นสุดการศึกษาที่ประเทศอังกฤษ มีการเตรียมการสำหรับการเสด็จนิวัติพระนครของพระองค์ โดยกำหนดเส้นทางให้พระองค์เสด็จกลับทางทวีปอเมริกาเหนือแทนทวีปแอฟริกาและเอเชีย เพื่อพระองค์จะทรงมีโอกาสเสด็จเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับสหรัฐอเมริกา ก่อนหน้าที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารจะเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา สยามได้เริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็มิเคยมีพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา

แม้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปในพ.ศ.2440 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเรียนรู้ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการของตะวันตกเพื่อนำมาใช้ปฏิรูปประเทศ ทว่าพระองค์ก็มิได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด สาเหตุหนึ่งก็คือศูนย์กลางของโลกและการเมืองระหว่างประเทศยังคงอยู่ที่ทวีปยุโรปเป็นหลัก ขณะที่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเกิดใหม่และยังไม่มีบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศเท่าใดนัก อีกทั้งการเดินทางจากสยามไปสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นยังยากลำบาก เพราะไม่มีมีเมืองท่าให้เติมเสบียงเท่าใดนัก อีกทั้งยังต้องเดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างโดดเดี่ยวเป็นเวลานานหลายวัน ต่างกับการเดินทางไปทวีปยุโรปที่มีเมืองท่าจำนวนมากให้จอดเทียบท่า

อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะเจริญสัมพันธไมตรีกับสหรัฐอเมริกา ดังนั้นพระองค์จึงมีพระราชดำริให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารเสด็จนิวัติพระนครโดยใช้เส้นทางผ่านสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับทั้งสองชาติและยังเป็นโอกาสให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารทรงมีโอกาสเสด็จประพาสรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริให้พระราชโอรสเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่นอีกแห่งหนึ่ง เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กับสยามมาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสอันดีที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารจะทรงมีโอกาสเยี่ยมชมโรงงานต่างและการจัดการราชการแผ่นดินของญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จทั้งในการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการปฏิรูปประเทศ

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา

ในวันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2446 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารพร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานารถ และข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ ได้แก่ พระยาราชวัลลภานุสิษฐ์ หลวงสรสิทธิยานุการ หม่อมอนุวัตร์ เสด็จประทับเรือฟุซต์ บิสมาร์ค เพื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา โดยในระหว่างที่ทรงเรือเล็กจากท่าเรือเมืองเซาท์แธมตัน พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 มีโทรเลขพระราชทานแก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารอวยพรให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ[39] เรือพระที่นั่งได้จอดเทียบท่าที่ฝรั่งเศสเพื่อรับผู้โดยสารเพิ่มและมุ่งหน้าสู่สหรัฐอเมริกาในวันที่ 10 ตุลาคม ที่ท่าเรือเมืองนิวยอร์ก โดยมีผู้แทนประธานาธิบดีและพระยาอรรคราชวราทร อัครราชทูตสยาม พร้อมด้วยข้าราชการที่สถานทูตเฝ้ารับเสด็จและนำเสด็จสู่สถานีรถไฟเพื่อประทับรถไฟพระที่นั่งซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้จัดถวายเป็นพิเศษมุ่งหน้าสู่กรุงวอชิงตันดี.ซี.[40]

เช้าวันที่ 11 ตุลาคม สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารและสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานารถทรงเข้าพบกับประธานาธิบดีธีโอดอร์ โรสเวลต์ (Theodore Roosevelt) ที่ทำเนียบขาว[41] ในระหว่างที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา ทรงมีโอกาสทอดพระเนตรสถานที่ต่าง ๆ ทั้งสุสานทหารที่แอร์ริงตัน อันเป็นสุสานแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา รัฐสภา ศาลสูง และหอสมุดแห่งชาติ[42]

สหรัฐอเมริกาแม้เป็นประเทศเกิดใหม่แต่ก็มีความเจริญก้าวหน้าในด้านการทหาร จึงเป็นโอกาสอันดีที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมหน่วยทหารต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตันดีซีและเมืองใกล้เคียง ทั้งโรงเรียนนายเรือ (United States Naval Academy) ที่แอนนาโปลิส (Annapolis) ค่ายทหารม้าฟอร์ตแมรี (Fort Marry) ตามคำแนะนำของประธานาธิบดีวิลสัน ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารได้ทอดพระเนตรอาวุธปืน โรงทหารและสโมสรทหาร[43]

สหรัฐอเมริกาได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมที่มีส่วนสำคัญในความสำเร็จนี้ก็คือ อุตสาหกรรมทอผ้า ด้วยเหตุนี้ จึงเสด็จพระราชดำเนินเยือนโรงงานทอผ้าที่เมืองวิลมิงตัน (Wilmington) รัฐเดลาแวร์ (Delaware) อีกทั้งยังทรงได้พบกับพี่น้องตระกูลพอตเตอร์ ซึ่งเป็นพระสหายของพระองค์ที่เมืองฟิดาเลเฟีย[44] ในระหว่างที่ประทับที่บ้านของพี่น้องตระกูลพอตเตอร์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จทอดพระเนตรอู่ต่อเรือและทำเครื่องจักร[45] นอกจากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ แล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารยังได้เสด็จเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา

เมื่อเสร็จสิ้นการเสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองบอสตัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารทรงประทับรถไฟมุ่งหน้าไปทางมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างทางพระองค์ทรงแวะเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทั้งโรงงานอุตสาหกรรม ค่ายทหาร และมหาวิทยาลัย การเดินทางด้วยรถไฟข้ามประเทศสหรัฐอเมริกาทำให้พระองค์ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อเมืองต่าง ๆ ทั้งในด้านของการพัฒนาการคมนาคมภายในประเทศและการพัฒนาประเทศ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนทวีปอเมริกาเหนือได้สิ้นสุดลงในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2446 เมื่อพระองค์เสด็จประทับเรือพระที่นั่งที่เมืองแวนคูเวอร์ เพื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่นอันเป็นที่หมายต่อไป ก่อนที่พระองค์จะเสด็จนิวัตพระนคร

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่น

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่นเป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จนิวัติพระนครของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เป้าหมายสำคัญในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนในคราวนี้ คือการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสยามและญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และทอดพระเนตรความสำเร็จของการปฏิรูปประเทศและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เดิมทีนั้นญี่ปุ่นและสยามต่างเผชิญหน้ากับภัยคุกคามของตะวันตก รัฐบาลทั้งสองประเทศจึงพยายามปฏิรูปประเทศของตนให้ทันสมัยตามอย่างตะวันตกยิ่งขึ้น ในขณะที่สยามยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามของมหาอำนาจอย่างต่อเนื่อง ญี่ปุ่นสามารถเอาชนะรัสเซียในสงครามญี่ปุ่น – รัสเซียในพ.ศ.2446 จุดนี้เองที่ทำให้ชนชั้นนำสยามพยายามมองหาลู่ทางในการปฏิรูปประเทศตามอย่างญี่ปุ่น

แผนการที่จะให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่นมีการเตรียมการมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม พ.ศ.2445 เมื่อพระยาประสิทธิ์ศัลการ อัครราชทูตสยามประจำลอนดอน ได้เข้าพบนายอิโต ฮิโรบุมิ (Ito Hirobumi) อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นซึ่งมาเที่ยวลอนดอน ในการพบกันครั้งนี้ พระยาประสิทธิ์ศัลการและนายเวอร์นีเล่าถึงแผนการของรัฐบาลสยามที่ต้องการให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่นและเข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิ ซึ่งเรื่องดังกล่าวทางรัฐบาลสยามได้แจ้งต่อนายฮายาชิ ทะดะซึ (Hayashi Tadasu) อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำอังกฤษ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งฮิโรบุมิก็เห็นดีด้วยกับการเสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่นในครั้งนี้[46]

ก่อนที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารจะเสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในปลายพ.ศ.2446 ทั้งรัฐบาลสยามและญี่ปุ่นต่างเตรียมการต้อนรับเสด็จอย่างละเอียดลออ เพื่อไม่ให้เสียพระเกียรติของทั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชการและสมเด็จพระจักรพรรดิมัตซึฮิโต (Emperor Matsuhito) ในระหว่างที่เตรียมแผนรับเสด็จฯ รัฐบาลญี่ปุ่นแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความกระตือรือร้นที่จะต้อนรับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ถึงขนาดเตรียมการให้เรือรบของญี่ปุ่นทำหน้าที่ส่งเสด็จนิวัติสยาม หากรัฐบาลสยามไม่ส่งเรือมารับหรือไม่ได้ประทับเรือโดยสารของเอกชน[47]

นอกจากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นแล้ว ยังมีความคิดที่จะให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินเยือนนครเซี่ยงไฮ้ของจีนในครั้งนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ความคิดดังกล่าวได้ยุติลงเพราะสยามและจีนยังมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีเท่าที่ควรนัก เกรงว่าหากเสด็จไปจีนจะรับเสด็จได้ไม่สมพระเกียรติ[48] ด้วยเหตนี้แผนการเสด็จพระราชดำเนินจึงกำหนดไว้เพียงสองประเทศ

วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2446 เรือพระที่นั่งของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารก็ได้เทียบท่าที่เมืองโยโกฮามา (Yokohama) โดยมีข้าราชการไทยและญี่ปุ่น รวมทั้งเจ้าชายโคมัตสึ (Prince Komatsu Akihito) และเจ้าชายฟูชิมิ ฮิโรยาสุ (Prince Fushimi Hiroyasu) ผู้แทนพระองค์สมเด็จพระจักรพรรดิมาเฝ้ารับเสด็จ เพื่อนำเสด็จประทับขบวนรถไฟพระที่นั่งสู่พระราชวังชิบะ อันเป็นที่ประทับที่สมเด็จพระจักรพรรดิทรงเตรียมไว้ให้[49]

ในระหว่างที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่นในฐานะผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีโอกาสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิที่พระราชวังอิมพีเรียล และสมเด็จพระจักรพรรดิทรงจัดพระกระยาหารต้อนรับพระองค์ ในระหว่างที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารประทับอยู่ที่พระราชวังชิบะ สมเด็จพระจักรพรรดิได้เสด็จมาเยี่ยมพร้อมกับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นที่ 1 ถือได้ว่าสมเด็จพระจักรพรรดิทรงให้ความสำคัญและให้เกียรติแก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารเป็นอย่างมาก[50]

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารยังทรงได้เข้าเฝ้าและเข้าพบบุคคลสำคัญของรัฐบาลญี่ปุ่นหลายคน เช่น เจ้าชายยามาชินะ (Prince Yamashina) เจ้าชายคุนิ คุนิโยชิ (Prince Kuni Kuniyoshi) เป็นต้น[51] การเสด็จพระราชดำเนินเยือนกรมทหารหน่วยต่าง ๆ ยังเป็นพระราชกรณียกิจหลักเพื่อทรงนำสิ่งที่ทรงพบเห็นไปปรับปรุงกองทัพสยาม สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมโรงเรียนนายร้อย โรงเรียนนายเรือ กรมทหารราบรักษาพระราชวัง โรงงานปืนใหญ่ และฐานทัพเรือ[52] เช่นเดียวกับการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล[53] ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศญี่ปุ่นและมีความเจริญก้าวหน้าและมาตรฐานทางการศึกษาเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป[54] นอกจากโตเกียวแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารยังได้เสด็จยังเมืองอื่น ๆ ทางรถไฟ เช่น นิกโก คามากุระ นาโกย่า โกเบ เกียวโต โอซาก้า และเสด็จนิวัติกรุงเทพจากเมืองนางาซากิด้วยเรือพระที่นั่งมหาจักรีในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2446

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นก่อนเสด็จนิวัติสยาม มีส่วนสำคัญที่ทำให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารทรงได้สัมผัสวิถีชีวิตและโลกทัศน์ของประเทศอื่น ๆ นอกยุโรป ที่สยามจะต้องมีสัมพันธไมตรีด้วย ซึ่งการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นนี้ทำให้พระองค์ทรงนำสิ่งที่พบเจอมาประยุกต์ใช้ในการปกครองประเทศเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์

พระราชกรณียกิจหลังเสด็จนิวัติสยาม

ภายหลังจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาและประเทศญี่ปุ่นแล้ว พระองค์ได้เสด็จนิวัตพระนครเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2445 นับแต่นั้นจนถึงพ.ศ.2453 พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะผู้แทนพระองค์ทำหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณสมเด็จพระบรมชนกนาถ รวมไปถึงทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพ.ศ.2450 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สอง ช่วงเวลานี้เองนับได้ว่าเป็นช่วงเวลาของการเตรียมพระองค์ให้พร้อมรับพระราชภาระอันหนักยิ่ง เมื่อจะต้องเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ

พระราชกรณียกิจในกองทัพสยาม

เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธเสด็จนิวัติสยาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กและจเรทหารบก[55] ตำแหน่งทั้งสองมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อผู้ที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ในอนาคต เพราะตำแหน่งผู้บังคับการทหารกรมทหารมหาดเล็ก คือตำแหน่งที่บังคับบัญชากรมทหารที่ทำหน้าที่ดูแล อารักขา และถวายความปลอดภัยให้กับพระเจ้าแผ่นดินอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าในขณะที่พระมหากษัตริย์ประทับอยู่ในเขตพระราชฐาน หรือเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ต่าง ๆ ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ต้องตามเสด็จตลอดเวลา จึงเป็นหน่วยที่มีความสำคัญมาก ด้วยเหตุนี้ผู้จะทำหน้าที่บังคับบัญชาหน่วยจึงต้องเป็นบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนากรมทหารหน่วยนี้ขึ้น พระองค์ทรงเป็นผู้บังคับการกรมด้วยพระองค์เอง แต่เมื่อขอบเขตการบริหารประเทศกว้างขวางยิ่งขึ้น พระองค์ไม่ทรงมีเวลาดูแลกรมทหารดังกล่าวอย่างใกล้ชิด จึงทรงแต่งตั้งพระเจ้าน้องยาเธอที่ทรงสนิทสนมคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ขึ้นเป็นผู้บังคับการของกรมทหารดังกล่าว และเมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จนิวัติพระนคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งสมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯ ขึ้นเป็นผู้บังคับการกรมทหารนี้สืบต่อมา

การที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก ในด้านหนึ่งก็เป็นการฝึกฝนพระองค์ในหน้าที่ทางทหาร ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการเตรียมพระองค์สำหรับการขึ้นครองราชย์ด้วย หากพระองค์ทรงสามารถทำให้ทหารในหน่วยมีความจงรักภักดีต่อพระองค์ได้ ก็จะเป็นหลักประกันที่สำคัญต่อความมั่นคงของพระราชอำนาจเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ เพราะทหารหน่วยนี้จะเป็นผู้ทำหน้าที่ถวายความปลอดภัยให้แก่พระองค์ในอนาคต

ส่วนตำแหน่งจเรทหารบก แม้เป็นตำแหน่งที่ไม่มีทหารในบังคับบัญชา กล่าวคือมีหน้าที่ตรวจตราความเรียบร้อยของหน่วยงานและกิจการต่าง ๆ ในกองทัพบก แต่สำหรับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว หน้าที่จเรทหารบกมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะหน้าที่ดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงเข้าใจถึงการทำงานและปัญหาของทหารหน่วยต่าง ๆ ในกองทัพบก จากการคอยตรวจตราความเป็นระเบียบเรียบร้อยในของทหารในทุกกรมกอง ต่างจากการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารระดับสูงซึ่งมุ่งเน้นงานบริหารกำลังพลหรือทำหน้าที่บัญชาการรบ อันมิใช่หน้าที่โดยตรงของพระมหากษัตริย์

ด้วยเหตุนี้เอง ระหว่างที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงดำรงตำแหน่งจเรทหารบก พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติเป็นประจำคือ การเสด็จเยี่ยมกรมทหารต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยและการเสด็จเข้าร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมต่าง ๆ ของทหารรวมถึงการซ้อมรบ ซึ่งพระองค์จะมีลายพระหัตถ์รายงานผลการซ้อมรบและและมีพระราชทัศนะต่อการซ้อมรบในส่วนต่าง ๆ ทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยตรง

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2448 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมการซ้อมรบที่ราชบุรี[56] ซึ่งพระองค์มีพระราชวิจารณ์ปัญหาต่าง ๆ ในกองทัพบกทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งเรื่องยุทโธปกรณ์ของทหารอย่างกระสุนซ้อมรบที่มักติดในลำกล้องอยู่เสมอ หรือรองเท้าผ้าใบชนิดใหม่ที่ใช้ในกองทัพที่ส้นรองเท้ามักจะหลุดง่าย[57] และการฝึกซ้อมรบของทหาร

		“... ข้าพระพุทธเจ้าได้ดูกองทหารยิงรูปหุ่นด้วยปืนเล็ก สังเกตดูพลทหารยิงพอประมาณมีประหม่ามาก ทั้งนายทหารทหารชั้นนายหมวดก็ติดจะประหม่าด้วย ไม่ใคร่
	คอยดูแลตรวจตราการยิง แต่ในเรื่องนี้ผู้บังคับบัญชาการก็ได้กล่าวตักเตือนแล้ว ตามความแนะนำของข้าพระพุทธเจ้า ยังผู้บังคับบัญชากองร้อยบางคนก็เอาใจใส่น้อยไป ไม่ใคร่
	คอยตักเตือนนายหมวด แต่โดยมากกระทำตามน่าที่พอสมควร ข้าพระพุทธเจ้าสังเกตเห็นนายร้อยเยื้อน กรมทหารม้าที่ 2 ดูเปนคนเอาใจใส่การบังคับบัญชา และตรวจตรา
	กองร้อยดีกว่าผู้อื่น ทั้งในการยิงปืนและการอื่น ๆ ทั่วไป เพราะนายร้อยเยื้อนเอาใจใส่เช่นนั้น กรมทหารม้าจึงยิงปืนได้แต้มดีกว่ากองอื่น”[58]  

ลายพระหัตถ์ฉบับดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความใส่พระราชหฤทัยของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ต่อกองทัพ เมื่อพระองค์ทรงเห็นว่าสิ่งใดที่ควรปรับปรุงแก้ไข ก็มีพระราชวิจารณ์ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมราชนกอย่างตรงไปตรงมา

		“... มีเหตุการณ์ที่เสีย คือ ลูกกระสุน เมื่อใช้ยิงแตกอากาศไม่ใคร่จะแตกตามประสงค์ แตกต่อเมื่อกระทบแล้วหลายกระสุน ไม่แตกเลยก็มีบ้าง และบางกระสุนแตก
	ที่น่ากระบอกปืน ซึ่งเปนที่น่ากลัวอันตรายมาก ที่แตกใกล้ ๆ เช่นนี้ มิใช่แตกกระสุนหนึ่งหรือสอง เปนหลายกระสุนมาก ถ้าแม้ว่าเปนเวลาจำเปนต้องยิงข้ามศีษะทหารราบฝ่ายเรา
	เองแล้ว ไม่ต้องสงไสเลยว่าคนของเราจะเปนอันตรายไม่มากกว่าฆ่าศึกก็เกือบเท่า ๆ กัน การเก็บกระสุนหรือชนวนไว้นาน ๆ ถึง 9 ปี 10 ปี เช่นนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าไม่คุ้ม
	การเปลืองพระราชทรัพย์เพียงไร กลับจะทำให้เสียราชการเวลาสำคัญจริง ๆ อีก ตัวเปลือกนอกนั้นไม่ปลาดจะเก็บไว้นานหน่อยก็ได้ แต่ดินระเบิดและเครื่องกลไกภายในชนวน 
	เปนต้น ไม่ควรทิ้งไว้จนเสียแล้วจึงเปลี่ยน สู้สีกำหนดให้ชัดเจนว่าจะใช้นานเพียงใดไม่ได้ และเมื่อถึงกำหนดก็เปลี่ยนเสีย ในเรื่องนี้ข้าพระพุทธเจ้ากล่าวยืดยาวหน่อย เพราะเห็น
	ว่าเปนการจำเปน ที่กรมยุทธนาธิการจะตระเตรียมการให้พร้อมดีไว้เสมอ ถึงแม้ไม่มีเหตุการณ์อันใดก็เตรียมไว้ดีกว่าการเพิกเฉย ทำให้กองทัพต้องเสียท่วงทีไปหลายครั้งใน
	ประเทศต่าง ๆ ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกอยู่ว่า ถ้าไม่แสดงความเห็นส่วนตัวให้แจ่มแจ้ง ก็จะเปนอันไม่ได้ประพฤติตามน่าที่จะเรทัพ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณา
	โปรดตั้งไว้ให้ข้าพระพุทธเจ้าเปนนั้น จึงได้กล่าวยืดยาวกว่าธรรมดา เพราะเปนโอกาศดีในครั้งนี้”[59]

จะเห็นได้ว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธทรงตระหนักว่าหน้าที่ของพระองค์ในฐานะจเรทหารนั้นมีความสำคัญ พระองค์จะต้องทรงตรวจตราและรายงานเหตุการณ์ต่าง ๆ ภายในกองทัพอย่างตรงไปตรงมาทูลเกล้าถวายฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะเป็นเรื่องของความมั่นคงของประเทศ หากกองทัพขาดประสิทธิภาพแล้วย่อมไม่สามารถทำหน้าที่ปกป้องประเทศจากภัยอันตรายทั้งภายในและภายนอกได้

ในขณะเดียวกันหน้าที่จเรทหารบกก็ทำให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงมีโอกาสรับทราบกิจการต่าง ๆ ภายในกองทัพ รวมไปถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อันจะทำให้พระองค์ทรงมีความพร้อมในการบังคับบัญชากองทัพในฐานะจอมทัพของชาติเมื่อพระองค์จะต้องเสด็จขึ้นครองราชสมบัติต่อไป[60]

การปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์

การเสด็จประพาสต้น หรือการท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ อย่างไม่เป็นทางการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ เพราะทำให้พระองค์ทรงเข้าใจถึงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนและระบบราชการในพื้นที่ห่างไกลจากศูนย์กลางการปกครอง ด้วยเหตุนี้ เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จนิวัติประเทศสยามแล้ว พระราชกรณียกิจที่ทรงได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์อยู่เป็นประจำก็คือ การเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ห่างไกล อันจะทำให้พระองค์เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร รวมถึงสภาพภูมิรัฐศาสตร์ของพื้นที่ต่าง ๆ ที่อยู่ห่างไกลจากเมืองหลวง

การปฏิรูปการปกครองของสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ต้องการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยพระมหากษัตริย์ส่งข้าหลวงจากกรุงเทพฯเข้าไปปกครองดินแดนต่าง ๆ แทนผู้ปกครองท้องถิ่น ทำให้สยามจำเป็นต้องพัฒนาระบบขนส่งเพื่อเชื่อมต่อหัวเมืองต่าง ๆ กับกรุงเทพฯ ให้เดินทางไปมาหาสู่กันได้สะดวกและรวดเร็วที่สุด รถไฟนับเป็นพาหนะสำคัญในการเชื่อมโยงดินแดนที่อยู่ห่างไกลกับกรุงเทพฯ ด้วยเหตุนี้เอง การก่อสร้างทางรถไฟจึงเริ่มต้นขึ้น และขยายตัวอย่างรวดเร็วตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากบริบททางด้านการเมืองการปกครองแล้ว ทางรถไฟยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและการขยายตัวของชุมชนเมืองในพื้นที่ที่ทางรถไฟตัดผ่าน และบริเวณที่เป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟ อีกทั้งทางรถไฟยังเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ด้วยเหตุนี้การเปิดทางรถไฟเส้นทางใหม่ ๆ จึงมีความสำคัญไม่ใช่เฉพาะประชาชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพระมหากษัตริย์ด้วย

การเสด็จเปิดเส้นทางรถไฟที่สร้างเสร็จจึงเป็นสิ่งที่พระมหากษัตริย์ทรงใส่พระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงแรกของการก่อสร้างทางรถไฟนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถมักเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดทางรถไฟด้วยพระองค์เอง เช่น ในคราวเปิดเส้นทางรถไฟสายแรกของประเทศระหว่างกรุงเทพฯ กับนครราชสีมา ในพ.ศ.2435[60] ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชภาระในการบริหารประเทศมากขึ้น ทรงมอบหมายให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จแทนพระองค์ไปเปิดเส้นทางรถไฟสายใหม่ที่เมืองอุตรดิตถ์ และเมืองสวรรคโลก ในระหว่างวันที่ 3 – 17 ธันวามคม พ.ศ.2452[61]

นอกจากการเสด็จไปเปิดเส้นทางรถไฟที่ภาคเหนือแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารยังได้เสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ในพ.ศ.2452 ซึ่งการเสด็จในคราวนี้นอกจากจะได้ทรงเรียนรู้สภาพควาเมป็นอยู่ของประชาชนแล้ว ยังเป็นการตรวจราชการแทนพระองค์ไปในตัวด้วย ซึ่งระหว่างที่เสด็จประพาสยังที่ต่าง ๆ ก็จะทรงมีพระราชหัตถเลขากราบบังคมทูลรายงานเหตุการณ์ต่าง ๆ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ เช่น เมื่อเสด็จประพาสชุมพร อันเป็นแหล่งเก็บรังนกนางแอ่นที่สำคัญ[62] สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารก็ได้เสด็จไปยังเกาะลังกาจิ๋วอันเป็นพื้นที่เก็บรังนกนางแอ่นที่สำคัญ และเมื่อเสด็จถึงเมืองต่าง ๆ เช่น ชุมพร ระนอง หรือพังงา เป็นต้น ก็จะทรงมีพระราชหัตถเลขารายงานสภาพบ้านเมืองและความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงพระราชกรณียกิจในแต่ละวันถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบกลับ ในบางครั้งก็จะทรงเล่าถึงพระราชกรณียกิจในอดีตที่พระองค์เคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองนั้น ๆ พระราชทานให้กับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร[63]

เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินถึงมณฑลภูเก็ต ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องการหาอาชีพทดแทนให้กับชาวภูเก็ตเมื่อการทำเหมืองแร่ดีบุกสิ้นสุดลง โดยในพระราชหัตถเลขาทรงอธิบายถึงการดำรงชีพของชาวภูเก็ตในเวลานั้นที่พึ่งพิงการทำเหมืองแร่เป็นหลัก แต่ในวันข้างหน้า แร่ดีบุกที่ภูเก็ตย่อมหมดลง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาอาชีพใหม่มารองรับ พระองค์ทรงมีพระราชดำริถึงการปลูกต้นเฮมพ์เพื่อนำเส้นใยมาทอผ้า ซึ่งเป็นที่ต้องการของชาวยุโรป และกำลังปลูกอย่างแพร่หลายในฟิลิปปินส์ขณะนั้น โดยทรงพยายามหาพืชท้องถิ่นที่คุณสมบัติเช่นเดียวกับเฮมพ์มาเพาะปลูกเพื่อเป็นแหล่งรายได้ให้กับประชาชน พระองค์ทรงเสนอให้มีการปลูกกล้วยป่าเพื่อนำหยวกกล้วยมาทำเส้นใยเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ เนื่องจากใยกล้วยป่ามีความเหนียวและทนเช่นเดียวกับใยของต้นเฮมพ์ และมีพระราชดำริให้กระทรวงเกษตรทดลองปลูกต้นกล้วยป่าในเวลาต่อมา[64] อย่างไรก็ดี เนื่องจากแร่ดีบุกยังมีปริมาณมากพอ จึงไม่ได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกกล้วยป่าตามพระราชดำริของพระองค์

การเสด็จพระราชดำเนินประพาสต่างจังหวัดของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารในด้านหนึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์เพื่อทำหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณ ตรวจสอบความเรียบร้อยในงานราชการ ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารมิได้ทรงรายงานกิจการของราชการต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังถวายคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วย ในอีกด้านหนึ่ง การเสด็จประพาสก็เป็นการเตรียมพระองค์ก่อนจะเป็นพระมหากษัตริย์ที่จะต้องปกครองประชาชนทั้งราชอาณาจักร พระมหากษัตริย์จึงจำเป็นที่จะต้องทราบถึงลักษณะพื้นที่ทั้งด้านภูมิศาสตร์และประชาชนที่แตกต่างไปจากกรุงเทพฯ อันจะทำให้พระองค์สามารถดำเนินพระบรมราโชบายได้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้น ๆ

หอพระสมุดวชิรญาณ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการให้ก่อสร้างอาคารขึ้นบริเวณหน้าวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารขึ้นเพื่อนำรายได้จากค่าเช่าอาคารแบ่งให้พระราชโอรส ในระยะแรกทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้ขอเช่าอาคารเพื่อทำสำนักงาน จนกระทั่งพระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ได้บอกเลิกสัญญาเช่า อาคารก็ถูกทิ้งไม่ได้รับการดูแลจนทำให้อาคารทรุดโทรมเป็นอย่างมาก กระทั่งห้างมูลเลอร์ไมเนอร์ได้ขอเช่าอาคารในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงอนุญาตและนำรายได้จากค่าเช่าตึกแจกจ่ายให้กับพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นประจำทุกปี จนกระทั่งพ.ศ.2423 สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงปรึกษากันว่าควรนำเงินรายได้จากค่าเช่าตึกนี้ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อนำมาจัดสร้างหอพระสมุดพระวชิรญาณ[65] ตามพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ หากอาคารดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน เหตุเพราะไม่มีทายาทสืบทอดมรดก พระองค์ทรงหวังว่าพระเจ้าแผ่นดินจะนำรายได้ที่ได้รับมาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาหรือการศึกษาของประชาชน ดีกว่านำไปใช้ประโยชน์ส่วนตนซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ทั้งสามพระองค์ทรงมีหนังสือถึงพระราชโอรสพระองค์อื่น ๆ ที่ถือสิทธิในอาคารดังกล่าว ซึ่งเจ้านายทุกพระองค์ต่างเห็นชอบกับพระดำริดังกล่าว จึงนำเงินรายได้จากค่าเช่าอาคารทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนำมาจัดตั้งหอพระสมุดวชิราญาณ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[66] ด้วยเหตุนี้ ในพ.ศ.2426 หอพระสมุดวชิรญาณตั้งขึ้นบริเวณห้องชั้นต่ำมุขกระสันพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ต่อมาในพ.ศ.2430 ได้ย้ายไปอยู่บริเวณใต้ถุนทิมดาบหน้าพระที่นั่งมหาจักรี กระทั่งพ.ศ.2434 ได้ย้ายมาตั้งที่ศาลาสหทัยสมาคมเป็นการถาวร[67]

การตั้งหอพระสมุดวชิรญาณมีความมุ่งหมายสำคัญคือ การเป็นแหล่งค้นคว้าเรียนรู้ ด้วยเหตุนี้หอพระสมุดวชิรญาณจึงรวบรวมหนังสือต่าง ๆ ไว้เพื่อให้หอพระสมุดฯ เป็นศูนย์รวมความรู้ให้กับประชาชน นอกจากนี้หอพระสมุดฯ ยังตีพิมพ์หนังสือต่าง ๆ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณชน หนังสือหลายเล่มได้กลายเป็นสมบัติความรู้ของชาติที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน เช่น “พระราชพิธี 12 เดือน” อันเป็นงานพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การตีพิมพ์หนังสือพระราชพิธี 12 เดือนมีความมุ่งหมายกระตุ้นให้คนไทยแต่งหนังสือเพื่อเผยแพร่ความรู้ของตนสู่สาธารณชน หากงานเขียนเรื่องใดได้รับการพิจารณาจากกรรมการหอพระสมุดว่ามีประโยชน์ ก็จะได้รับการอุดหนุนให้ตีพิมพ์เผยแพร่ต่อไป[68]

สิ่งพิมพ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของหอพระสมุดฯ คือ “หนังสือวชิรญาณ” ซึ่งแบ่งออกเป็นสามประเภทได้แก่ หนังสือวชิรญาณวิเศษ มีลักษณะการตีพิมพ์แบบวารสาร ออกทุกวันอาทิตย์และวันพฤหัสบดีของสัปดาห์ หนังสือวชิรญาณปัญหา พิมพ์แจกเป็นคราว ๆ ไม่มีกำหนด และหนังสือวชิรญาณรายเดือน ออกเดือนละหนึ่งเล่ม[69] อย่างไรก็ตาม การเผยแพร่ความรู้ของหอพระสมุดวชิรญาณยังเป็นไปอย่างจำกัดเนื่องจากบุคคลที่มีสิทธิใช้หอพระสมุดฯ และรับหนังสือวชิรญาณจะต้องเป็นสมาชิกของหอพระสมุด และเสียค่าบำรุง 20 บาทต่อปี [70] ด้วยเหตุนี้ การเข้าถึงหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับประชาชนทั่วไปนับว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง

ในพ.ศ.2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรรมการบริหารหอพระสมุดชุดใหม่ ประกอบด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารทรงดำรงตำแหน่งสภานายกในหอพระสมุดวชิรญาณ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมติอมรพันธุ์ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ และพระยาโบราณบุรานุรักษ์ เป็นกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ[71] เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารทรงตำแหน่งสภานายก หอพระสมุดก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยเปลี่ยนสถานะจากหอพระสมุดวชิรญาณเป็นหอสมุดสำหรับพระนครในเดือนตุลาคม พ.ศ.2448

การเปลี่ยนสถานะจากหอพระสมุดวชิรญาณเป็นหอสมุดสำหรับพระนครมีนัยยะสำคัญของการกระจายความรู้สู่สาธารณชนให้มากยิ่งขึ้น มิใช่เพียงเจ้านาย เชื้อพระวงศ์ หรือขุนนางเท่านั้นที่มีสิทธิใช้หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับค้นหาความรู้ แต่ราษฎรก็สามารถใช้ห้องสมุดดังกล่าวเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมได้เช่นกัน จึงมีการเลิกเก็บค่าธรรมเนียมสมาชิกรายปี ทำให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าใช้บริการห้องสมุดได้อย่างเสรี[72] และด้วยพระราชประสงค์ของสภานายกที่ต้องการให้หอพระสมุดสำหรับพระนครเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ให้แก่ประชาน จึงมีการนำคัมภีร์และหนังสือที่เก็บกระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ มารวมไว้ที่หอสมุดสำหรับพระนคร เช่น หนังสือจากหอพุทธสาสนสังคะหะ หนังสือและคัมภีร์พระไตรปิฎกจากหอพระมณเฑียรธรรม[73] พร้อมกันนี้หอสมุดสำหรับพระนครยังได้จัดหมวดหมู่หนังสือเสียใหม่ โดยให้แบ่งหมวดหมู่หนังสืออกเป็นสามประเภทได้แก่ แผนกพระพุทธศาสนา ซึ่งรวบรวมหนังสือ ตำรา คัมภีร์ภาษาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา แผนกที่สองคือ แผนกหนังสือไทย ซึ่งเก็บรวบรวมหนังสือภาษาไทยประเภทต่าง ๆ ยกเว้นที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา และแผนกสุดท้ายคือ แผนกหนังสือภาษาต่างประเทศ[74]

พร้อมกับการตั้งหอสมุดสำหรับพระนคร ยังมีการกำหนดหน้าที่กรรมการหอสมุดอย่างชัดเจนขึ้นว่า จะต้องมีหน้าที่อย่างใดบ้างในการบริหารหอสมุดสำหรับพระนคร หน้าที่หลักของกรรมการได้แก่ การจัดและตรวจตราหอสมุดฯ ให้มีความเรียบร้อย การทำบัญชีรายรับจ่ายของหอสมุด และการทำรายงานประจำปีเพื่อรายงานผลของหอสมุดสำหรับพระนคร เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงถึงผลการดำเนินงานของ์หอสมุดฯ[75]

ในระหว่างที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารทรงดำรงตำแหน่งสภานายกฯ หอสมุดได้ขอโอนย้าย ดร.ออสการ แฟรงก์เฟอเธอร์ (Oskar Frankfurther) จากกระทรวงการต่างประเทศมาเป็นบรรณารักษ์ที่หอสมุดและหัวหน้าแผนกหนังสือต่างประเทศ เพื่อให้การจัดการห้องสมุดมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเก็บรวบรวมหนังสือเก่าด้วย ด้วยเหตุนี้ ห้องสมุดจึงเริ่มเก็บรวบรวมหนังสือเก่าเป็นจำนวนมากเพื่อรักษาเป็นมรดกมิให้ความรู้เหล่านี้สูญหายไป[76] ที่สำคัญคือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระองค์ได้พระราชทานต้นฉบับงานพระราชนิพนธ์ให้แก่หอสมุด เช่น ปลุกใจเสือป่า แบบสั่งสอนเสือป่าแลลูกเสือ บ่อเกิดรามเกียรติ์ โองการแช่งน้ำ เป็นต้น[77] นอกจากหนังสือภาษาไทยแล้ว หอสมุดยังได้รวบรวมหนังสือจากต่างประเทศมาไว้ในห้องสมุด ซึ่งในระหว่างที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารทรงดำรงตำแหน่งสภานายกฯ นั้น หอสมุดสามารถเก็บรวบรวมหนังสือจากชาติต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นภาษาฝรั่งเศส ภาษาดัชต์ ภาษาโปรตุเกส หรือภาษาอังกฤษ เป็นต้น[78]

สรุป

ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ทรงได้รับมอบหมายพระราชกรณียกิจหลายประการ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นการปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งการเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์เข้าเฝ้าและเข้าพบผู้นำประเทศต่าง ๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับชาติต่าง ๆ การเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์นี้เป็นการฝึกฝนให้พระองค์ทรงคุ้นชินกับพระราชภารกิจของพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้นำประเทศ อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้พระองค์เป็นที่รู้จักคุ้นเคยกับราชสำนักของชาติต่าง ๆ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศยังเปิดโอกาสให้พระองค์ทรงนำประสบการณ์ต่าง ๆ มาปรับใช้ในการปกครองประเทศ

หลังจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารเสด็จนิวัติพระนคร พระราชกรณียกิจโดยมากมักเป็นงานที่ทรงได้รับมอบหมายจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทั้งการตรวจเยี่ยมการซ้อมรบของทหารบก การเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ยังจังหวัดต่าง ๆ ทั้งเพื่อตรวจสอบการทำงานของข้าราชการและเยี่ยมเยียนราษฎร พระราชกรณียกิจเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เพราะทำให้ทรงเข้าใจถึงสภาพภูมิประเทศและการดำรงชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ อีกทั้งพระองค์ยังทรงได้รับมอบหมายให้ดูแลหอพระสมุดวชิราญาณซึ่งเป็นสถานที่กระจายความรู้สู่ประชาชน จนมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับหอสมุดของชาติตะวันตก


1. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระนคร: ราชบัณฑิตยสภา, 2472), หน้า 8[^]
2. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และพระโอวาทแลลายพระหัตถ์ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี และพระประวัติฯ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง พระธิดา ทรงเรียบเรียง (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เรือนแก้ว, 2534), หน้า 18.[^]
3. หจช. ร.5 ต.49/7 พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน ร.ศ.112.[^]
4. หจช. ร.5 ต.49/24 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงพระยาประสิทธิศัลการ ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ร.ศ.118.[^]
5. หจช. ร.5 ต.49/7 พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน ร.ศ.112[^]
6. หจช. ร.5 ต.49/12 โปรแกรมการเล่าเรียนสมเด็จพระบรมโอรส (ลายพระหัตถ์พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ) ลงวันที่ 18 ตุลาคม ร.ศ.114.[^]
7. หจช. ร.5 ต.2/3 เจ้าพระยาอภัยราชากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ.1895[^]
8. Ratana Tanadbanchee Tungasvadi, “King Vajiravudh's Moral Concepts for Citizenship,” (Doctor of Philosophy, University of Pennsylvania, 2004), P.9.[^]
9. หจช. ต. 49/1.3 รายงานพระยาราชวัลลภานุสิษฐ ปึกหนึ่ง (24 ม.ค. 114 – 22 เม.ย. 119)[^]
10. บรรดาศักดิ์สุดท้ายคือ “เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี”[^]
11. สุจิรา ศิริไปล์, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสงครามโลก ครั้งที่หนึ่ง, หน้า 8.[^]
12. หจช., ร.5 ต.49/8 หนังสือพระยาวิสุทธิ์สุริยศักดิ์ กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 7 ตุลาคม ร.ศ.117[^]
13. วรชาติ มีชูบท, พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม (กรุงเทพฯ: สร้างสรรบุ๊คส์, 2552), หน้า 202.[^]
14. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ, สงครามสืบราชสมบัติโปลันด์ (พระนคร: กรมศิลปากร, 2496).[^]
15. วรชาติ มีชูบท, พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม, หน้า 202.[^]
16. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ, จดหมายถึงผีเสื้อ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2523).[^]
17. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ, จดหมายจากเยอรมนี (กรุงเทพฯ: มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2525).[^]
18. “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จเยี่ยมอิตาลี” ราชกิจจานุเบกษา 19 (16 พฤศจิกายน ร.ศ.121), หน้า 19.[^]
19. “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จประเทศนิเทอแลนด์” ราชกิจจานุเบกษา 19 (7 กันยายน ร.ศ.121), หน้า 466.[^]
20. “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จกรุงเบลเยียม” ราชกิจจานุเบกษา 19 (14 กันยายน ร.ศ.121), หน้า 482.[^]
21. “ข่าวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จเยือนปารีศ” ราชกิจจานุเบกษา 19 (16 พฤศจิกายน ร.ศ.121), หน้า 833.[^]
22. [^]
23. “ข่าวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จประเทศออสเตรีย” ราชกิจจานุเบกษา 19 (9 พฤศจิกายน ร.ศ.121), หน้า 646.[^]
24. “ข่าวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จประเทศฮังการี” ราชกิจจานุเบกษา 19 (16 พฤศจิกายน ร.ศ.121), หน้า 662.[^]
25. “ข่าวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จกรุงเดนมาร์ก” ราชกิจจานุเบกษา 19 (18 มกราคม ร.ศ.121), หน้า 853.[^]
26. “ข่าวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จประเทศรัสเซีย” ราชกิจจานุเบกษา 19 (27 กันยายน 121), หน้า 497.[^]
27. “ข่าวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จประเทศอียิปต์” ราชกิจจานุเบกษา 19 (28 กันยายน 121), หน้า 516.[^]
28. “เรื่องเดียวกัน, หน้า 516.[^]
29. “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จกรุงเบลเยียม” ราชกิจจานุเบกษา 19 (14 กันยายน ร.ศ.121), หน้า 484.[^]
30. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ, จดหมายถึงผีเสื้อ, หน้า 6 – 7.[^]
31. เรื่องเดียวกัน, หน้า 11.[^]
32. เรื่องเดียวกัน, หน้า 16 – 17.[^]
33. เรื่องเดียวกัน, หน้า 9.[^]
34. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ, จดหมายถึงผีเสื้อ, หน้า 14 – 15.[^]
35. เรื่องเดียวกัน, หน้า 41.[^]
36. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ, จดหมายถึงผีเสื้อ, หน้า 32.[^]
37. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ, จดหมายจากเยอรมนี, หน้า 11 – 12.[^]
38. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ, จดหมายจากเยอรมนี, หน้า 35 – 36.[^]
39. “ข่าวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จประเทศกรุงยุไนเตดสเตตซ์อเมริกา” ราชกิจจานุเบกษา 19 (1 กุมภาพันธ์ ร.ศ.121), หน้า 890.[^]
40. เรื่องเดียวกัน, หน้า 891.[^]
41. เรื่องเดียวกัน, หน้า 891.[^]
42. เรื่องเดียวกัน, หน้า 892.[^]
43. “ข่าวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จประเทศกรุงยุไนเตดสเตตซ์อเมริกา” ราชกิจจานุเบกษา 19 (1 กุมภาพันธ์ ร.ศ.121), หน้า 905.[^]
44. เรื่องเดียวกัน, หน้า 906.[^]
45. เรื่องเดียวกัน, หน้า 907.[^]
46. กจช. ร.5 ต.49/40 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จประพาสเมืองญี่ปุ่น ลงวันที่ 8 มกราคม ร.ศ.120.[^]
47. กจช. ร.5 ต.49/40 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จประพาสเมืองญี่ปุ่น ลงวันที่ 8 กันยายน ร.ศ.121.[^]
48. กจช. ร.5 ต.49/40 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จประพาสเมืองญี่ปุ่น ลงวันที่ 4 มิถุนายน ร.ศ.121.[^]
49. กจช. ร.5 ต.49/40 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จประพาสเมืองญี่ปุ่น ลงวันที่ 26 มกราคม ร.ศ.121.[^]
50. กจช. ร.5 ต.49/40 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จประพาสเมืองญี่ปุ่น ลงวันที่ 26 มกราคม ร.ศ.121.[^]
51. เรื่องเดียวกัน.[^]
52. เรื่องเดียวกัน.[^]
53. ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยโตเกียว”[^]
54. กจช. ร.5 ต.49/40 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จประพาสเมืองญี่ปุ่น ลงวันที่ 26 มกราคม ร.ศ.121.[^]
55. “แจ้งความกรมยุทธนาธิการ เรื่อง ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงรับตำแหน่งเป็นจเรทัพบกและตำแหน่งนายพันโทกรมทหารมหาดเล็ก,” ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 20, ตอนที่ 6 (10 พฤษภาคม 2446): 82.[^]
56. กจช. ร.5 13.1/78 ซ้อมรบ ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ร.ศ.123.[^]
57. เรื่องเดียวกัน[^]
58. กจช. ร.5 13.1/78 ซ้อมรบ ลงวันที่ 6 มีนาคม ร.ศ.123[^]
59. กจช. ร.5 13.1/78 ซ้อมรบ ลงวันที่ 6 มีนาคม ร.ศ.123[^]
60. “การเปิดทางรถไฟนครราชสีมาระหว่างกรุงเทพฯ กับกรุงเก่า และเปิดที่ว่าการข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า” ราชกิจจานุเบกษา 14 (4 เมษายน พ.ศ.2440): 11 – 14.[^]
61. “การเปิดรถไฟสายเหนือแต่เมืองพิศณุโลกไปยังเมืองอุตรดิษฐ์แลเมืองสวรรคโลก” ราชกิจจานุเบกษา 26 (26 ธันวาคม ร.ศ.128): 2059.[^]
62. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, จดหมายเหตุ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. 128 พ.ศ. 2452, พระนคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2509, หน้า 9 – 10. [^]
63. เรื่องเดียวกัน, หน้า 25 – 41. [^]
64. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, จดหมายเหตุ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. 128 พ.ศ. 2452, หน้า 45 – 46.[^]
65. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา, เรื่องตั้งหอสมุดพระวชิรญาณ (พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2471), หน้า 20 – 21.[^]
66. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา, เรื่องตั้งหอสมุดพระวชิรญาณ, หน้า 20 – 21..[^]
67. ราชบัณฑิตยสภา, อธิบายว่าด้วยหอพระสมุดวชิรญาณ แล พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร, (พระนคร: ราชบัณฑิตยสภา, 2469), หน้า 4.[^]
68. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา, เรื่องตั้งหอสมุดพระวชิรญาณ, หน้า 23.[^]
69. ธนพงศ์ จิตต์สง่า, “วชิรญาณ กับการแสวงหาความรู้ของชนชั้นนำของสยาม พ.ศ. 2427-2448,” (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552), หน้า 94.[^]
70. เรื่องเดียวกัน,หน้า 20. [^]
71.“พระราชทานตราตั้ง กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ,” ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 22, ตอนที่ 30 (22 ตุลาคม 2448): 639.[^]
72.“ประกาศจัดการหอพระสมุดวชิรญาณ ให้เป็นหอสมุดสำหรับพระนคร รัตนโกสินทร์ ศก 124,” ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 22, ตอนที่ 29 (15 ตุลาคม 2448): 619.[^]
73.เรื่องเดียวกัน, หน้า 619.[^]
74.“ประกาศจัดการหอพระสมุดวชิรญาณ ให้เป็นหอสมุดสำหรับพระนคร รัตนโกสินทร์ ศก 124,” ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 22, ตอนที่ 29 (15 ตุลาคม 2448): 620.[^]
75. เรื่องเดียวกัน, หน้า 620. [^]
76. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา, ตำนานหอพระสมุด หอพระมณเฑียรธรรม หอวชิรญาณ หอพุทธสาสนสังคหะ แลหอสมุดสำหรับพระนคร (พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2459), หน้า 72.[^]
77. เรื่องเดียวกัน, หน้า 74.[^]
78. เรื่องเดียวกัน, หน้า 82.[^]