เกี่ยวกับเรา

โครงการจุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย

พ.ศ. 2560 ในวาระครบรอบ100 ปี แห่งการประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาฯ ได้เฉลิมฉลองวาระสำคัญนี้โดยจัดทำคลังข้อมูลดิจิทัล ซึ่งรวบรวมข้อมูลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เป็นแหล่งค้นคว้าทางวิชาการ ประกอบด้วย พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชนิพนธ์และสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวเนื่องซึ่งสำนักงานได้เก็บรักษาต้นฉบับไว้และแปลงเป็นเอกสารดิจิทัลให้เข้าถึงเอกสารฉบับเต็มได้อย่างกว้างขวาง รวมถึงการเรียบเรียงข้อมูลตามลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย และคลังภาพ ทั้งนี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประพจน์ อัศววิรุฬหการ ได้กรุณาตั้งชื่อคลังข้อมูลดิจิทัลนี้ว่า “จุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย” เพื่อให้คลังข้อมูลนี้เป็นที่รู้จักและเกิดประโยชน์ใช้งานอย่างกว้างขวาง สำนักงานวิทยทรัพยากรจึงได้จัดนิทรรศการและกิจกรรมสัมมนาควบคู่กัน


จาก “จุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย” สู่ “มหาวชิราวุธราชบรรณาลัย”

พ.ศ. 2562 คณะทำงานโครงการจุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย ได้ดำเนินการปรับปรุงนิทรรศการใหม่เพื่อต่อยอดการสงวนรักษาองค์ความรู้และถ่ายทอดเรื่องราวสู่ชนรุ่นหลัง โดยปรับเปลี่ยนเนื้อหาไปสู่นิทรรศการ 2 รัชกาล นำเสนอเรื่องราวในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญของสยามประเทศ ในการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัยอย่างประเทศตะวันตกโดยไม่ทิ้งรากเหง้าความเป็นไทย นิทรรศการครั้งนี้จึงแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาญาณและพระมหากรุณาธิคุณในด้านต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 รัชกาลที่มีต่อปวงชนชาวไทยและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประพจน์ อัศววิรุฬหการ ยังคงกรุณาตั้งชื่อส่วนต่อขยายนี้ว่า “มหาวชิราวุธราชบรรณาลัย” นอกจากนี้ยังได้รับความอนุเคราะห์กลั่นกรองข้อมูลการจัดแสดงนิทรรศการจากที่ปรึกษา 3 ท่าน ได้แก่

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พีรศรี โพวาทอง อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ได้รับประกาศเกียรติคุณเป็นผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น พ.ศ. 2562
  • อาจารย์ ดร. ใกล้รุ่ง อามระดิษ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมรัชกาลที่ 6
  • คุณสุจิรา ศิริไปล์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์
นอกจากการเล่าเรื่องเชิงประวัติศาสตร์แล้ว “มหาวชิราวุธราชบรรณาลัย” ยังพยายามถ่ายทอดเรื่องราวให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เข้าใจและจดจำพระปรีชาญาณในรัชกาลที่ 6 ได้ดียิ่งขึ้นผ่านการเลือกสรรข้อมูลมาจัดแสดงในรูปแบบที่เข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งสำนักงานวิทยทรัพยากรยังมุ่งมั่นพัฒนาต่อยอดโครงการจุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัยในส่วนคลังข้อมูลดิจิทัล “มหาวชิราวุธราชบรรณาลัย” ให้สมบูรณ์ต่อไป