ผู้เขียน สายป่าน ปุริวรรณชนะ
บรรณาธิการ ชนัญญา เตชจักรเสมา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ของชาวไทยนั้นมีพระปรีชาสามารถด้านวรรณกรรมและการละครเป็นที่ประจักษ์ชัดน่าอัศจรรย์ จนสามารถกล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่าทรงเป็น “พระมหากษัตริย์ศิลปิน” โดยเฉพาะในสาขาวรรณศิลป์และนาฏศิลป์พระองค์หนึ่งของชาติและของโลก
ทั้งนี้พระราชนิพนธ์เรื่องแรกที่ค้นพบ ได้แก่ เรื่องสั้นแฝงคติ เรื่อง ไม่กลัวผี ลงพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์ราชกุมาร วันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ขณะพระชนมพรรษาเพียง ๑๒ พรรษา หนังสือพิมพ์ดังกล่าวนี้เป็นของ “โรงเรียนราชกุมาร” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานศึกษาสำหรับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอ และหม่อมเจ้าบางพระองค์ หลักฐานพระราชนิพนธ์เรื่องสั้นนี้ได้แสดงให้เห็นพระอัจฉริยภาพทางด้านการประพันธ์อันเป็นพระราชคุณสมบัติประจำพระองค์มาแต่ครั้งทรงพระเยาว์
ด้วยพระอัจฉริยภาพอันมีมาแต่ต้นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงพระปรีชาสามารถสร้างงานพระราชนิพนธ์ได้นับร้อยเรื่องทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง โดยเฉพาะร้อยกรองนั้นทรงพระราชนิพนธ์ได้ทั้งกาพย์ กลอน โคลง และฉันท์ชนิดต่างๆ อย่างที่ยากจะหากวีผู้ใดเสมอเหมือน แม้ว่าจะเป็นฉันทลักษณ์ที่ยากแก่การประพันธ์ก็ทรงพระราชนิพนธ์ออกมาได้ไพเราะงดงามทั้งความ คำ และลีลาการประพันธ์ รวมถึงไม่ทรงพระราชนิพนธ์ผิดกฎข้อบังคับของฉันทลักษณ์ ดังตัวอย่างจากวสันตดิลกฉันท์ซึ่งเป็นบทสนทนาโต้ตอบกันอย่างคมคาย มีลักษณะการ “ย้อนความ” กันระหว่าง สุเทษณ์เทพบุตร และ นางมัทนา จากพระราชนิพนธ์บทละครพูดคำฉันท์เรื่อง มัทนะพาธา
สุเทษณ์: อ้าโฉมวิไลยะสุปริยา มะทะนาสุรางค์ศรี, พี่รักและกอบอภิระตี บมิเว้นสิเน่ห์หนัก ; บอกหน่อยเถิดว่าดะรุณิเจ้า ก็จะยอมสมัครรัก. มัทนา: ตูข้าสมัครฤมิสมัคร ก็มิขัดจะคล้อยตาม สุเทษณ์: จริงฤานะเจ้าสุมะทะนา วจะเจ้าแถลงความ? มัทนา: ข้าขอแถลงวะจะนะตาม สุระเทวะโปรดปราน สุเทษณ์: รักจริงมิจริงฤก็ไฉน อรไทบ่แจ้งการ? มัทนา: รักจริงมิจริงก็สุระชาญ ชยะโปรดสถานใด? สุเทษณ์: พี่รักและหวังวธุจะรัก และบทอดบทิ้งไป. มัทนา: พระรักสมัครณพระหทัย ฤจะทอดจะทิ้งเสีย? สุเทษณ์: ความรักละเหี่ยอุระระทด เพราะมิอาจจะคลอเคลีย มัทนา: ความรักระทดอุระละเหี่ย ฤจะหายเพราะเคลียคลอ? สุเทษณ์: โอ้โอ๋กระไรนะมะทะนา บมิตอบพะจีพอ? มัทนา: โอ้โอ๋กระไรอะมระง้อ มะทะนามิพอดี! สุเทษณ์: เสียแรงสุเทษณ์นะประดิพัทธ์ มะทะนาบเปรมปรีดิ์. มัทนา: แม้ข้าบเปรมปฺริยะฉะนี้ ผิจะโปรดก็เสียแรง สุเทษณ์: โอ้รูปวิไลยะศุภะเลิศ บมิควรจะใจแข็ง มัทนา: โอ้รูปวิไลยะมละแรง ละก็จำจะแข็งใจ
ความจับใจในบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทำให้นักดนตรีและคีตกวีหลายท่านได้ตัดตอนบทพระราชนิพนธ์บางช่วงบางตอนไปเป็นเนื้อร้องส่งดนตรีไทยและเนื้อเพลงสากล เช่น เนื้อเพลง พระอาทิตย์ชิงดวง สำนวนที่เป็นที่นิยมแพร่หลายในปัจจุบัน นำมาจากบทเสภาเรื่อง พญาราชวังสัน ความว่า
เรื่อยเรื่องภุมรินบินว่อน เกลือกเกสรบัวทองผ่องใส รื่นรื่นรสสุคนธ์ปนไป สองใจจอดจิตสนิทนอน ดอกเอ๋ย เจ้าดอกบัวผัน บุหงาสวรรค์ของเรียมนี่เอย เจ้าหน้านวลเอย เจ้าหน้านวลยวนใจให้พี่เชย ไม่ละไม่เลยไม่แรมชม แม้ห่างอินทรีย์อกพี่ระบม อกตรอมอกตรมเสียจริงเอย เจ้าภุมรินเอยกลั้วกลิ่นบุปผา เกสรผกาไม่ราโรย จะคลึงจะเคล้าจะเฝ้าสงวน จะยั่วจะยวนเมื่อลมโชย จะกอบจะโกยกลิ่นไปเอย ดอกเอ๋ย เจ้าดอกโกมุท เจ้าแสนสวยสุดของเรียมนี่เอย
ตัวอย่างบทพระราชนิพนธ์ที่นำมาเป็นเนื้อร้องดนตรีสากล เช่น เนื้อเพลง ความรัก จากพระราชนิพนธ์เรื่องเวนิสวานิช
(หญิง) ความเอยความรัก เริ่มสมัครชั้นต้น ณ หนไหน เริ่มเพาะเหมาะกลางหว่างหัวใจ หรือเริ่มในสมองตรองจงดี แรกจะเกิดเป็นไฉนใครรู้บ้าง อย่าอำพรางตอบสำนวนให้ควรที่ ใครถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงรตี ผู้ใดมีคำตอบขอบใจเอย (ชาย) ตอบเอยตอบถ้อย เกิดเมื่อเห็นน้องน้อยอย่าสงสัย ตาประสบตารักสมัครไซร้ เหมือนหนึ่งให้อาหารสำราญครัน แต่ถ้าแม้สายใจไม่สมัคร เหมือนฆ่ารักเสียแต่เกิดย่อมอาสัญ, ได้แต่ชวนเพื่อนยามาพร้อมกัน ร้องรำพันสงสารรักหนักหนาเอย
อย่างไรก็ดี “รสความ” ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้มีแต่ “รสรัก” ดังตัวอย่างที่ยกมาในข้างต้นแต่ถ่ายเดียว ทว่ายังสามารถ “สื่อและสร้าง” อารมณ์สะเทือนใจอื่นๆ เช่น การปลุกใจให้รักชาติ เช่น โคลงสยามานุสสติ ซึ่งภายหลังนายนารท ถาวรบุตร ได้อัญเชิญบางตอนมาใช้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ค่ายบางระจัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒
ที่น่าสนใจยิ่ง คือ พระราชนิพนธ์โคลงมหาวิชชุมาลีที่ทรงแปลจากบทกวีของเฮนรี เวิดส์เวิร์ธ ลองเฟลโลว์ คือ
ประวัติวีรบุรุษไซร้ เตือนใจ เรานา ว่าอาจจักยังชนม์ เลิศได้ แม้ยามจักบรรลัย ทิ้งซึ่ง รอยบาทเหยียบแน่นไว้ แทบพื้นทรายสมัย
ได้รับการอัญเชิญมา “เกริ่น” ในตอนขึ้นต้นเพลง พสุธากัมปนาท ของวงซีเปีย วงดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ ร็อคที่เป็นที่นิยมมากในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๘-๒๕๓๙ ด้วย อันเป็นเครื่องยืนยันว่าพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรสวรรณศิลป์ที่ “จับใจ” และนำมาซึ่งแรงบันดาลใจของศิลปินต่างแขนงมาทุกยุคสมัย เข้าทำนอง “ศิลปะส่องทางให้แก่กัน”
ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากทรงเป็นกวีผู้แตกฉานในด้านวรรณกรรมไทยและวรรณกรรมต่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระปรีชาสามารถด้านการแปลและดัดแปลงวรรณกรรมจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยได้อย่างไพเราะงดงาม หากจะดัดแปลงก็ทรงทำได้อย่างเหมาะสมกลมกลืนกับปริบทสังคมวัฒนธรรมไทย
ตัวอย่างแรก ทรงแปลถ้อยสนทนาในบทละครเรื่อง Romeo and Juliet ของวิลเลียม เชคสเปียร์ กวีเอกชาวอังกฤษรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ ๑ เป็น “คำพูดซ่อนคำกาพย์” ได้ไพเราะงดงามในบทพระราชนิพนธ์ โรเมโอและจูเลียต ดังความในฉากที่โรเมโอซ่อนกายอยู่ในสวนบ้านคาปูเล็ต ลอบมองจูเลียตยามแย้มหน้าต่างระเบียงห้องนอนในช่วงเริ่มต้นของตอนที่ ๒
ต้นฉบับ Romeo and Juliet | พระราชนิพนธ์แปล |
---|---|
But soft! What light through yonder window breaks? It is the east, and Juliet is the sun. Arise, fair sun, and kill the envious moon, Who is already sick and pale with grief, That thou, her maid, art far more fair than she. Be not her maid since she is envious. Her vestal livery is but sick and green, And none but fools do wear it. Cast it off! It is my lady. Oh, it is my love. Oh, that she knew she were! She speaks, yet she says nothing. What of that? Her eye discourses. I will answer it.— |
ช้าก่อน นั่นแสงใดสว่างใสจากช่องแกล? นั่นบุรพาแน่, และจูเลียตคือตวัน ! - ฃึ้นเถิด, ตวันงาม, ปรามอิจฉาแห่งดวงจันทร์, ซึ่งไฃ้อยู่มากครันและผิวเผือดเพราะตรอมใจ, ด้วยหล่อนผู้เปนฃ้างามกว่าเธอมากมายไซร้ : เปนฃ้าเธออยู่ใย, เพราะเธอนั้นฃี้อิจฉา ; เครื่องแต่งฃองพระจันทร์นั้นสีเฃียวซีดอยู่นา, และมีแต่คนบ้าชอบแต่ง; หล่อนอย่าแต่งเลย. - แน่แล้วนางแก้วพี่; โอ้, ที่รักฃองพี่เอย ! โอ้ ไฉนเจ้าทรามเชยจะรู้แจ้ง ณ ดวงใจ ! หล่อนพูด, แต่ไม่เผยพจีเลย : ก็เปนไร ? - เนตร์นางสิฃานไฃ; ฃ้าจะตอบแม่นงเยาว์. |
อีกตัวอย่างหนึ่งขอยกบทพระราชนิพนธ์ทรงแปล โคลงสุภาษิตนักรบโบราณ จากภาษาฝรั่งเศส ดังนี้
ต้นฉบับบทกวีภาษาฝรั่งเศส | พระราชนิพนธ์แปล |
---|---|
Mon âme au Dieu Mon bras au roi; Mon coeur aux dames, L'honneur à moi. |
มโนมอบพระผู้ เสวยสวรรค์ แขนมอบถวายทรงธรรม์ เทิดหล้า ดวงใจมอบเมียขวัญ และแม่ เกียรติศักดิ์รักข้า มอบไว้แก่ตัว |
ส่วนบทพระราชนิพนธ์ทรงแปลงจากภาษาต่างประเทศให้เข้ากับปริบทของไทย ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบรายละเอียดบางประการของบทละครเรื่อง พญาราชวังสัน กับต้นฉบับ คือ เรื่อง Othello ของวิลเลียม เชคสเปียร์ เพื่อให้เห็นถึง “วิถีพระราชดำริ” ที่ทรงใช้เป็นหลักในการดัดแปลง
ต้นฉบับ | รายละเอียดที่ทรงดัดแปลง |
---|---|
โอเทลโล (ขุนนางแขกมัวร์) | พญาราชวังสัน (ราชทินนามขุนนางแขกจามผู้ชำนาญการเดินเรือ) |
เดสเดโมนา (ชื่อดอกไม้สีเหลืองชนิดหนึ่งคล้ายดอกบัวตอง) | นางบัวผัน (ชื่อดอกบัวชนิดหนึ่ง) |
เมืองเวนิส | เมืองศรีวิชัย |
เกาะไซปรัส | เกาะมะละกา |
กองเรือตุรกี | กองเรือโจรสลัดมลายู |
ผ้าเช็ดหน้าของนางเดสเดโมนาใช้เป็นหลักฐานใส่ร้ายนางกับคัสสิโย | ผ้าสไบของนางบัวผันใช้เป็นหลักฐานใส่ร้ายนางกับขุนไกรพลพ่าย |
หากจะขยายความเรื่องพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับ “การละคร” อันเป็นพระอัจฉริยภาพที่โดดเด่นให้ยิ่งเห็นชัดเจนขึ้น หลักฐานจากพระราชประวัติบ่งชี้ว่าทรงสนพระราชหฤทัยศิลปะแขนงนี้มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ครั้งที่ทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ทรงเคยแสดงละครตาโบลวิวังต์ (tableaux vivants) หรือละครท่านิ่งประกอบบทเพลงเล่าเรื่องอย่างที่เรียกว่า “บทคอนเสิต” เรื่อง นิทราชาคริต โดยทรงรับบท พระนางโซบิเด และทรงเคยจับระบำถวายสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
ต่อมาเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อยังสหราชอาณาจักรได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเป็นภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองตั้งแต่พระชนมพรรษาเพียง ๑๕ พรรษา ทรงใช้พระนามแฝงว่า Tom Toby เรื่องแรกที่มีหลักฐานว่าทรงพระราชนิพนธ์ คือ Miss Honeybone ซึ่งพระราชนิพนธ์จบภายในวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๐ เพียงวันเดียวเท่านั้น ละครเรื่องนี้จัดแสดงที่สถานอัครราชทูตสยาม ณ กรุงลอนดอน และที่พระตำหนักนอร์ธ ลอดจ์ ที่ประทับในขณะนั้น ต่อมาได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครอีก ๒ เรื่อง คือ เรื่อง Line and Rudd (ทรงแสดงในปี ๒๔๓๖) และเรื่อง Traitor ในพระนามแฝงเดียวกัน นอกจากนี้ในช่วงที่ทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษยังมีบทละครพระราชนิพนธ์ภาษาอังกฤษในพระนามแฝงต่างๆ เช่น พระนามแฝง Dilton March ทรงใช้พระราชนิพนธ์เรื่อง A Turn of Fortune’s Wheel และเรื่อง Sir Herbert’s Reward พระนามแฝง Marcus Virginius ทรงใช้พระราชนิพนธ์เรื่อง Lord Vermont V.C. A Tale of India และเรื่อง The King’s Command พระนามแฝง Carlton H. Terris ทรงใช้พระราชนิพนธ์เรื่อง Evelyn
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระยศสยามมกุฎราชกุมารได้ทรงจัดการแสดงเรื่อง My Friend Jarlet ถวายแด่สมเด็จพระบรมชนกนาถ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ พระองค์ทรงรับบท มารี เลอรูซ์ นางเอกของเรื่อง ร่วมกับเจ้านายพระองค์อื่นๆ และบุคคลผู้มีเกียรติ อาทิ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาท กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒน์พงศ์ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ นายอาร์ อี โอลิเวียร์
(แถวนั่งจากซ้าย) | ๑. หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร (ปอล ลาตูร์) ๒. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (มารี เลอรูซ์) ๓. นายอาร์. อี. โอลิเวียร์ (เอมิล ยาร์เลต์) |
(แถวยืนจากซ้าย) | ๑. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒน์พงศ์ (พลทหาร) ๒. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานาถ (นายทหาร) ๓. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ |
ตลอดพระชนม์ชีพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์และพระราชนิพนธ์แปล/ดัดแปลงบทโขนละครทั้งหมดถึง ๑๒๐ เรื่อง บางเรื่องมีเป็นหลายสำนวน ยิ่งไปกว่านั้นบางเรื่องก็พระราชนิพนธ์เป็นหลายภาษา ทั้งนี้หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล สันนิษฐานว่าบทละครเรื่อง เห็นแก่ลูก เป็นบทละครพูดเรื่องแรกที่มิได้ทรงแปล/ดัดแปลงจากบทละครต่างประเทศ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างผลงานพระราชนิพนธ์บทโขนละครแต่ละประเภทมาเพียงบางเรื่อง เช่น
บทเบิกโรง | พระภะรตเบิกโรง มหาพลี พระคเณศร์เสียงา พิธีกุมภนียา |
บทโขน | ศูนปนขาหึง พระรามตามกวาง สีดาหาย ศุกะสารัณปลอมพล จองถนน |
บทละครรรำ | ศกุนตลา ท้าวแสนปม พระเกียรติรถ พระนาละ ขอมดำดิน |
บทละครดึกดำบรรพ์ | ศกุนตลา (สำนวนละครดึกดำบรรพ์) ธรรมะมีชัย |
บทละครร้อง | ตั้งจิตคิดคลั่ง ชื่นใจไม่สมัค พระร่วง (สำนวนละครร้อง) สาวิตรี พระยศเกตุ |
บทละครพูด | หัวใจนักรบ เห็นแก่ลูก แก้แค้น มหาตมะ โพงพาง จัดการรับเสด็จ หมายน้ำบ่อหน้า |
บทละครพูดสลับลำ | วิวาหพระสมุท ผิดใจได้ปลื้ม |
บทละครพูดคำกลอน | พระร่วง (สำนวนละครพูดคำกลอน) |
บทละครพูดคำฉันท์ | มัทนะพาธา |
บทละครสังคีต | วั่งตี่ มิกาโด |
บทละครที่ทรงแปล/แปลงจากภาษาตะวันตก | โรเมโอและจูเลียต เวนิสวานิช ตามใจท่าน |
บทละครที่ทรงแปลจากนาฎิกาสันสกฤต | ปรียทรรศิกา |
บทละครภาษาต่างประเทศ | A Queer Burglary, A Stateman’s Wife, The Man in Khaki |
ในบางโอกาสพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงร่วมแสดงโขนละครพระราชนิพนธ์ร่วมกับเจ้านายและข้าทูลละอองธุลีพระบาท เป็นต้นว่าทรงแสดงเป็น พระยาสมุทโยธิน ในละครเรื่อง โพงพาง ร่วมกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี หม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ (พระนางเธอลักษมีลาวัณ) พระยาอนิรุทธเทวา (เจ้าพระยาอนิรุทธเทวา) ณ พระราชวังสราญรมย์ ทรงแสดงเป็น นายมั่นปืนยาว ในละครเรื่อง พระร่วง ร่วมกับเจ้าพระยารามราฆพ ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน พ.ศ. ๒๔๖๐
พระอัจฉริยภาพด้านอักษรศาสตร์และกวีนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสัมพันธ์กับพระอัจฉริยภาพด้านการละครอย่างมีนัยยะสำคัญ นอกจากจะเห็นได้จากพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์บทละครจำนวนมากแล้ว ยังทรงเข้าใจลักษณะเฉพาะของละครแต่ละประเภท ความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างละครกับความเชื่อและวิถีปฏิบัติ ตลอดจนทรงพยายามรักษาลักษณะเฉพาะนั้นๆ ไว้ แสดงถึง “ภูมิรู้” อันสูงส่งแตกฉานทางด้านอักษรศาสตร์ของพระองค์ท่าน
กรณีดังกล่าวนี้ขอยกตัวอย่างจากบทละครเรื่อง ปรียทรรศิกา ซึ่งทรงแปลจากบทละคร (นาฎิกา) สันสกฤต ของพระเจ้าศรีหรรษวรมัน ตามขนบนิยมของละครสันสกฤตนั้นตัวละครชายซึ่งเป็นชนวรรณะสูง ได้แก่ กษัตริย์หรือพราหมณ์ จะเจรจาด้วยภาษาสันสกฤต ตัวละครอื่นนอกนั้นกำหนดให้ใช้ภาษาปรากฤตทั้งหมด เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลบทละครเรื่องนี้ก็ได้ทรงเลือกสรรคำศัพท์ภาษาปรากฤตบางคำคงไว้ในบทสนทนาของตัวละครที่ไม่ใช่ตัวละครชายวรรณะสูงเพื่อ “คงขนบ” และ “รักษารส” ของบทละคร ดังทรงกำหนดให้ตัวละครหญิงรับใช้พูดชื่อดอกเศผาลิกา (ดอกกรรณิการ์) ว่า “เศอาลิกา” ตัวตลก (วิทูษกะ) พูดชื่อดอกพกุล (พิกุล) ว่า พอุล เป็นอาทิ
อีกกรณีหนึ่งที่แสดงว่าทรงมีภูมิรู้ด้านภารตวิทยาอย่างดียิ่ง และทรงนำมาใช้ในการพระราชนิพนธ์บทละคร ได้แก่ การทรงเลือกเรื่อง พระคเณศร์เสียงา จาก คัมภีร์ไววรรตปุราณะ มาใช้เป็นบทเบิกโรง เพตุเพราะศาสนาพรามณ์-ฮินดู นับถือพระคเณศร์ว่าเป็นเทพเจ้าผู้กำจัดอุปสรรค ไม่ว่าจะทำพลีบูชาหรือกิจการใดๆ จำต้องบูชาพระคเณศร์เสียก่อนจึงจะสำเร็จผลไม่สูญเปล่า รวมไปถึงการดนตรีและนาฎศิลป์ด้วย ส่วนการรำ “ฉุยฉายพราหมณ์” ที่เป็นที่นิยมกันจนปัจจุบันก็กำเนิดมาจากการแสดงเบิกโรงชุดพระคเณศร์เสียงานี้เอง
ในทำนองเดียวกัน บทรำ พระภะรตเบิกโรง เป็นหลักฐานยืนยันว่าทรงรู้ตำนานการกำเนิดนาฏศิลป์ การละครฟ้อนรำในคติอินเดียว่าผู้จดจำและถ่ายทอดท่ารำจากพระศิวะเป็นคนแรก ได้แก่ พระภรตมุนี ซึ่งคนไทยรู้จักในชื่อ “พ่อแก่” ยิ่งไปกว่านั้น ท่ารำของเพลง “ชมตลาด” ของการแสดงชุดดังกล่าวยังถือเป็นชุดท่ารำที่เรียกว่า “รำแม่บทใหญ่” คู่กับ “รำแม่บทเล็ก” ใช้เพลงเทพทอง ที่มีที่มาจากท่านางอัปสรนารายณ์แปลงของบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ รัชกาลที่ ๑
ภูมิรู้เรื่องภารตวิทยาของพระองค์ส่งผลต่อการประดิษฐ์ท่ารำและเครื่องแต่งกายโขนละครตามพระราชนิยมด้วย อาทิ ทรงประดิษฐ์ศีรษะโขนชมพูพานในลักษณะของพญาหมี ด้วยทรงมีความรู้เรื่องรามายณะสันสกฤตเกี่ยวกับตัวละคร “ชามพวาน” พญาหมีที่รามเกียรติ์ไทยแปลงเป็น “ชมพูพาน” หรือการที่ทรงกำหนดสีของตัวโขนตามรายละเอียดในรามายณะ
อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงเป็น “นักแต่งบทละคร” ผู้ทรงพระปรีชาสามารถเรื่องการจัดองค์ประกอบศิลป์บนเวทีการแสดง ตลอดจนการกำกับการแสดงด้วย ทรงระบุเครื่องประกอบฉากละครแต่ละฉาก วิธีการเข้า-ออกเวทีของตัวละคร ตลอดจนเครื่องแต่งกายและกิริยาท่าทางของตัวละครไว้ในบทพระราชนิพนธ์ ดังตัวอย่าง
ที่สำคัญที่สุด บทโขนละครพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่เพียงแต่ไพเราะงงดงามด้วยวรรณศิลป์เช่นเดียวกับพระราชนิพนธ์ประเภทอื่นๆ เท่านั้น ทว่ายังกระชับสะดวกต่อการจัดการแสดง มีความสนุกสนานแปลกใหม่ทั้งเนื้อเรื่องและองค์ประกอบศิลปะต่างๆ ผสานเข้ากับขนบการแสดงที่คนไทยในรัชสมัยของพระองค์คุ้นเคย สามารถนำเสนอแนวคิดได้อย่างชัดเจน กระทั่งเมื่อนำมาจัดแสดงใหม่ในสมัยปัจจุบันก็ยัง “สนุก” ไม่ล้าสมัยแต่อย่างใด
นอกเหนือจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเป็น “กวี” และ “นักการละคร” แล้ว ยังทรงพระปรีชาสามารถในการ “วาดภาพล้อ” ด้วย พระองค์ทรงวาดลักษณะเด่นทางกายภาพที่สามารถระบุตัวบุคคลของขุนนางข้าราชการที่ใกล้ชิด และทรงเลือกถ่ายทอดบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย หน้าที่การงาน ของบุคคลผู้ที่ทรงล้อให้กลายเป็น “องค์ประกอบภาพ” เพื่อประกอบสร้างภาพลักษณ์ของบุคคลนั้นๆ ลงในหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตอยู่เสมอ ดังตัวอย่างจากที่ทรงล้อ “เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี” (ปุ้ม มาลากุล)
ในท้ายที่สุดแม้บทความนี้จะได้พยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะที่ทรงเป็น “กษัตริย์ศิลปิน” ในแง่มุมต่างๆ ทว่าก็หากล่าวได้หมดไม่ หากพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวคือมหาสาครแห่งวิทยา มหารัตนากรแห่งสุนทรียภาพ ข้อมูลที่นำเสนอในบทความก็เปรียบเท่ากับเพียงหยดน้ำค้างและเศษเพชรซีก ไม่อาจจะสำแดงความยิ่งใหญ่และรุ่งโรจน์ของ สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ให้บริบูรณ์ได้เลย
บรรณานุกรม หนังสือ ภาษาไทย ธวัชชัย ดุสิตกุล. บทโขนละครพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๗. ปิ่น มาลากุล, หม่อมหลวง. งานละครของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๒. ปิยวดี มากพา. “ละครพูดในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว: แนวคิดการใช้ศิลปะเพื่อการพัฒนา.” ใน นพดล อินทร์จันทร์ (บรรณาธิการ) วารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ. ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๑ (กรกฎาคม-ธันวาคม ๒๕๕๔): ๔๑-๔๕. ประวิทย์ ฤทธิบูลย์. “โขนวิทยา: ศาสตร์ ศิลป์ ถิ่นสยาม” ใน เสาวลักษณ์ พันธบุตร (บรรณาธิการ) วารสารวิชาการนวัตกรรมสื่อสารสังคม. ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๒ (กรกฎาคม-ธันวาคม ๒๕๖๑): ๑๒๓-๑๔๑. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. บทละครพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (บางเรื่อง). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราช ทานเพลิงศพท่านผู้หญิงประภา ศรีธรรมาธิเบศ ณ พลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๗, ๒๕๑๗. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. บทละครเรื่อง พญาราชวังสัน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระนคร: อรุณการพิมพ์ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงาน ฌาปนกิจศพนางสนอง ตุลยพานิช ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๐๙, ๒๕๐๙. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. บทเสภาเรื่องพญาราชวังสัน และสามัคคีเสวก พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดิน สยาม.พระนคร: โรงพิมพ์ภักดีประดิษฐ์ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระปรีชาวินิจฉัย (ปรีชา ชาคร) ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๙๔, ๒๔๙๔. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ปรียทรรศิกา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๑๕. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. มัทนะพาธา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้า เจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์, ๒๕๕๗. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. โรเมโอและจูเลียต ของวิลเลียมส์ เชคส์เปียร์ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม ทรงแปลและ ประพนธ์เป็นภาษาไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทเขษม พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรชายาในรัชกาลที่ ๖ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๙, ๒๕๑๙. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. วิวาห์พระสมุท; ท้าวแสนปม พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว.กรุงเทพฯ: ศิลปา บรรณาคาร, ๒๕๕๖. วรชาติ มีชูบท. เบื้องลึก เบื้องหลัง ในพระราชบันทึกเรื่อง “ประวัติต้นรัชกาลที่๖”. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๙. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ ๑๓กรุงเทพฯ: โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว, ๒๕๔๘. อัญชลี ภู่ผะกา. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว: วรรณคดีกับการสร้างชาติ. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร ดุษฎีบัณฑิต, สาขาวิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๓. ภาษาอังกฤษ Bullen, Arthur Henry (editor). The Complete Works of Williams Shakespeare. London: CRW Publishing Limited, 2005. ฐานข้อมูลออนไลน์ http://www.bsf.or.th/suvatana (เข้าถึงเมื่อ ๒๘ มกราคม๒๕๖๓) http://oknation.nationtv.tv/blog/paradiso/2009/04/30/entry-1(เข้าถึงเมื่อ ๒๘ มกราคม๒๕๖๓) http://oknation.nationtv.tv/blog/g-peck/2011/02/26/entry-1(เข้าถึงเมื่อ ๒๘ มกราคม๒๕๖๓) https://www.pinterest.com/pin/138485757272755885/ (เข้าถึงเมื่อ ๒๘ มกราคม๒๕๖๓) http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2010/10/K9761930/K9761930.html (เข้าถึงเมื่อ ๒๘ มกราคม๒๕๖๓) http://www.vajiravudh.ac.th/OVtoVC/OVtoVC_34.htm (เข้าถึงเมื่อ ๒๘ มกราคม๒๕๖๓) http://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/vc_annal22.htm (เข้าถึงเมื่อ ๒๘ มกราคม๒๕๖๓) https://www.youtube.com/watch?v=Rjju7b_JIpc (เข้าถึงเมื่อ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓)
© 2021 Chulalongkorn University
|
One fine body…