Articles

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว: พระมหากษัตริย์นักวิชาการ

ผู้เขียน สายป่าน ปุริวรรณชนะ
บรรณาธิการ ชนัญญา เตชจักรเสมา

				“นานาประเทศล้วน	นับถือ
			คนที่รู้หนังสือ 		แต่งได้
			ใครเกลียดอักษรคือ		คนป่า
			ใครเยาะกวีไซร้		แน่แท้คนดง”
							(พระนลคำหลวง)
	

พระราชฐานะ “พระมหากษัตริย์นักวิชาการ” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวปรากฏอย่างเด่นชัดด้วยพระราชสมัญญา “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” หมายถึง “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์” ซึ่งพระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) เป็นผู้ประดิษฐ์ถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติในครั้งที่หลวงสรรสารกิจ (เคล้า คชนันทน์) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ไทยเขษม ได้ชักชวนเหล่านักคิดนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ร่วมกันจัดการแสดงละครพระราชนิพนธ์เรื่อง จัดการรับเสด็จ และ ชิงนาง ในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ณ โรงละครวิมานนวรัตน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนสร้างหอนาฬิกาของโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ระหว่างการซักซ้อมพระสารประเสริฐได้เสนอความคิดว่าควรถวายพระราชสมัญญา สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า สำหรับลงพิมพ์ในสูจิบัตรการแสดง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้ประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น อาทิ พระยาอุปกิตศิลปะสาร (นิ่ม กาญจนชีวะ) พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) พระวรเวทย์พิสิษฐ์ (เช็ง ศิวะศริยานนท์) จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันท์) พระราชสมัญญาอันสะท้อนพระราชคุณลักษณะอันโดดเด่นยิ่งนี้จึงได้แพร่หลายเป็นครั้งแรกและดำรงอยู่สืบมา

กระนั้นหากจะพิจารณาถึงพระราชคุณสมบัติดังกล่าวให้เห็นเด่นชัดก็จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า “คุณสมบัติของนักวิชาการ” นั้นเป็นอย่างไร ศาสตราจารย์กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ ได้ให้รายละเอียดเรื่องคุณสมบัติของนักวิชาการไว้ในปาฐกถาท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ครั้งที่ ๔ ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า “นักวิชาการสามารถเป็นทั้ง “หลัก” และเป็นทั้ง “ฐาน” ของสังคม...นักวิชาการที่แท้ต้องเป็นคนที่มีวิญญาณ มีสติ และใช้ปัญญา” นักวิชาการในที่นี้จึงหมายถึงผู้เสนอแนวคิดอันเป็นหลักฐานน่าเชื่อถือและเป็นประโยชน์ต่อสังคม

ตามคุณสมบัติของนักวิชาการในข้างต้นนั้น เห็นได้ชัดว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็น “พระมหากษัตริย์นักวิชาการ” อย่างชัดเจน โดยเฉพาะความเป็นนักวิชาการทางด้านอักษรศาสตร์ จึงใคร่ขอยกตัวอย่างพระราชคุณสมบัติดังกล่าวที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์บางเรื่องมาสำแดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัด

แรกสุดใคร่ขอเลือกพระราชนิพนธ์ พระนลคำหลวง ซึ่งนาวาเอกสมภพ ภิรมย์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรได้เคยกล่าวยกย่องว่า “เป็นวรรณคดีที่บริบูรณ์ด้วยองค์แห่งวิชาการ” มาเป็นกรณีศึกษา เมื่อพิจารณาพระราชนิพนธ์เรื่องนี้โดยละเอียดถี่ถ้วนแล้วจะพบว่าพระนลคำหลวงไม่ได้เป็นเพียงแต่ “ตัวบทวรรณคดี” เท่านั้น หากยังให้รายละเอียดทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องไว้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์

ในพระราชนิพนธ์คำนำ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงกล่าวถึงที่มาของข้อมูลที่ทรงเลือกใช้เป็น “วัตถุดิบ” ของการพระราชนิพนธ์อย่างชัดเจนว่าทรงเลือกใช้เรื่องพระนลฉบับที่เซอร์โมเนียร์ วิลเลียมส์ (Monier Williams) แปลจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมกับออกพระองค์ว่าสาเหตุที่ทรงเลือกฉบับดังกล่าวเพราะไม่ทรงเชี่ยวชาญภาษาสันสกฤต แสดงว่านอกจากจะทรง “เคารพต้นฉบับ” แล้ว ยังทรงเป็นนักวิชาการที่ซื่อสัตย์ต่อข้อมูลและถ่อมพระองค์ เรื่องใดไม่ทรงทราบก็รับสั่งไว้ชัดเจน อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ศึกษางานพระราชนิพนธ์เรื่องนี้สามารถสืบค้นที่มาของตัวบทและสาเหตุการเลือกใช้ต้นฉบับได้ไม่ยาก

ยิ่งไปกว่านั้น เห็นได้ว่างานวิชาการโดยทั่วไปจำเป็นจะต้องกล่าวถึงข้อตกลงเบื้องต้น เช่น คำนิยามศัพท์เฉพาะ วิธีเขียนคำศัพท์ เพื่อให้เป็นที่เข้าใจร่วมกันไม่คลาดเคลื่อนเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีพระบรมราชาธิบายข้อตกลงของอักขรวิธีการถอดศัพท์ในเรื่องพระนลคำหลวงเช่นกัน ได้แก่ ข้อตกลงเรื่องการแทนเครื่องหมาย “วิสรรค” ของอักษรเทวนาครี ดังนี้

		ในการเขียนภาษาสันสกฤตเปนตัวไทย สิ่งซึ่งลำบากมีอยู่อย่าง ๑ คือ วิสรรค ซึ่งในหนังสือเทวนาครีเขียนเปนจุด ๒ จุดซ้อนกันเช่นนี้ และอันที่จริงก็คือวิสัญชนี (ะ) 
	ที่ใช้ในการเขียนหนังสือไทยเรานั้นเอง แต่ไทยเราได้ใช้วิสัญชนีเปนเครื่องหมายสำหรับสระ อะ เสียแน่นอนนานมาแล้ว และฝังอยู่ในความเข้าใจของไทยเราแล้ว ว่าเปนสระอะ, 
	เพราะฉนั้นถ้าจะใช้วิสัญชนีในที่วิสรรคเมื่อเขียนภาษาสันสกฤต ข้าพเจ้ารู้สึกว่าคงจะไม่พ้นความฉงน เช่นถ้าจะเขียนว่า “ทุะข” เช่นนี้ ก็ดูออกจะแปลกตาเสียแล้ว; แต่ก็คงยังพอ
	สถานประมาณ. แต่ถ้าเขียน “มหาต๎มนาะ” เช่นนี้ ผู้อ่านที่ไม่เคยได้รู้จักวิสรรคของสันสกฤตเลย คงจะฉงนจนมิรู้ที่จะอ่านว่ากระไรทีเดียวเปนแน่แท้
		ในการเขียนภาษาสันสกฤตด้วยตัวอักษรโรมัน โมเนียร์-วิลเลียมส์และ นักปราชญ์ชาวยุโรปอื่น ๆ เขาใช้ตัว “h” เช่นนี้แทนวิสรรค. ที่เขาเลือกเอาตัว “h” ใช้แทน
	วิสรรคเช่นนี้ ก็เพราะตัว “h” เปนตัวอักษรซึ่งในบางคำก็ไม่ออกเสียงเลย; เช่นคำว่า “honour” ก็อ่านว่า “ออเนอร” (หรือเขียนให้ตรงตามตัวโรมันว่า “ห์ออเนอร์”), คำว่า 
	“why” อ่านว่า “ไว,” คำว่า “john”	อ่านว่า “ชอห์น,” เช่นนี้เปนต้น. ส่วนในภาษาไทยเรา ข้าพเจ้ามาคำนึงดูก็เห็นว่า ตัว “ห” ของเราในบางแห่งก็ไม่ได้ออกเสียงเลย
	เหมือนกัน, เช่นในเวลาที่ใช้เปนตัวนำพยัญชนะอื่นให้เสียงสูงขึ้น, กับในเวลาที่อยู่ข้างท้ายแห่งคำ เช่น “ดำริห,” “พ่าห,” “เล่ห,” และ “โล่ห” เปนต้น, ซึ่งเพื่อให้แน่ว่า
	ไม่ออกสำเนียงจึ่งมักจะการันต์เสียด้วยเช่น “ดำริห์” ดังนี้เปนต้น. เมื่อคำนึงดูว่า การที่ปราชญ์ยุโรปเขาได้บัญญัติใช้ตัว “h” มีจุดหมายเปนของแทนวิสรรคก็ไม่มีมูลอันใด ยิ่ง
	ไปกว่าที่ได้กล่าวมาข้างบนนี้แล้วไซร้ ข้าพเจ้าจึ่งเห็นว่า ถ้าในการเขียนภาษาสันสกฤตด้วยอักษรไทยจะใช้ตัว “ห” การันต์บ้าง ก็ดูจะไม่เขวยิ่งไปกว่า “h” ของเขาเลย; เช่น
	คำว่า “ทุะข” เขียนเป็น “ทุห์ข” เช่นนี้ ดูก็พอไปได้ไม่ขัดนัก. แต่การที่แผลงเช่นนี้ จำจะต้องอธิบายไว้ให้ชัดเจน ข้าพเจ้าจึ่งได้อธิบายมายืดยาวเช่นนี้
	

ในด้านกระบวนการทำงาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชาธิบาย “ขั้นตอนการแปล” ไว้ว่า “...การที่แปลเปน ๒ ต่อเช่นนี้ คำแปลภาษาไทยก็อาจที่จะคลาดเคลื่อนจากความเดิมในภาษาสันสกฤตบ้าง. จริงอยู่ข้าพเจ้าได้พยายามตรวจสอบคำบางคำที่สงสัยในคำแปลภาษาอังกฤษนั้น เทียบกับคำแปลในพจนานุกรมอีกชั้น ๑ ด้วย;...” อันเทียบได้กับการให้รายละเอียดเรื่องกระบวนการค้นคว้าวิจัยของนักวิชาการเลยทีเดียว

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงให้เกียรติผู้ที่มีส่วนร่วมในการทรงงานเช่นเดียวกับที่นักวิชาการที่ดีพึงให้เกียรติผู้มีส่วนร่วมในการค้นคว้าวิจัย ได้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ผู้ถวายคำแนะนำในการพระราชนิพนธ์ ตลอดจนพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา พระยาพจนสุนทร (เรือง อติเปรมานนท์) และพระปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ผู้ถวายความช่วยเหลือด้านการตรวจแก้ไข หรือหากจะกล่าวในอีกแง่หนึ่ง ที่ทรงกล่าวถึงบุคคลต่างๆ เหล่านี้ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถยังแสดงให้เห็นพระราชคุณสมบัติเรื่องความมีน้ำพระราชหฤทัยกว้างขวาง ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้รู้ท่านอื่น รวมถึงการเลือกคบหา ปรึกษากับ “กัลยาณมิตรทางวิชาการ” อันเป็นสิ่งที่นักวิชาการที่ดีพึงกระทำ

ไม่เพียงแต่เท่านั้น พระบรมราชาธิบายว่าด้วยลักษณะคำประพันธ์แต่ละแบบที่ทรงเลือกใช้ในแต่ละสรรค (บท) ยังทำให้พระราชนิพนธ์เรื่องพระพระนลคำหลวงมีสถานภาพเป็น “ตำราประพันธศาสตร์” ด้วยอีกโสตหนึ่ง ยกตัวอย่างจากสรรคที่ ๔ ซึ่งทรงเลือกรูปแบบคำประพันธ์ไว้อย่างหลากหลาย

กาพย์ ๑๑“โฉมยงนิ่มนงคราญ ฯลฯ”
โคลง ๔ “ทมยันตีแน่งน้อย ฯลฯ”
โคลง ๓ “พิศพนิดาโฉมศรี ฯลฯ”
โคลงวิชชุมาลี“จนใจแห่งพี่แล้ว ฯลฯ”
โคลง ๓ “ทมยันตีชลนา ฯลฯ”
โคลง ๔ “หม่อมฉันเห็นแล้วซึ่ง ฯลฯ”
โคลง ๒ “ฟังเทวีวิทรรภแล้ว ฯลฯ”
โคลง ๔“เธอไปเห็นหล่อนแล้ว ฯลฯ”
ฉบงง “ตูข้ารับใช้เทวัญ ฯลฯ”
ตาราง ๑ ลักษณะคำประพันธ์ที่ทรงเลือกใช้ในสรรคที่ ๔

ความเป็นนักวิชาการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ปรากฏผ่านการพระราชนิพนธ์เรื่องพระนลคำหลวงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การทรงจัดทำ “อภิธาน” อย่างเป็นระบบ กล่าวคือ ทรงกำหนดเกณฑ์การเลือกคำศัพท์ ว่าต้องเป็น ๑) ชื่อเฉพาะบุคคล ๒) ศัพท์ที่ไม่ค่อยจะได้พบในหนังสื่ออื่น ๓) คำเก่าหรือคำศัพท์ในวรรณคดี ๔) คำที่ปกติใช้ผิดเพี้ยนจากความหมายเดิม และ ทรงจัดลำดับอักขรานุกรม โดยยึดหลักอักขรวิธีสันสกฤตอย่างเคร่งครัด ยิ่งทำให้พระราชนิพนธ์เรื่องนี้เป็น “ตำรา” ที่ผู้สนใจสามารถใช้ค้นคว้าข้อมูลทางภาษา วรรณคดี และภารตวิทยาได้โดยง่าย ในที่นี้ใคร่ขอยกพระบรมราชาธิบายว่าด้วยวิธีการที่ทรงลำดับคำ และรายการทรงแสดงที่มาของคำศัพท์ให้เห็นจริงดังนี้

		วิธีลำดับคำ ได้จัดเปนอักขรานุกรมอย่างเข้มงวดแท้ กล่าวคือลำดับตามตัวอักษรที่มีต่อตามกันในคำ ๑ ๆ ไม่ใช่จัดตาม “แม่” อย่างมูลบท เช่นคำว่า “อัคนี” ใน
	อภิธานนี้อยู่น่าคำว่า “อะคร้าว” ซึ่งถ้าจัดตามมูลบท “อัคนี” ต้องอยู่หลัง เพราะจัดเปน “แม่กก” และคำว่า “อัคนี” นี้อยู่น่าคำว่า “อินทร” เพราะตั้งเกณฑ์ว่า “อ” อยู่น่า 
	“อิ” แต่ถ้าลำดับตามมูลบท “อินทร” (แม่กน) ต้องอยู่น่า “อัคนี” (แม่กก) 	ดังนี้เปนตัวอย่าง กับอีกอย่าง ๑ ตัว “ฤ” ในที่นี้จัดเข้าไว้ในลำดับตามแบบของสันสกฤต
	เดิม คืออยู่ต่อสระ “อู” ฯ ส่วนคำที่เปนอักษรควบ ลำดับไว้ข้างหลังคำที่ไม่เปนอักษรควบในจำพวกเดียวทั้งสิ้น เช่นคำว่า “ไกร” จัดไว้หลังคำว่า “กลี” ซึ่งถ้าแลดูเผิน ๆ “ไกร” 
	ควรจะอยู่น่า “กลี” เพราะ “ไกร” นั้น ลำดับอักษร ก แล้วถึง ร ควรอยู่น่าคำซึ่งลำดับอักษร ก แล้วถึง ล แต่ “ไกร” เปนสำเนียงควบ คือ อ่านเปนพยางค์เดียว แต่ “กลี” 
	นั้นอ่านเปน ๒ พยางค์ จึ่งตกอยู่ในจำพวก “กะ” ไมใช่ในจำพวก “ก๎ละ” ดังนี้เปนตัวอย่าง และด้วยเหตุนี้ คำเช่น “กษัตร์” “เกษตร” “กษัย” ซึ่งเปนคำอักษรควบตามภาษา
	สันสกฤต จึ่งไปอยู่ในจำพวกคำอักษรควบ	และไปลำดับอยู่ในหมู่คำอักษร ก ควบกับตัวอื่น ฯ การจัดลำดับเช่นนี้ บางทีในชั้นต้นก็จะทำให้เปนที่ฉงนบ้าง เพราะคำเช่น “กษัตร์” 
	ฤๅ “กษัย” ไทยเราโดยมากอ่านเปน ๒ พยางค์ คืออ่านว่า “กะษัตร์” และ “กะษัย” ฤๅถ้ายิ่งอวดรู้มากหน่อยก็แถมตัว ร เข้าให้เปน “กระษัตร์” ด้วยซํ้า แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า 
	ถ้าจะจัดเอาคำเช่น “กษัตร์” ไปไว้ในหมวด “กะ” ตามความเข้าใจผิดเช่นนั้นก็จะดูเปนประหนึ่งว่าข้าพเจ้ากระทำผิดโดยเจตนาแท้ จึ่งต้องจัดลำดับไว้ในที่ ๆ ควรจะอยู่ ฯ
	

ข = ขอม (เขมร)
ท = ไทย (โบราณ)
ม = มคธ
ม.ผ. = มคธแผลง
ส = สันสกฤต
ส.ผ. = สันสกฤตแผลง
ปุ = ปุลึงค์
อิตถิ = อิตถิลึงค์
ตาราง ๒ เกณฑ์อักษรย่อเพื่อทรงใช้อธิบายที่มาศัพท์

ยิ่งเมื่อพิจารณาศัพท์ในอภิธานเป็นรายคำก็ยิ่งทำให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใส่พระทัยในอันจะมีพระบรมราชาธิบายรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับศัพท์นั้นอย่างรอบด้านในลักษณะเดียวกับการอธิบายข้อมูลทางวิชาการ เช่น พระบรมราชาธิบายชื่อ “กลี”

		กลี [ส. กลิ] = (๑) นามแห่งผีร้ายตน ๑ (๒) นามแห่งคะแนนเอี่ยวในลูกบาตสกา (ดูที่ สกา ต่อไป) - (๓) นามแห่งยุค (ดูข้างล่างนี้ต่อไป) - (๔) ความ
	ทำร้ายกัน, ไม่ปรองดองกัน, เทลาะกัน, แก่งแย่งกัน (ดังนี้เมื่อมีเหตุร้ายขึ้น จึ่งมักเรียกว่าเกิดการกลี และนักเลงแต่งหนังสือไทยเรามือบอน เติมสระ  ุ เข้าไป จึ่งกลายเปน 
	“กุลี” เช่นเมื่อเกิดเหตุร้ายต่าง ๆ เรียกว่า “เกิดกุลียุค” ดังนี้เปนต้น) ฯ ตามตำหรับภาควัตปุราณกล่าวถึงกลีว่า บิดาชื่อ “โกรธ” มารดาชื่อ “หึสา” (ความปองร้าย ฤๅที่
	ไทยเรามาใช้ว่า “หึง” นั้นเอง) น้องสาวชื่อ “ทุรุก์ติ” (ใส่ความ) เปนเมียกลี มีลูกด้วยกันชื่อ “ภัย” (ความกลัว) ๑ “มฤตยู” (ความตาย) ๑ ซึ่งถ้าไตร่ตรองดูก็ต้องยอมว่า 
	ของเขาช่างคิดเปนความเปรียบเทียบตรงกับความเปนจริงอยู่ดีมาก คือความแตกร้าวและให้ร้ายแก่กัน (กลี) ย่อมเกิดขึ้น เพราะ โกรธ และความปองร้าย (หึสา) และเมื่อมีการ
	ใส่ความ (ทุรุกติ) มาผสมเข้ากับความให้ร้ายนั้นด้วยแล้วก็ย่อมนำผลคือความกลัว (ภัย) และความตาย (มฤตยู) มาถึงได้โดยแน่แท้ ฯ

พระราชคุณสมบัติที่ได้แสดงให้เห็นในข้างต้นนั้นทำไม่น่าแปลกใจว่าเมื่อมีทรงพระราชนิพนธ์เพื่อพระราชทานพระบรมราชาธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น พระราชนิพนธ์เรื่อง เทพเจ้าและสิ่งน่ารู้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ศัพท์สันนิษฐาน “พินิศและพินิจ” จึงยิ่งทรงให้รายละเอียดได้รอบด้าน มีที่มาที่ไปของข้อมูล และมีหลักการคิดวิเคราะห์ที่ชัดเจนตามคุณสมบัติของงานวิชาการที่ดี ดังตัวอย่างจากที่ทรงอธิบายข้อธรรมว่าด้วยการไม่กระทำปาณาติบาตด้วยหลักการของพระพุทธศาสนาไว้ในพระราชนิพนธ์ พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ดังนี้ว่า

		เรื่องไม่ฆ่าสัตว์เปนปัญหาที่อันเคยมีมาแม้แต่ในเมื่อครั้งพุทธกาล, คือมักมีผู้อวดฉลาดชอบตั้งกระทู้ถามว่า เมื่อไม่ฆ่าสัตว์ละก็จะได้อะไรเปนอาหารเล่า ? ยังมีอีกจำพวก๑ 
	ซึ่งมีความปรารถนาจะใคร่ให้ดียิ่ง, ถึงแก่แสดงความเห็นว่า, เพื่อสนับสนุนข้อห้ามมิให้ฆ่าสัตว์นี้, ควรห้ามการบริโภคเนื้อสัตว์เสียเด็ดฃาดทีเดียว...ข้าพเจ้าเฃ้าใจว่า ทรงมุ่งถึง
	การฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญเส้นเทวดา ตามธรรมเนียมของพราหมณ์ มากกว่าการฆ่าสัตว์เพื่อเปนภักษาหารแก่มนุษ การฆ่าสัตว์เส้นเทวดา ทำให้สัตว์ที่ทำคุณประโยชน์แก่มนุษถูกปลง
	ชีวิตเสียมากมายโดยไร้ผลดีด้วยประการทั้งปวงและถ้านึกไปก็ใม่น่าจะคิดเลยว่าเทวดาจะชอบให้เฃาฆ่าสัตว์บูชาเช่นนั้น. ส่วนการกินเนื้อสัตว์เปนของเนื่องด้วยกฎธรรมดาอย่าง ๑, 
	ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงทราบอยู่ว่ายากที่จะเลิกเสียได้, จึงทรงบัญญัติไว้แต่เพียงว่าใม่ให้ลงมือฆ่าสัตว์เองเท่านั้น หาได้ทรงห้ามกินเนื้อสัตว์ไม่.

อนึ่ง คุณสมบัติที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งที่นักวิชาการพึงมี ได้แก่ ความช่างสังเกต ประกอบกับความใส่ใจในการค้นคว้าข้อมูลอันนำมาซึ่งการรู้จักตั้งสมมุติฐานเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่และพิสูจน์สมมุติฐานดังกล่าวด้วยหลักคิด ทฤษฎี และวิธีวิทยาที่แน่นอนเชื่อถือได้ ในที่นี้ขอนำพระบรมราชวินิจฉัยว่าด้วย วัดพระเชตุพน เมืองสุโขทัย ในพระราชนิพนธ์เรื่อง เที่ยวเมืองพระร่วง มาแสดงให้เห็นจริง

		...ในพงศาวดารเหนือมีกล่าวถึงวัดเชตุพนไว้แห่งหนึ่ง คือกล่าวว่าพระมหาเถรไลลายได้พระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า ๖๕๐ พระองค์ กับทั้งต้นพระศรีมหาโพธิ ๒ ต้น 
	มาแต่ลังกาทวีป เธอจึ่งพาพระมหาสาครไปยังเมืองสาวัตถีจึงถ่ายเอาอย่างวัดพระเชตวนารามมาสร้างไว้ต่อเมืองรอแขวงบางพาน นอกเมืองกำแพงเพชรที่วัดสังฆนาวาสดังนี้ จึง
	ต้องพึงเข้าใจว่าไม่ใช่พระเจ้ารามคำแหงเป็นผู้สร้าง คือจะเป็นวัดเก่า มีอยู่ก่อนมหาศักราช ๑๒๐๕ นั้นแล้ว เพราะถ้าแม้ “พ่อขุนรามคำแหง” ได้สร้างขึ้นแล้วคงจะต้องอวด และ
	พูดถึงมากกว่าที่มีอยู่ในคำจารึกหลักศิลานั้นเป็นอันมาก มานึกน่าประหลาดใจอยู่นิดหนึ่งว่าเหตุใดวัดใหญ่โตงดงามเช่นนี้มาอยู่นอกเมือง ถ้าจะมีทางอธิบายอยู่ก็แต่ว่าเดิมเมืองตั้งอยู่
	ทางนั้น และวัดเชตุพนอยู่ในเมือง แต่ภายหลังเมืองเลื่อนไปสร้างใหม่ในที่ซึ่งตั้งอยู่บัดนี้  

จากข้อความในพระราชนิพนธ์ข้างต้นเห็นได้ชัดว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสำรวจข้อมูลเอกสารทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเมืองสุโขทัย ได้แก่ พงศาวดารเหนือ และ ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ไว้ก่อนหน้าแล้ว เมื่อเสด็จไปยังสถานที่จริงจึงทรงสามารถตั้งสมมุติฐานและมีพระบรมราชวินิจฉัยได้ “อย่างนักวิชาการ”

ในอีกแง่หนึ่ง หากมองว่าคุณสมบัติของนักวิชาการมิใช่แต่การแสดงปัญญาและความรู้ในหลักวิชา ทว่าหมายรวมถึงบทบาทในการ “ชี้นำสังคม” ให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควรด้วยแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระราชคุณสมบัติดังกล่าวนี้เช่นกัน เห็นได้จากพระราชนิพนธ์หลายเรื่องของพระองค์มีแนวคิดสำคัญว่าด้วย “วิธีคิด” และ “วิธีการ” สร้างความเจริญให้แก่ส่วนรวมและชาติบ้านเมือง โดยทรงใช้พระราชฐานะ “พระมหากษัตริย์” ในทางที่จะทรงเป็นผู้นำทางปัญญา และทรงใช้หลักวิชาเพื่อทรงอธิบายแนวคิดต่างๆ ดังเช่นในพระราชนิพนธ์เรื่อง โคลนติดล้อ ในบทที่ว่าด้วยการเอาอย่างโดยไม่ไตร่ตรอง พระองค์ก็ทรงแสดงให้เห็นเหตุผลที่คนไทยไม่พึงเห่อเหิมตามค่านิยมของชาติตะวันตกโดยไม่พิจารณาให้ดีเสียก่อน โดยทรงตั้งคำถามที่น่าคิดว่า ชาวตะวันตกรู้จักธรรมชาติของชาติบ้านเมืองไทยมากเพียงใด และ แท้ที่จริงแล้วชาวตะวันตก “เคารพความเป็นมนุษย์” ของชาวสยามเท่าเทียมกับเขาหรือไม่?

		ความจริงนั้นประเทศเราชาวยุโรปเขาไม่สู้จะรู้จักนัก และสิ่งที่เขารู้ บางทีก็เป็นอย่างอัศจรรย์มาก เมื่อข้าพเจ้าอยู่ยุโรปข้าพเจ้าได้เคยถูกถามอยู่เนือง ๆ ว่า เมืองไทยเป็น
	เมืองเจ้าประเทศราชในอินเดียไม่ใช่หรือ ? และเมื่อข้าพเจ้าไปถึงอเมริกา มีท่านคหบดีผู้หนึ่งได้มาแสดงความชื่นชมยินดีต่อข้าพเจ้า ในการที่แม่น้ำอิราวดีอันงดงามนั้นอยู่ในประเทศ
	บ้านเมืองของข้าพเจ้า ! เมื่อว่าสำหรับคนทั่วไป เมืองไทยเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยช้างเผือก แต่นอกจากนั้นเขาเห็นว่าไม่สู้จะมีอะไรนัก 
		ถ้ากระนั้นเราได้รับความนับถือของใครเล่า ? ก็ความนับถือของผู้ที่รู้จักเราน่ะซี ! จริงอยู่ แต่เมื่อผู้ที่เขารู้จักเราเขียนถึงเรื่องเมืองเรา จะหาอะไรกล่าวไม่ได้นอกจากข้อ
	ความที่เยาะเย้ยฉะนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็ไม่เรียกว่า เป็นความนับถือโดยแท้จริงเลย !...คนที่เอาอย่าง ถึงแม้ว่าจะได้รับความกรุณาและอัธยาศัยไมตรีก็จริง แต่ที่จะได้รับความนับถือ
	ด้วยนั้นน้อยนัก นี้ก็เป็นธรรมดาอยู่ เพราะเป็นธรรมดามนุษย์ ย่อมจะนับถือผู้ที่สูงกว่าเรา ตีตนเสมอกับผู้ที่เสมอกับเรา และดูหมิ่นผู้ที่ต่ำกว่าเรา ก็การเอาอย่างนั้นคืออะไรเล่า 
	นอกจากคำรับสารภาพอย่างราบเรียบแห่งความต่ำต้อยของเรา ท่านทั้งหลายไม่คิดหรือ ว่าเราสมควรจะพยายามยกตัวเราให้เสมอเท่ากับชาติอื่น ๆ จึ่งจะได้ความนับถืออันแท้จริง
	แห่งเขาทั้งหลาย...

พระราชนิพนธ์ที่ได้ยกมาเป็นตัวอย่าง ตลอดจนพระราชนิพนธ์เรื่องอื่นๆ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นเครื่องสำแดงพระเกียรติคุณในฐานะ “พระมหากษัตริย์นักวิชาการ” ได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ ทรงเป็นปราชญ์ผู้รู้รอบ รู้ลึก รู้จริง ในเรื่องที่ทรงสนพระทัยจะถ่ายทอด ทรงช่างสังเกตและตั้งคำถามว่าด้วยเรื่องราวต่างๆ อยู่เสมอ ทรงมีพระน้ำทัยกว้างขวาง มีพระอุปนิสัยละเอียดลออในการอธิบายความ ตลอดจนทรงมีน้ำพระราชหฤทัยปรารถนาดีชี้นำชาติบ้านเมืองไปในทางที่ถูกที่ควร สมกับพระราชสมัญญา “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” โดยแท้

บรรณานุกรม

มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. บทความหนังสือพิมพ์ เรื่อง โคลนติดล้อ ของอัศวพาหุ  พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. 
	กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๓.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ.เที่ยวเมืองพระร่วง. กรุงเทพฯ: พระจันทร์, ๒๕๒๖.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระนลคำหลวง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎ เกล้าเจ้าอยู่หัว. 	กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, ๒๕๑๗.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.  กรุงเทพฯ:กรมศิลปากร, ๒๕๑๔.
วรชาติ มีชูบท. สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์, ๒๕๕๗.
สุมน อมรวิวัฒน์. บุคลิกภาพของนักวิชาการ ปาฐกถาท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ครั้งที่ ๔ บรรยายเนื่องในโอกาสสถาปนาคณะครุศาสตร์ 
	จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ: โครงการตำราและเอกสารวิชาการคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๑.