พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงได้รับการเฉลิมพระเกียรติคุณด้วยพระราชสมัญญาว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเป็นพระองค์ที่ 2 ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ประสูติ ณ วันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 ตรงกับวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง โทศก จุลศักราช 1242 (ร.ศ. 99) ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มุสิกนาม ทรงมีพระเชษฐภคินีและพระอนุชาร่วมพระชนนี 7 พระองค์ คือ
ครั้นพระชนมายุย่างเข้า 9 พรรษาเมื่อ พ.ศ. 2431 ทรงรับพระราชทานสถาปนาพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวารวดี ปรากฏพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษยบรมนราธิราช จุฬาลงกรณ์นารถราชวโรรส มหาสมมติขัดติยพิสุทธิ บรมมกุฎสุริยสันตติวงษ อดิสัยพงษวโรภโตสุชาติ คุณสังกาศวิมลรัตน ทฤฆชนมสวัสดิ ขัดติยราชกุมาร ทรงดำรงพระเกียรติยศเป็นลำดับที่สองรองจาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธเสด็จเข้าทรงศึกษาที่โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวังเมื่อพระชนมายุ 10 พรรษา โดยทรงเริ่มการศึกษามาก่อนหน้านั้นแล้ว ครูที่ถวายพระอักษรคือ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) พระยาอิศรพันธุ์โสภณ (ม.ร.ว. หนู อิศรางกูร) และหม่อมเจ้าประภากร ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ส่วนครูภาษาอังกฤษ คือ นายโรเบอร์ต มอแรนต์ ซึ่งในภายหลังได้กลับไปดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการของประเทศอังกฤษและได้รับยศเป็นเซอร์
เมื่อพระชนมายุ 12 พรรษา เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราโชบายที่จะส่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอไปทรงศึกษาวิชาการสาขาต่างๆ ณ ทวีปยุโรป ในระยะแรกทรงศึกษากับครูที่พระตำหนักนอร์ธ ลอดจ์ เมืองแอสคอตโดยมิได้เสด็จเข้าโรงเรียน ระหว่างนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ให้ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารแทนเมื่อ พ.ศ. 2437 และโปรดเกล้าฯ ให้ทรงศึกษาในประเทศอังกฤษต่อไป ต่อมาในพ.ศ. 2440 ทรงเข้าศึกษาวิชาทหารในโรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์ และทรงเข้าอบรมหลักสูตรต่างๆ เพิ่มเติม ได้แก่ วิชาปืนเล็ก และวิชาทหารปืนใหญ่ภูเขา ทั้งยังได้ทรงเข้าประจำการในกองพันที่ 1 กรมทหารราบเบาเดอรัม อันเป็นการฝึกอบรมกองทหารเพื่อเตรียมไปราชการสงครามบัวร์ที่ประเทศแอฟริกาใต้ จากนั้น ใน พ.ศ. 2442 ทรงเข้าศึกษา ณ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด วิชาที่ทรงศึกษาคือ ประวัติศาสตร์ กฎหมาย และการปกครอง เนื่องจากพระองค์จะต้องทรงปกครองสยามประเทศต่อไปในอนาคต
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 6 ในพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชขึ้นระหว่างวันที่ 8 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2454 เนื่องจากทรงรู้จักคุ้นเคยกับพระราชาธิบดีหรือประธานาธิบดีของประเทศสำคัญๆ ทั่วโลก จึงมีพระราชประสงค์ให้มิตรประเทศได้รู้จักประเทศสยาม ซึ่งปรากฏว่าได้มีเจ้านายและผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศมาร่วมในพระราชพิธีนี้ถึง 14 ประเทศ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มประชวรด้วยพระโรคลำไส้และพระโลหิตเป็นพิษเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2468 และเสด็จสวรรคตเมื่อเวลา 1.45 น. ของวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระชนมายุ 45 พรรษา รวมเวลาที่ทรงอยู่ในราชสมบัติ 15 ปี และทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีเริ่มพระราชภารกิจในด้านการปกครองมาแต่ครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับพระราชภาระเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ในระหว่างที่สมเด็จพระบรมชนกนาถมิได้ประทับในพระนครอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2450
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเน้นความสำคัญของ “ชาติ” เป็นหัวใจของการปกครอง กล่าวคือ ทรงกระทำทุกวิถีทางเพื่อประโยชน์ของชาติ ซึ่งหมายถึงราษฎรที่เกิดเป็นไทย และในเวลาต่อมามีความหมายรวมถึงดินแดนที่เป็นของราษฎรที่เกิดเป็นไทยด้วย ไม่ว่าราษฎรเหล่านั้นจะมีเชื้อชาติและศาสนาใด ทรงพิจารณาเรื่องอันจะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองอย่างรอบคอบและรอบด้าน เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสมจึงจะดำเนินการ
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากจะทรงดำเนินการปกครองตามแบบแผนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มไว้แล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดการปรับเปลี่ยนบางอย่างเพิ่มเติมดังเช่น การปรับเปลี่ยนระเบียบราชการบางส่วนในกระทรวงมหาดไทย กล่าวคือ ใน พ.ศ. 2458 โปรดเกล้าฯ ให้รวมหัวเมืองมณฑลที่ใกล้เคียงกันจัดเป็นภาค และทรงแยกหัวเมืองในมณฑลพายัพออกเป็น 2 มณฑล คือ มณฑลพายัพ มีเขตปกครองคือ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงราย กับมณฑลมหาราษฎร์ มีเขตปกครองคือ จังหวัดแพร่ ลำปาง และน่าน แล้วโปรดให้เรียกรวมว่า “มณฑลพายัพ” และทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลขึ้นเป็นอุปราชมณฑลภาคพายัพ
ต่อจากนั้นโปรดเกล้าฯ ให้รวมมณฑลนครไชยศรีและมณฑลราชบุรี จัดเป็น “มณฑลภาคตะวันตก” รวมมณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลสุราษฎร์ธานี และมณฑลปัตตานี เป็น “มณฑลปักษ์ใต้” และรวมมณฑลอุดร มณฑลร้อยเอ็ด และมณฑลอุบล เป็น ภาคอีสาณ ตามลำดับ ทั้งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลขึ้นเป็นอุปราชมณฑลภาคนั้นๆ ส่วนมณฑลกรุงเก่า (มณฑลอยุธยา) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลขึ้นเป็นอุปราชมณฑลกรุงเก่า และยังโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศกำหนดอำนาจและหน้าที่ของอุปราชไว้ในปีเดียวกันนี้ด้วย
แม้ว่าการปกครองในระบบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะเป็นนิติธรรม ในการปกครองบ้านเมืองของสยาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงตระหนักดีว่าการปกครองบ้านเมืองโดยบุคคลคนเดียวเป็นความเสี่ยง หากได้ผู้ปกครองไม่ดีก็จะเป็นผลเสียแก่บ้านเมือง วิธีที่ดีที่สุดคือให้ราษฎรปกครองตนเอง แต่จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้ดีก่อน มิเช่นนั้นอาจเป็นผลเสียแก่บ้านเมืองได้ และด้วยทรงตระหนักในพระราชหฤทัยว่า พสกนิกรชาวสยามในเวลานั้นยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิและหน้าที่อันเป็นรากฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 ในทุกหัวเมืองมณฑลทั่วพระราชอาณาจักร ด้วยมีพระราชปรารภว่า “…เรามีความปรารถนาจะให้ประชาราษฎรของเราได้มีความรู้คั่นประถมศึกษาโดยทั่วถึงภายใน 15 ปี นับแต่เราขึ้นครองราชสมบัติ เพราะความตั้งใจของเรามีอยู่ว่า เมื่อเราครองราชย์ครบ 15 ปี เราจะมอบสิทธิ์การปกครองบ้านเมือง ให้ประชาชนของเรามีสิทธิ์มีเสียง แต่ถ้าเขายังไม่มีความรู้พอแก่การดำเนินการได้ ให้ไปก็เสื่อมประโยชน์ ได้ไม่เท่าเสีย…”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริเกี่ยวกับการปกครองในระบบอบประชาธิปไตย มาแต่ครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงนำแนวคิดเรื่องระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ทรงทดลองปฏิบัติ ใน “สาธารณรัฐใหม่” (The New Republic) ซึ่งเป็นสาธารณรัฐสมมติที่ทรงจัดตั้งร่วมกับพระสหายชาวต่างประเทศ ขณะประทับ ณ กรุงปารีส มาทรงปฏิบัติจริงโดยทรงจัดตั้ง “เมืองมัง” ในบริเวณสวนอัมพวันด้านหลังพระตำหนักจิตรลดา มีวัตถุประสงค์เพื่อสอนให้มหาดเล็กรู้จักการปกครองตนเอง ดูแลบ้านเรือนของตนให้สะอาดเรียบร้อย ต่อมาใน พ.ศ. 2461 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองจำลอง “ดุสิตธานี” ขึ้นภายในพระราชวังดุสิต ก่อนที่จะโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปสร้างใหม่ ในพื้นที่ว่างหลังพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถานและพระที่นั่งพิมานจักรี ในพระราชวังพญาไทเมื่อ พ.ศ. 2462 จัดให้มีการปกครองตนเองในลักษณะการปกครองท้องถิ่น ในดุสิตธานีมีบ้านเมืองจำลองในอัตราส่วน 1:20 ประกอบด้วยวัด โรงพยาบาล โรงทหาร โรงเรียน ธนาคาร ร้านค้า ฯลฯ ทวยนาคร (พลเมือง) ประกอบอาชีพต่างๆ เป็นที่ทดลองการปกครองแผนใหม่ ให้ข้าราชการรู้จักการใช้สิทธิในการปกครองตนเอง การจัดทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เมืองจำลองดุสิตธานีนี้ ได้ดำเนินเรื่อยมาจนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต โดยยังไม่ทันได้พระราชทานการปกครองแบบประชาธิปไตยให้แก่ปวงชนชาวไทยดังพระราชปณิธานที่ทรงตั้งไว้
เพื่อเป็นการจัดระเบียบความสัมพันธ์ในสังคมที่เริ่มซับซ้อนขึ้นให้เป็นระบบ ช่วยให้การจัดเก็บข้อมูลต่างๆ เช่น การจัดทำสำมะโนประชากร ทำได้สะดวก ทั้งทำให้เกิดความเป็นธรรมเกี่ยวกับผลประโยชน์ในครอบครัว โดยนำหลักกฎหมายแบบตะวันตกมาใช้ จึงได้พระราชทานนามสกุล ซึ่งทรงพระราชอุตสาหะคิดนามสกุลพระราชทานแก่ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน รวมทั้งลูกเสือและนักเรียนถึง 6,432 นามสกุล และได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2445 และประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 ให้คนไทยทุกคนใช้นามสกุล
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตพระนคร ทรงร่วมกับพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดตั้งกองเสือป่าขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 โดยมีจุดมุ่งหมายเกี่ยวกับการรักษาดินแดนของประเทศเป็นสำคัญ มีพระบรมราชาธิบายว่า “เสือป่า” นั้น คือทหารที่ท่านใช้ไปสืบข่าวข้าศึก เพื่อแม่ทัพจะได้รู้พอเป็นเลาๆ ว่าข้าศึกนั้นจะยกมาทางใด มีกำลังเพียงใด ท่าทางจะรบพุ่งอย่างไร ตรงกับที่ในกองทัพบกทุกวันนี้เรียกว่า “ผู้สอดแนม” นอกจากนั้นยังทรงมุ่งหมายจะอบรมให้รู้ประวัติศาสตร์ของชาติไทย ให้มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ นับเป็นการพัฒนาบุคคลทางหนึ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสอนเองในเรื่องของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ได้ทรงจัดให้มีการแสดงตำนานเสือป่าที่สนามเสือป่า เพื่อให้เสือป่าเข้าใจว่าชาติไทยเคยเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะทางจิตใจมาแต่โบราณกาล บรรพบุรุษได้เคยเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อรักษาบ้านเมืองเอาไว้ ทรงสอนยุทธวิธีเบื้องต้น และทรงสอนธรรมะซึ่งรวมเรียกกันว่า “เทศนาเสือป่า”
สำหรับการจัดตั้งกองกำลังเสือป่านั้น ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ จัดแบ่งสมาชิกเสือป่าออกเป็น 3 กอง คือ กองร้อยที่ 1 และกองร้อยที่ 2 กับมีกองฝึกหัดอีก 1 กอง โดยกองร้อยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นกองรักษาพระองค์ร่วมกับหน่วยทหารรักษาพระองค์ ต่อมาบรรดาข้าราชการและบุคคลพลเรือนในหัวเมืองมณฑลต่างๆ ได้พร้อมใจกันยื่นใบสมัครจนสามารถจัดตั้งกองเสือป่ารักษาดินแดนขึ้นในหัวเมืองมณฑลทั่วพระราชอาณาจักรไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ที่มีสัญญาลับกับชาติมหาอำนาจ เพราะเสือป่ามิใช่ทหารแต่เป็นบุคคลพลเรือนที่ได้รับการฝึกเยี่ยงทหาร
หลังจากทรงตั้งกองเสือป่าแล้ว ทรงเห็นว่าหากเยาวชนของชาติได้รับการฝึกหัดให้มีวินัยและได้เรียนรู้วิธีสืบข่าวเสียแต่ยังเยาว์ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ นอกจากจะมีระเบียบวินัยเป็นพลเมืองดีของชาติแล้ว ยังจะสามารถนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติได้ด้วย จึงทรงยกร่าง “ข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือ” โปรดเกล้าฯ ให้ตรา ข้อบังคับนี้ไว้เมื่อวันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม 2454 นับเป็นประเทศที่สามของโลกที่จัดให้มีกิจการลูกเสือ ต่อมาได้ โปรดเกล้าฯ ให้ขยายการจัดตั้งกองลูกเสือออกไปยังโรงเรียนต่างๆ จนมีกองลูกเสืออยู่ทั่วพระราชอาณาจักร
เมื่อทรงจัดตั้งกองเสือป่าและลูกเสือแล้ว ได้ทรงนำทั้งเสือป่า ลูกเสือรวมทั้ง ทหาร ตำรวจ เดินทางไกลไปเพื่อซ้อมรบที่นครปฐม ราชบุรี และกาญจนบุรีเป็นประจำ คราวละประมาณหนึ่งเดือนเพื่อฝึกฝนให้อดทนต่อสู้กับความลำบากนานาชนิด
ในปี พ.ศ. 2457 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “ราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม” ในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้น เพื่อเรี่ยไรเงินซื้อเรือรบชนิดที่เรียกว่า เรือลาดตระเวนอย่างเบา ระวางขับน้ำ 5,000 ตันลงมา อันเป็นเรือที่มีความคล่องตัวสูง โดยพระราชทานเงินส่วนพระองค์เป็นทุนประเดิมจำนวน 80,000 บาท และโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินรายได้ต่างๆ สมทบกับเงินที่ราษฎรทั่วราชอาณาจักรบริจาคไปจัดซื้อเรือจากประเทศอังกฤษ ได้เรือพิฆาตตอร์ปิโด 1 ลำ พระราชทานนามว่า “เรือพระร่วง”และพระราชทานนามใหม่อีกครั้งว่า “เรือรบหลวงพระร่วง” เมื่อ พ.ศ. 2463 ส่วนเงินที่เหลือจากการซื้อเรือ ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้กองทัพเรือไว้ใช้ในราชการต่อไป
และในคราวเสด็จพระราชดำเนินเลียบหัวเมืองชายทะเลมณฑลจันทบุรี เมื่อ พ.ศ. 2457 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสงวนพื้นที่ชายฝั่งทะเลสัตหีบตั้งแต่เกล็ดแก้วไปจนถึงแสมสารเพื่อประโยชน์แก่ราชการกองทัพเรือ ซึ่งต่อมาในพ.ศ. 2463 เมื่อกระทรวงทหารเรือสำรวจพื้นที่ชายฝั่งแล้วเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมในทางยุทธศาสตร์ นายพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จึงได้ขอพระราชทานที่ดินอ่าวสัตหีบไปจัดสร้างเป็นฐานทัพเรือ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาติตามที่ขอพระราชทาน
นอกจากนั้น ยังโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้นายนาวาตรี หลวงหาญสมุท (บุญมี พันธุมนาวิน) ไปประจำการในกองทัพเรืออังกฤษ เพื่อเรียนรู้วิธีบังคับเรือใต้น้ำของกองทัพเรืออังกฤษในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 จนสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาจัดตั้งกองเรือใต้น้ำขึ้นในราชนาวีสยามจนเป็นผลสำเร็จในเวลาต่อมา
สืบเนื่องจากการที่โปรดเกล้าฯ ให้กองทหารอาสาสมัครไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2460 และกองทัพฝรั่งเศสได้ให้การอนุเคราะห์ฝึกบินและซ่อมบำรุงให้นายทหารในกองบินทหารบกจนสามารถสอบไล่ได้เป็นนักบินและช่างซ่อมบำรุงอากาศยานจำนวนหนึ่ง นายทหารที่ได้รับการฝึกดังกล่าวได้นำความรู้นั้นมาพัฒนากรมอากาศยานทหารบกจนเจริญก้าวหน้าเป็นกองทัพอากาศในเวลาต่อมา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษและประทับอยู่ในประเทศอังกฤษเป็นเวลา 9 ปี เนื่องด้วยพระราชฐานันดรศักดิ์สยามมกุฏราชกุมาร ทำให้ทรงได้รับความเลื่อมใสจากราชสำนักต่างๆ ของตะวันตก ทรงได้รับการทูลเชิญไปเยือนราชสำนักหลายแห่ง และได้ทรงร่วมในพระราชพิธีสำคัญต่างๆ หลายครั้ง จึงเป็นพื้นฐานให้นานาชาติยอมรับว่าสยามประเทศมีฐานะเท่าเทียมชาติตะวันตกในเวลาต่อมา นับว่าทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศมาตั้งแต่ต้น ทั้งก่อนเสด็จนิวัตพระนคร นอกจากจะได้เสด็จไปทรงเฝ้าพระราชาธิบดีและทรงพบประมุขของประเทศต่างๆ แล้ว ยังได้เสด็จไปเยือนประเทศรุสเซีย ออสเตรีย อียิปต์ อิตาลี ฝรั่งเศส ฮังการี สเปน โปรตุเกส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา แล้วเสด็จต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น และทรงแวะที่ฮ่องกงเป็นลำดับสุดท้ายก่อนเสด็จถึงพระนครใน พ.ศ. 2445 ทำให้ได้ทอดพระเนตรความเจริญของบ้านเมือง รวมทั้งความเป็นอยู่ของประชาชน การประกอบอาชีพ การศึกษา การทหาร การคมนาคม และโบราณสถานของประเทศเหล่านั้น
ในการเสด็จนิวัตพระนครนี้เรียกได้ว่าเสด็จโดยวิธี “รอบพิภพ” เพราะทรงผ่านทั้งมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก ดังนั้น จึงทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกที่เดินทาง “รอบโลก” ได้ทอดพระเนตรความเจริญของ “โลกเก่า” คือประเทศอียิปต์และนานาประเทศในทวีปยุโรป “โลกใหม่” คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา และ “โลกเอเชียสมัยใหม่” คือ ประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นนอกจากจะทรงทำหน้าที่เจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ อย่างดียิ่งแล้ว ประสบการณ์อันมีค่าที่ทรงได้รับนี้ยังเป็นประโยชน์ในการช่วยราชการสมเด็จพระบรมชนกนาถ และการบริหารราชการในเวลาต่อมา
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนรถไฟจากสถานีบางกอกน้อยไปจนสุดพระราชอาณาจักรสยามที่สถานีปาดังเบซาร์ แล้วประทับกระบวนรถไฟพระที่นั่งซึ่งเปลี่ยนไปใช้หัวรถจักรมลายูลากจูง เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐมลายูของอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2467 นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในรัชกาลที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับชาติมหาอำนาจกลางอันประกอบด้วย เยอรมนี และออสเตรเลีย-ฮังการี ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 และส่งทหารไปช่วยฝ่ายสัมพันธมิตร ด้วยทรงมีพระราชประสงค์จะเผยแพร่เกียรติคุณให้นานาประเทศรู้จักชาติไทย และเพื่อขจัดปัญหาสนธิสัญญาต่างๆ ที่นานาชาติพยายามผูกมัดไทย ส่งผลให้สนธิสัญญาต่างๆ ที่รัฐบาลสยามทำไว้กับรัฐบาลเยอรมนีและออสเตรเลีย-ฮังการีสิ้นสุดลง ทำให้สามารถยกเลิกข้อผูกมัดเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและภาษีร้อยชักสามที่ทำไว้กับทั้งสองประเทศได้ และเมื่อภาวะสงครามสิ้นสุดลง ประเทศสยามยังได้เป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งสันนิบาตชาติอันเป็นต้นกำเนิดขององค์การสหประชาชาติ เป็นภาคีสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ องค์การอนามัยโลก สหพันธ์สภากาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ และองค์การลูกเสือโลก ทั้งยังทรงใช้ประโยชน์จากการที่ประเทศสยามเป็นผู้ชนะในสงครามโลกครั้งที่ 1 ดำเนินการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ทั้งสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิสภาพนอกอาณาเขตซึ่งมีข้อสัญญาลิดรอนอำนาจศาลไทย รวมทั้งภาษีร้อยชักสามที่ทำให้สยามประเทศต้องเสียเปรียบในการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งสามารถดำเนินการแก้ไขได้เสร็จสมบูรณ์เป็นส่วนมาก ในตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ส่วนการให้สัตยาบันในสนธิสัญญาที่แก้ไขมาเสร็จสมบูรณ์ในตอนต้นรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว)
นอกจากนั้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนที่จะทรงประกาศสงคราม เมื่อได้ทรงทราบว่านายทหารในกองพันที่ 1 กองทหารราบเบาเดอรัม ซึ่งเคยเสด็จประจำการ ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในสงครามเป็นจำนวนมาก จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินส่วนพระองค์จำนวน 1,000 ปอนด์ให้รัฐบาลอังกฤษนำไปจัดการช่วยเหลือบุตรกำพร้าและภรรยาหม้ายของนายทหารและพลทหารของกรมดังกล่าว ซึ่งต่อมา ใน พ.ศ. 2458 สมเด็จพระเจ้ายอร์ช ที่ 5 พระราชาธิบดีแห่งกรุงบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ได้มีพระราชโทรเลขอัญเชิญให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับพระยศเป็นนายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพบริเตน
ด้วยทรงมีพระราชดำริห่วงใยในการรักษาทรัพย์ของราษฎร จึงทรงหยิบยกเรื่องดังกล่าวเข้าหารือที่ประชุมเสนาบดีสภา เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2455 เมื่อที่ประชุมสภาเห็นชอบตามพระราชดำริแล้ว จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติดำเนินการจัดตั้ง “คลังออมสิน” ขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 การที่ทรงจัดตั้งคลังออมสินขึ้นนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ในทางรักษาทรัพย์ของราษฎรแล้ว ยังเป็นหนทางในการสะสมทุนสำรองเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชาติอีกด้วย
โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระคลังข้างที่เข้าร่วมหุ้นจัดตั้ง “บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัดสินใช้” ขึ้นใน พ.ศ. 2456 เพื่อผลิตปูนซิเมนต์รองรับงานต่างๆ ทดแทนการนำเข้า ทั้งมีพระราชประสงค์สำคัญเพื่อฝึกคนไทยให้รู้จักประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมสถิติพยากรณ์ ใน พ.ศ. 2458 เพื่อรวบรวมสถิติ “อันเป็นรายละเอียดแห่งการหมุนเวียนแห่งทรัพย์” ซึ่งเป็นการวางรากฐานการพาณิชย์ของประเทศ ต่อมาใน พ.ศ. 2463 โปรดเกล้าฯ ให้ยกขึ้นเป็น “สภาเผยแพร่พาณิชย์และสถิติพยากรณ์” มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือแก่หน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่อุดหนุนและส่งเสริมการพาณิชย์ของประเทศ
โปรดเกล้าฯ ให้เลิกการพนันหวย ก ข ใน พ.ศ. 2458 และเลิกบ่อนเบี้ยใน พ.ศ. 2459 ตามลำดับ
โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้าง “เขื่อนพระราม 6” กั้นลำน้ำป่าสักที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อทดน้ำและส่งน้ำลงสู่ท้องทุ่งด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จัดเป็นเขื่อนทดน้ำและส่งน้ำแห่งแรกของประเทศไทย ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467
โปรดเกล้าฯ ให้ประเทศสยาม ใช้มาตราชั่งตวงวัดแบบเมตริกเป็นมาตรฐานในการซื้อขายสินค้า เมื่อ พ.ศ. 2467
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักว่าการศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทุกด้าน ดังนั้น ครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เมื่อเสด็จนิวัตพระนคร จึงได้ทรงริเริ่มวางรากฐานการศึกษาสำหรับสตรี โดยกราบบังคมทูลถวายคำแนะนำให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถในขณะนั้น ทรงตั้งโรงเรียนราชินี เพื่อเป็นต้นแบบการจัดการศึกษาสำหรับสตรี รวมทั้งทรงสนับสนุนให้กระทรวงธรรมการจัดวางหลักสูตรการศึกษาสำหรับสตรีด้วย และเพราะทรงเห็นความสำคัญของการศึกษานี้ จึงทรงเริ่มวางรากฐานการศึกษาของชาติเป็นพระราชกรณียกิจแรกในตอนต้นรัชกาล
พ.ศ. 2453 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “โรงเรียนมหาดเล็กหลวง” ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ด้วยทรงมุ่งหมายจะให้เป็นโรงเรียนกินนอน สอนชั้นมัธยมศึกษา และทรงควบคุมการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด “โรงเรียนมหาดเล็กหลวง” นี้ ต่อมาได้พัฒนาเป็น “วชิราวุธวิทยาลัย” ในต้นรัชกาลที่ 7
ในปีเดียวกัน ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา “โรงเรียนมหาดเล็ก” ขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษา พระราชทานนามว่า “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เพื่อเป็นสถานฝึกหัดราชการฝ่ายพลเรือน
พ.ศ. 2456 เกิดแผนการศึกษาชาติ เพื่อสนับสนุนให้การศึกษากว้างขวางยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้จัดระเบียบการศึกษาเป็นระดับอนุบาล ประถม มัธยม และอุดมศึกษา ซึ่งใช้กันมาจนทุกวันนี้ นอกจากนั้นในแผนการศึกษานี้ยังมีหลักสูตรอาชีวศึกษาในระดับมัธยมต้นขึ้นเป็นครั้งแรก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนเพาะช่างและโรงเรียนพณิชยการขึ้นในปีเดียวกัน และตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมขึ้นใน พ.ศ. 2460 เนื่องจากทรงมีพระราชประสงค์จะส่งเสริมให้ราษฎรประกอบอาชีพต่างๆ เพื่อช่วยกันสร้างความเจริญและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้บ้านเมือง
พ.ศ. 2458 ด้วยทรงเห็นว่าควรขยายกิจการ “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ให้กว้างขวางขึ้น จึงพระราชทานเงินทุนที่เหลือจากการที่ราษฎรได้เรี่ยไรเพื่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าจำนวนเก้าแสนกว่าบาท ให้ใช้สร้างอาคารเรียนและเป็นตึกบัญชาการบนที่ดินของพระคลังข้างที่จำนวน 1,309 ไร่ ที่อำเภอปทุมวัน และเงินที่เหลือจากการสร้างก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เพื่อกิจการของโรงเรียนต่อไป ทั้งนี้ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาพระฤกษ์ในการสร้างอาคารเมื่อ 3 มกราคม พ.ศ. 2458
พ.ศ. 2459 โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงธรรมการดำเนินการสนองพระราชดำริในเรื่องการจัด “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เมื่อ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติแห่งสมเด็จพระบรมชนกาธิราชให้เจริญก้าวหน้ากว้างขวางแผ่ไพศาลต่อไป
พ.ศ. 2461 โปรดเกล้าฯ ให้ออกพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ เพื่อควบคุมการดำเนินงานของโรงเรียนเอกชน
พ.ศ. 2464 โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาเป็นการศึกษาภาคบังคับ เพื่อขยายการศึกษาในระดับประถมซึ่งจัดให้มีอยู่แล้วตั้งแต่รัชกาลก่อนให้ทั่วประเทศ อันมีผลบังคับให้เด็กไทยทุกคนที่มีอายุระหว่าง 7-14 ปีเข้าเรียนในโรงเรียนจนจบชั้นประถมศึกษาหรืออ่านออกเขียนได้
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำรุงกิจการรถไฟตามพระราชดำริในสมเด็จพระบรมชนกนาถ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ขยายทางรถไฟสายใต้ไปต่อกับทางรถไฟสายมลายูของอังกฤษที่ปาดังเบซาร์และสุไหงโกลก สายเหนือไปถึงเชียงใหม่ สายตะวันออกไปถึงอรัญประเทศ สายตะวันออกเฉียงเหนือถึงหนองคายและอุบลราชธานี และให้เชื่อมทางรถไฟสายต่างๆ ไว้ที่กรุงเทพฯ เป็นชุมทางแห่งเดียว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานพระราม 6 อันเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกเพื่อเชื่อมทางรถไฟสายใต้ให้ถึงสถานีกรุงเทพฯ และรวมการบัญชาการกรมรถไฟสายเหนือและกรมรถไฟสายใต้เข้าด้วยกันเป็น “กรมรถไฟหลวง” และ “กรมรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม” ตามลำดับ อันเป็นกิจการของชาวไทยโดยเด็ดขาด อีกทั้งยังทรงทะนุบำรุงการคมนาคมในหัวเมืองโดยสร้างถนนเชื่อมต่อกับทางรถไฟเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ราษฎร เช่น จากสถานีรถไฟจากนครลำปางไปยังเมืองเชียงราย และจากสถานีรถไฟตะพานหิน จังหวัดพิจิตรไปยังจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น (พระผู้ทรงสร้าง : 32 งานเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ และสมเด็จพระรามาธิบดี)
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการสร้างสะพานข้ามคลองที่มีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่าเฉลิมหลายแห่ง มาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงเจริญรอยพระยุคลบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถด้วยการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างสะพานชุด “เจริญ” โดยมีตัวเลขจำนวนปีพระชนมพรรษาต่อท้าย และมีอักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร. ประดับที่ราวสะพานทั้งสองฝั่งเช่นเดียวกับสะพานชุดเฉลิมโดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานชุดนี้เรียงลำดับมาแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2454 ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีที่สองในรัชกาล คือ
ใน พ.ศ. 2455 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงโยธาธิการดูแลรับผิดชอบการส่งข่าวสารและ การทำทางทั้งทางน้ำทางบก พระราชทานนามใหม่ว่า “กระทรวงคมนาคม” และโปรดเกล้าฯ ให้วิศวกรผู้ชำนาญการออกไปประจำอยู่ทุกมณฑล
โปรดเกล้าฯ ให้มีการขนส่งไปรษณีย์ภัณฑ์ทางอากาศเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2462 ในเส้นทางกรุงเทพฯ - จันทบุรี และโปรดเกล้าฯ ให้ขยายกิจการไปทางภาคอีสานอีก 2 เส้นทาง จากนครราชสีมา – ร้อยเอ็ด – อุบลราชธานี ในปีพ.ศ. 2465 และจากนครราชสีมา – ร้อยเอ็ด – อุดรธานี – หนองคาย ใน พ.ศ. 2466
โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงทหารเรือเปิดการสื่อสารวิทยุโทรเลขระหว่างสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดงที่กรุงเทพฯกับจังหวัดสงขลา และโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดรหัสสัญญาณรับส่งโทรเลขเป็นภาษาไทยขึ้นใช้เป็นผลสำเร็จ
กฎหมายเป็นวิชาสำคัญวิชาหนึ่งที่ทรงศึกษา ณ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ที่ทรงนำมาช่วยเหลือกิจการสภาส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถว่าด้วยเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ ทรงช่วยร่างกฎหมายทหาร (พระธรรมนูญศาลทหารและกฎอัยการศึก) และได้พระราชนิพนธ์หนังสือว่าด้วยกฎหมายนานาประเทศเพื่อให้ความรู้แก่ราษฎรทั่วไป เน้นเรื่องการปฏิบัติของประเทศ (Public International Law) ให้เป็นแบบอย่างในการเรียบเรียงตำรากฎหมายไทย และก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ไม่นานนัก ทรงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กำกับราชการกระทรวงยุติธรรม
โปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศพระบรมราชโองการจัดระเบียบราชการกระทรวงยุติธรรม “…ลงเปนระเบียบเดียวกับประเทศอื่น...” เมื่อ พ.ศ. 2455
โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติทนายความ เพื่อคุ้มครองโจทก์จำเลยผู้มีอรรถคดีในศาลยุติธรรม และจัดตั้งเนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อบำรุงวิชากฎหมายและสอดส่องความประพฤติของทนายความ เมื่อ พ.ศ. 2457 ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนกฎหมายที่พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงตั้งขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นโรงเรียนหลวงสังกัดกระทรวงยุติธรรม อันเป็นการรับรองหลักสูตรการศึกษาวิชากฎหมายตามแบบอย่างอารยประเทศ ในปีเดียวกันนี้อีกด้วย
โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมร่างกฎหมาย เพื่อยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมทั้งการพิจารณายกร่างกฎหมายต่างๆ ในปี พ.ศ. 2466
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักดีถึงความสำคัญของสุขภาพอนามัยของราษฎร ทรงถือว่า “ถ้าพลเมืองป่วยไข้ไม่สมประกอบ ต้องนับว่าประเทศนั้นขาดปัจจัยแห่งความสมบูรณ์” จึงมีพระราชดำริที่จะจัดสร้างโรงพยาบาลของสภากาชาดสยามขึ้น ทรงพระราชทานเงินส่วนพระองค์จำนวน 5,800 บาท ร่วมกับพระราชโอรสพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ทรงพร้อมพระทัยกันร่วมบริจาคสมทบรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 122,910 บาท เพื่อจัดสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสืบมา พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2457
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระคลังข้างที่ซื้อตึกและที่ดินริมถนนสามเสน แล้วพระราชทานให้กระทรวงนครบาลจัดเป็นโรงพยาบาลสำหรับรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพฯ พระราชทานนามว่า “วชิรพยาบาล” เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2455
เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ พ.ศ. 2460 ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ในการก่อสร้างตึกวชิระพยาบาล ตามข้อมูลในเอกสารจดหมายเหตุประมวลได้ว่า ใน พ.ศ. 2460 ทรงเห็นว่าโรงพยาบาลสุขาภิบาลที่ภูเก็ตคับแคบและถูกน้ำท่วมเสมอ ควรสร้างโรงพยาบาลใหม่ให้ทันสมัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หาทำเลที่ตั้งโรงพยาบาลใหม่ และทรงเลือกบริเวณเขารังซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารทำการของศึกษาธิการมณฑลภูเก็ต แล้วพระราชทานเงิน 30,000 บาท สำหรับก่อสร้างอาคารที่ทำการโรงพยาบาล อาคารที่พักผู้ป่วย อาคารที่พักแพทย์ และโรงครัว ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงพยาบาลสุขาภิบาลเข้ากับโรงพยาบาลวิชระภูเก็ต
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้กรมศุขาภิบาล กระทรวงนครบาลเริ่มวางรากฐานการประปาในกรุงเทพฯมาตั้งแต่ครั้งทรงเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครในปีพ.ศ. 2450 มีการขุดคลองจากเชียงรากมาถึงโรงกรองน้ำที่สามเสน รวมทั้งฝังท่อส่งน้ำจากโรงกรองน้ำไปยังบ้านเรือนของราษฎรในกรุงเทพฯ แล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2457
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเมื่อทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จประพาสหัวเมืองมณฑลพายัพ เมื่อ พ.ศ. 2448 ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจากกรุงเทพฯ ไปในการทรงเปิดทางรถไฟสายเหนือที่สถานีชุมทางบ้านภาชี แล้วเสด็จ พระราชดำเนินโดยขบวนรถไฟไปถึงสถานีปากน้ำโพเมืองนครสวรรค์ ต่อจากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองพิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง พะเยา พาน เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน แล้วกลับมาประทับที่เชียงใหม่ นอกจากนั้นระหว่างทางเสด็จกลับจากเชียงใหม่มากรุงเทพฯ ยังได้เสด็จประพาสเมืองตาก กำแพงเพชร บรรพตพิสัย ชัยนาท สิงห์บุรี และอ่างทองในมณฑลกรุงเก่าอีกด้วย รวมระยะเวลาในการเสด็จประพาสทั้งหมด 3 เดือน จากการเสด็จประพาสครั้งนั้น ได้เสด็จตรวจสถานที่ราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนรวมทั้งสภาพวัดและโบราณสถาน ได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพภูมิประเทศ สภาพบ้านเมือง และความเป็นอยู่ของราษฎร
ครั้นใน พ.ศ. 2452 ได้เสด็จพระราชดำเนินหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้เพื่อทอดพระเนตรภูมิประเทศและชัยภูมิในแนวคอคอดกระกับสภาพบ้านเมืองและความเป็นอยู่ของราษฎร ในการเสด็จครั้งนั้นเสด็จโดยเรือพระที่นั่งจักรีจากกรุงเทพฯ ไปทรงขึ้นบกที่ชุมพร แล้วเสด็จพระราชดำเนินตามแนวคอคอดกระจนถึงปากจั่น อำเภอกระบุรี จังหวัดระนองซึ่งเป็นเขตแดนต่อเมืองมลิวันของอังกฤษ แล้วเสด็จต่อไปยังเมืองระนอง ตะกั่วป่า ภูเก็ต พังงา ตะกั่วทุ่ง กระบี่ เกาะลันตา ตรัง ทับเที่ยง ทุ่งสง ร่อนพิบูลย์ และนครศรีธรรมราช
เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ยังได้เสด็จเลียบมณฑลปักษ์ใต้อีก 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2458 ครั้งนี้ได้เสด็จไปถึงหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นราธิวาส สายบุรี ปัตตานี สงขลา พัทลุง ตรัง ภูเก็ต นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2460 ได้เสด็จพระราชดำเนินข้ามคอคอดกระจากเมืองชุมพรไปยังตำบลมะมุ อำเภอ กระบุรี จังหวัดระนองซึ่งเป็นเขตแดนต่อเมืองมลิวันของอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง ต่อจากนั้นได้เสด็จประพาสเมืองระนอง ภูเก็ต ตรัง กันตัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี หลังสวน ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี
การที่ได้เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือจนถึงเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองปักษ์ใต้นี้ทำให้ทรงมีความรู้เรื่องของราษฎรที่มีวัฒนธรรมต่างกัน ทรงสานต่องานด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทำให้มีการเขียนประวัติศาสตร์ของชาติสยามอย่างเป็นรูปธรรมในเวลาต่อมา และการเสด็จประพาสหัวเมืองนี้ ยังทำให้ทรงมีโอกาสเปรียบเทียบทรัพยากรของสยามกับนานาประเทศที่เคยเสด็จประพาส นับเป็นต้นทุนในการวางแผนสร้าง “สยามรัฐ” อย่างเป็นระบบในรัชกาลของพระองค์อีกด้วย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทรงผนวชในขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรสเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม ถึง วันที่ 11 ธันวาคม 2447 มีพระสมณฉายาว่า “วชิราวุโธ” เสด็จจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร นอกจากจะทรงปฏิบัติศาสนกิจแล้ว ยังได้ทรงศึกษาธรรมวินัยตามหลักสูตรที่พระราชอุปัธยาจารย์จัดถวาย และทรงสอบไล่ได้เป็นที่ 1 ของสนามสอบวัดบวรนิเวศวิหารในปีนั้นด้วย
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์ทรงสร้าง ทรงพระราชนิพนธ์ และทรงริเริ่มสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาไว้หลายอย่าง กล่าวคือ ได้ทรงปฏิสังข์พระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ พระราชทานนามว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์ ประดิษฐาน ณ พระวิหารโถงด้านหน้าต่อกับวิหารทิศเหนือของพระปฐมเจดีย์ ทั้งยังมีพระราชพินัยกรรมให้บรรจุพระบรมราชสรีรังคารส่วนหนึ่งไว้ที่ใต้ฐานพุทธบัลลังก์นั้นด้วย ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่อง “พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร” ทรงพระราชนิพนธ์แปลภาษาบาลีเป็นภาษาไทยเพื่อให้คนไทยได้เข้าใจความอย่างแจ่มแจ้ง เช่น มงคลสูตร และยังมีบทพาหุงที่ทรงพระราชนิพนธ์แปล โดยทรงรักษาคณะฉันท์วสันตดิลกของเดิมไว้ได้อย่างน่าพิศวง และมีการใช้บทแปลพาหุงดังกล่าวมาจนทุกวันนี้ ในบางครั้งทรงแสดงพระธรรมเทศนาที่เรียกว่า “พระบรมราชานุศาสนีย์” ทรงพระราชดำริให้มีอนุศาสนาจารย์ไปกับกองทหาร ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อประเทศสยามส่งทหารไปร่วมรบ ณ สมรภูมิยุโรปในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทรงริเริ่มพระราชทานบัตรอำนวยพรในวันวิสาขบูชาตั้งแต่กลางรัชกาลของพระองค์ ทรงรับพระราชธุระปฏิสังขรณ์พระอารามสำคัญต่างๆ อาทิ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดบวรนิเวศวิหาร วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดพระพุทธบาท สระบุรี และวัดพระปฐมเจดีย์ ทั้งยังทรงหารายได้จากกิจการต่างๆ พระราชทานไปบูรณะพระพุทธเจดีย์และพระอารามหลายครั้ง
ในส่วนของการสืบอายุพระศาสนา ทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสให้ทรงเป็นแม่กองชำระคัมภีร์อรรถกถาทั้งในส่วนพระวินัยปิฎก พระอภิธรรมปิฎก และพระสุตตันตปิฎกบางคัมภีร์ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ บรมราชชนนี และเมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา ได้ทรงรับเป็นเจ้าภาพจัดพิมพ์อรรถกถาพระสุตันตปิฎกจนครบบริบูรณ์ แล้วโปรดพระราชทานไว้ในพระราชอาณาจักร 200 ชุด กับนานาประเทศอีก 400 ชุด
ในส่วนของศาสนาอื่นๆ นอกจากจะทรงรับเป็นองค์ศาสนูปถัมภกแล้ว ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์บำรุงศาสนานั้นๆ ตามควรแก่โอกาส
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงจัดตั้ง “คณะโขนสมัครเล่น” ซึ่งต่อมามีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “โขนบรรดาศักดิ์” เนื่องจากผู้แสดงทั้งหมดเป็นผู้ที่รับราชการและได้รับพระราชทานให้มีบรรดาศักดิ์ ทรงเริ่มโดยยืมครูโขนละครผู้มีฝีมือดีจากบ้านเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) มาฝึกสอนมหาดเล็กข้าในพระองค์อย่างจริงจังและถูกต้องตามแบบแผนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ภายหลังจากที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมโขนหลวงเป็นส่วนราชการสังกัดในกรมมหรสพซึ่งขึ้นตรงต่อกรมมหาดเล็กแล้ว ได้โปรดให้ครูโขนละครฝีมือดีมีบรรดาศักดิ์และราชทินนามต่างๆ ตามความสามารถของแต่ละบุคคล
ทรงพระราชนิพนธ์บทละครพูด และโปรดให้คณะโขนบรรดาศักดิ์เปลี่ยนมาเล่นละครพูดแทน ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมคณะผู้แสดงละครพูดจัดเป็น “คณะละครศรีอยุธยารม” และโปรดฯ ให้คณะละครนี้จัดการแสดงละครพระราชนิพนธ์และละครอื่นๆ เพื่อเก็บเงินบำรุงสาธารณกุศลมาเป็นลำดับตราบจนสิ้นรัชสมัย
พ.ศ. 2454 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมมหรสพ ขึ้นในสังกัดกรมมหาดเล็กหลวง รับผิดชอบราชการด้านดุริยางคศิลป์ โดยมีส่วนราชการในสังกัด คือ กรมปี่พาทย์หลวง กรมโขนหลวง และกองเครื่องสายฝรั่งหลวง ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเป็นวงศ์ดุริยางค์ชนิดออเคสตราวงแรกของประเทศไทยและภาคพื้นเอเชียอาคเนย์
พ.ศ. 2457 โปรดเกล้าให้จัดตั้ง “โรงเรียนทหารกระบี่หลวง” ซึ่งมุ่งเน้นฝึกหัดกุลบุตรให้มีความรู้ความชำนาญในวิชานาฏดุริยางคศิลป์ เพื่อสืบทอดศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ามิให้เสื่อมสูญ ภายหลังโรงเรียนนี้ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “โรงเรียนพรานหลวง” และถูกยุบเลิกไปเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต นักเรียนพรานหลวงซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี เช่น ศาสตราจารย์มนตรี ตราโมท นายเอื้อ สุนทรสนาน และนายอาคม สายาคม เป็นต้น
โปรดเกล้าฯ ให้ยกงานประณีตศิลป์ซึ่งกระจายกันอยู่ในกระทรวงโยธาธิการ และกรมพิพิธภัณฑ์ กระทรวงธรรมการ มารวมขึ้นใน “กรมศิลปากร” ที่โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นใหม่เป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงวัง
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างต่อเติมและก่อสร้างสถานที่สำคัญใหม่หลายแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งจะมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคิดคำไทยที่จำเป็นให้ใช้กันมาจนทุกวันจำนวนมาก อาทิเช่น ตำรวจ โทรเลข ธนาคาร บริการ บริษัท บรรณาธิการ จักรยาน ราชนาวี เลขานุการ วิทยุ สหกรณ์ เอกสารห้องสมุด เครื่องบิน ปริญญา อนุบาล ฯลฯ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถในด้านการประพันธ์อย่างยอดเยี่ยม ทรงได้รับการเฉลิมพระเกียรติคุณด้วยพระราชสมัญญาว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติได้ยกย่องพระเกียรติคุณของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นนักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละคร นับเป็นปราชญ์สยามคนที่ 5
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใฝ่พระทัยในการประพันธ์มาแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยทรงเริ่มจากการจดบันทึกพระราชกิจรายวัน ครั้นเสด็จออกไปทรงศึกษายังต่างประเทศ ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ทรงใช้เวลาว่างในการทรงพระราชนิพนธ์บทละครภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ทั้งยังทรงบันทึกเหตุการณ์สำคัญที่ทรงพบเห็นไว้ในรูปพระราชหัตถเลขา เมื่อเสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนครแล้วก็ได้ทรงใช้เวลาว่างในแต่ละวันพระราชนิพนธ์บทละคร บทความ นิทาน และอื่นๆ ไว้เป็นจำนวนมาก เมื่อคราวฉลองพระบรมราชสมภพครบ 100 ปี คณะกรรมการรวบรวมและค้นคว้าเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สำรวจและรวบรวมพระราชนิพนธ์ที่ทรงไว้ตลอดพระชนมชีพพบว่ามีจำนวนกว่า 1,200 เรื่อง และแม้เวลาจะล่วงมาถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่อาจรวบรวมให้สมบูรณ์ได้
พระราชนิพนธ์ทั้งหมด ได้แก่ บทโขน บทละคร บทร้อยกรอง นิทาน เรื่องชวนหัว พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท บทปลุกใจ พระราชบันทึก พระราชหัตถเลขา พระบรมราชานุศาสนีย์ สารคดีต่างๆ และบทความในหนังสือพิมพ์ นั้น นอกจากจะเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางวรรณศิลป์ ด้านเนื้อหาสาระ และสำนวนโวหารอันสละสลวยดังที่วรรณคดีสโมสรยกย่องแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงใช้บทพระราชนิพนธ์หลายเรื่องเป็นอุปกรณ์ในการพระราชทานความรู้ในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องประชาธิปไตย ตำนานชาติไทย ฯลฯ แก่พสกนิกรไทยมาโดยตลอด ทั้งในบทพระราชนิพนธ์ยังเต็มไปด้วยข้อคิดคำคมที่มีความหมายลึกซึ้ง เป็นที่จดจำสืบต่อมาจนทุกวันนี้
นอกจากพระราชนิพนธ์บทละครภาษาไทยแล้ว ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครภาษาอังกฤษอีกหลายเรื่อง ส่วนพระราชนิพนธ์แปล ทรงแปลบทละครภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสไว้หลายเรื่องเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทละครของวิลเลียม เชคสเปียร์ กวีคนสำคัญของอังกฤษ ซึ่งทรงแปลเป็นบทกวีไทยที่สละสลวยและรักษาอรรถรสของบทประพันธ์เดิมไว้ได้อย่างครบถ้วน อีกทั้งทรงแปลบทละครพระราชนิพนธ์ภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษไว้อีกหลายเรื่องอีกด้วย
ทรงส่งเสริมกิจการฟุตบอลอย่างจริงจัง ด้วยทรงเห็นว่านอกจากสนุกแล้ว ยังสอนให้มีน้ำใจรู้แพ้รู้ชนะ และฝึกร่วมมือกันเป็นทีม มิใช่แสดงความเด่นแต่ผู้เดียว กิจการฟุตบอลเจริญมากจนมีชุด “ทีมชาติ” มีการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “ข้อบังคับลักษณะปกครองคณะฟุตบอลแห่งสยาม” ในปี พ.ศ. 2459
© 2021 Chulalongkorn University
|
One fine body…