Articles

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการศึกษา

ผู้เขียน เทพ บุญตานนท์
บรรณาธิการ ชนัญญา เตชจักรเสมา

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การปฏิรูปการศึกษาเป็นพระบรมราโชบายสำคัญที่สยามเริ่มตระหนักว่าการปฏิรูปประเทศตามอย่างตะวันตกจำเป็นที่จะต้องสร้างประชากรที่มีความรู้ความสามารถเพื่อที่จะทำงานในระบบราชการสมัยใหม่ได้ รัฐบาลจึงได้ก่อตั้งโรงเรียนขึ้นเป็นสถานที่ให้การศึกษาอย่างเป็นระบบ แทนการเรียนที่วัดตามแบบการศึกษาดั้งเดิม พร้อมกันนี้ ยังมีการเปิดโรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนทหาร และโรงเรียนข้าราชการพลเรือน เพื่อผลิตคนสำหรับระบบราชการรูปแบบใหม่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบรมราโชบายด้านการศึกษายังคงเป็นพระบรมราโชบายสำคัญที่พระองค์ทรงมุ่งหวังให้ประชาชนมีความรู้อย่างทั่วถึง ด้วยเหตุนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศและกฎหมายที่เกี่ยวกับการศึกษาหลายฉบับ เช่น ประกาศจัดการศึกษาของทวยราษฎร์ พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ.2461 อันเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์จะควบคุมคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเอกชนโดยเฉพาะโรงเรียนสอนภาษาจีนที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.2464 เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีความรู้ขั้นพื้นฐานเพื่อใช้ดำรงชีพ

นอกจากนี้ ความต้องการคนที่ได้รับการฝึกอบรมวิชาความรู้สมัยใหม่ของตะวันตกมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐสมัยใหม่จะต้องการคนที่มีความรู้ตามแบบแผนตะวันตกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในทางกลับกัน จำนวนช่างไทยทั้งด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมไทย กลับลดลงมาก เนื่องจากความนิยมศิลปะแบบตะวันตกเข้ามาแทนที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสนับสนุนให้กระทรวงธรรมการก่อตั้งโรงเรียนเพาะช่างขึ้นเพื่อฝึกหัดช่างศิลปะไทยเพื่อเป็นการอนุรักษ์งานศิลปะเหล่านี้

พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์และพระราชบัญญัติประถมศึกษา

การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศและประชาชน ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นโดยนำรูปแบบการเรียนการสอนของตะวันตกมาใช้แทนการเรียนแบบจารีตที่มีวัดเป็นสถานศึกษา ในเวลาต่อมาโรงเรียนหลวงได้ขยายตัวไปทั่วประเทศพร้อมกับการขยายตัวของโรงเรียนราษฎร์ซึ่งดำเนินกิจการโดยหมอสอนศาสนาและนักบวชศาสนาคริสต์ โรงเรียนเหล่านี้นอกจากจะสอนวิชาความรู้สมัยใหม่แล้ว ยังให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ศาสนาคริสต์สู่ประชาชน โรงเรียนราษฎร์อีกกลุ่มหนึ่งคือโรงเรียนจีนของชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยในสยาม ซึ่งโดยมากแล้ว โรงเรียนจีนจะมุ่งเน้นการสอนภาษาจีนเพื่อให้ลูกหลานชาวจีนยังคงรักษาขนบธรรมเนียมจีนไว้ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของโรงเรียนราษฎร์ซึ่งหลาย ๆ โรงเรียนได้รับความนิยมจากคนไทย เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ทำให้รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ.2461 ขึ้นเพื่อควบคุมโรงเรียนเหล่านี้ให้จัดรูปแบบการเรียนการสอนที่มีมาตรฐานเช่นเดียวกับโรงเรียนหลวงและป้องกันไม่ให้โรงเรียนราษฎร์เหล่านี้เป็นแหล่งเพาะอุดมการณ์ที่เป็นที่ไม่พึงประสงค์ของรัฐบาล

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้จัดตั้งโรงเรียนที่ใช้รูปแบบการเรียนการสอนสมัยใหม่ขึ้น โรงเรียนหลวงก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งในพระนครและตามมณฑลต่าง ๆ เพื่อสนองตอบกับนโยบายปฏิรูปประเทศที่ต้องการให้ประชาชนมีความรู้อ่านออกเขียนได้ กระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โรงเรียนหลวงได้เพิ่มมากขึ้นจนเข้าไปอยู่ในตำบลและอำเภอต่าง ๆ ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงโรงเรียนได้โดยง่าย ประกอบกับระบบราชการสมัยใหม่ที่ใช้การสื่อสารผ่านตัวหนังสือ ทำให้ทักษะการอ่านและเขียนเป็นทักษะสำคัญของประชาชน ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้กระทรวงธรรมการตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาพ.ศ.2464 ขึ้น เพื่อบังคับให้คนไทยทุกคนต้องเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนกว่าจะอ่านออกเขียนได้

พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์

การปฏิรูปประเทศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษาจากการศึกษาแบบจารีตที่มีวัดเป็นศูนย์กลางมาเป็นการศึกษาตามรูปแบบตะวันตกที่มีศูนย์กลางอยู่ที่โรงเรียน รัฐบาลตั้งโรงเรียนหลวงที่จัดการศึกษาตามแบบตะวันตกขึ้นเพื่อตอบรับกับนโยบายปฏิรูปประเทศ ขณะเดียวกันบรรดาหมอสอนศาสนาและบาทหลวงทั้งนิกาย โปรเตสแตนต์และโรมันคาทอลิกได้ก่อตั้งโรงเรียนราษฎร์ขึ้นเพื่อใช้เผยแพร่ศาสนา ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโรงเรียนจีนที่ก่อตั้งโดยชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาอาศัยในสยามก็เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แม้ชาวจีนโพ้นทะเลจะเข้ามาอาศัยในสยามแต่ก็ยังผูกพันและต้องการธำรงรักษาธรรมเนียมและวัฒนธรรมจีน รวมทั้งยังใช้ภาษาจีนเพื่อสื่อสารภายในกลุ่มชาวจีนด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ชาวจีนโพ้นทะเลจึงนิยมส่งลูกหลานของตนเข้าเรียนในโรงเรียนจีนแทนโรงเรียนหลวง ปัญหาสำคัญของโรงเรียนจีนเหล่านี้คือการปลูกฝังลิทธิชาตินิยมจีนให้กับนักเรียน [1] จนกล่าวได้ว่า โรงเรียนจีนในสยามเป็นแหล่งเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มชาตินิยมจีนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลสยามก็จับตามองการเคลื่อนไหวเหล่านี้มาโดยตลอด และตระหนักดีว่าโรงเรียนจีนกลายเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญของนักชาตินิยมชาวจีน แนวคิดเหล่านี้ได้ส่งผลโดยตรงต่อทหารไทยกลุ่มหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากการเคลื่อนไหวต่อต้านราชวงศ์ชิงและเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศจีน จนนำไปสู่เหตุการณ์กบฏร.ศ.130 ขึ้น ในพ.ศ.2455[2]

เพื่อป้องกันไม่ให้โรงเรียนเหล่านี้เป็นแหล่งบ่มเพาะเชื้อแห่งการปฏิวัติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้กระทรวงธรรมการตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ขึ้นในพ.ศ.2461 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญสองประการคือ หนึ่ง ควบคุมมาตรฐานวิชาการของโรงเรียนราษฎร์เหล่านี้ให้มีมาตรฐานเดียวกับโรงเรียนหลวงและป้องกันไม่ให้โรงเรียนราษฎร์กลายเป็นสถานที่ปลูกฝังลัทธิความเชื่อที่จะเป็นภัยต่อรัฐสยาม ด้วยเหตุนี้ ข้อบังคับสำคัญของผู้ที่จะก่อตั้งโรงเรียนราษฎร์คือ ต้องไม่เคยต้องโทษคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ เช่น คดีขบถประทุษร้ายต่อพระมหากษัตริย์ คดีเป็นโจรซ่องสุมคนและอังยี่ คดีเป็นโจรปล้นสะดม นอกจากนี้รัฐยังไม่อนุญาตให้บุคคลที่เคยต้องโทษคดีข่มขืนกระทำชำเราตั้งโรงเรียน[3] เพราะโรงเรียนต้องเกี่ยวพันกับเด็กทั้งชายและหญิงเป็นจำนวนมาก พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ยังกำหนดให้ผู้ที่จะเป็นครูใหญ่ต้องมีประกาศนียบัตรครูหรือประกาศนียบัตรชั้นมัธยมปีที่ 6[4] เพื่อให้แน่ใจว่าโรงเรียนจะมีครูที่มีความรู้เรื่องการเรียนการสอน

จุดมุ่งหมายสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้คือ กำหนดคุณภาพของโรงเรียนราษฎร์และป้องกันไม่ให้โรงเรียนกลายเป็นแหล่งซ่องสุมของฝ่ายต่อต้านรัฐ จึงกำหนดให้โรงเรียนต้องจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยจนผู้เรียนสามารถอ่านเขียนและสื่อสารได้อย่างคล่องแคลว รวมทั้งวิชาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์เพื่อปลูกฝังความจงรักภักดีต่อประเทศให้แก่นักเรียน[5] นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับหนังสือเรียนที่ใช้ โดยกระทรวงธรรมการห้ามไม่ให้ใช้หนังสือเรียนที่ฝ่าฝืนศีลธรรมและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดนี้มิได้ถูกบังคับใช้กับโรงเรียนสอนภาษาและโรงเรียนที่สอนวิชาศิลปศาสตร์โดยเฉพาะ[6]

เพื่อเป็นการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานของโรงเรียน เมื่อสิ้นสุดการศึกษาในแต่ละปีโรงเรียนจะต้องส่งรายงานกลับมาที่กระทรวงธรรมการ โดยแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนและประวัติของครูในโรงเรียน จำนวนนักเรียน และจำนวนนักเรียนที่สอบไล่ได้ในแต่ละปี รวมทั้งคนที่ได้รับประกาศนียบัตรในระดับชั้นต่าง ๆ[7] นอกจากนี้กระทรวงธรรมการยังได้ตั้งผู้ตรวจการคอยตรวจสอบความเรียบร้อยและปฏิบัติตามข้อกำหนดของกระทรวง โดยเฉพาะการสอนวิชาภาษาไทย วิชาประวัติศาสตร์และวิชาภูมิศาสตร์ รวมทั้งคอยสอดส่องไม่ให้โรงเรียนดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ[8] ซึ่งพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ได้กำหนดบทลงโทษสำหรับโรงเรียนที่ฝ่าฝืนข้อบังคับตั้งแต่การปิดโรงเรียนเป็นการชั่วคราวจนถึงการปิดโรงเรียนเป็นการถาวร[9]

จากข้อกำหนดและข้อบังคับของพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์พ.ศ.2461 จะเห็นได้ว่ากฎหมายฉบับนี้มุ่งเน้นที่จะควบคุมให้โรงเรียนราษฎร์ไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อปลุกระดมคนให้ต่อต้านรัฐบาล ดังนั้นจึงกำหนดให้มีการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย วิชาประวัติศาสตร์และวิชาภูมิศาสตร์ เป็นวิชาบังคับเพื่อปลูกฝังความรักชาติ โดยมีผู้ตรวจการคอยตรวจสอบอย่างเคร่งครัดว่าโรงเรียนราษฎร์เหล่านี้ได้จัดการเรียนการสอนตามข้อบังคับ

พระราชบัญญัติประถมศึกษาพ.ศ.2464

การปฏิรูปการศึกษาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทำให้มีการก่อตั้งโรงเรียนขึ้นเป็นจำนวนมากทั้งในเขตพระนครและมณฑลต่าง ๆ ล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว การก่อตั้งโรงเรียนตามพื้นที่ห่างไกลยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้สะดวกมากขึ้น ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ประชาชนทุกคนได้รับการศึกษาจนสามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ พระองค์จึงมีพระบรมราชโองการให้กระทรวงธรรมการตราพระราชบัญญัติประถมศึกษ พ.ศ.2464 ขึ้น

ในขณะนั้นโรงเรียนแบ่งออกเป็นสามประเภทได้แก่ โรงเรียนหลวง เป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นและใช้งบประมาณกระทรวงธรรมการในการดำเนินกิจการ โรงเรียนประชาบาล เป็นโรงเรียนที่ท้องถิ่นตั้งขึ้นโดยใช้ทุนทรัพย์ของท้องถิ่นในการดำเนินกิจการแต่อยู่ในความดูแลของกระทรวงธรรมการ และโรงเรียนราษฎร์ เป็นโรงเรียนที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์[10] พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.2464 กำหนดให้การศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนประชาบาลจะต้องไม่เรียกค่าสอนจากนักเรียน

พระราชบัญญัติประถมศึกษาบังคับให้เด็กทุกคนที่มีอายุ 7 ปีบริบูรณ์ต้องเข้าเรียนในโรงเรียนประถมในปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 800 ชั่วโมง จนกว่าจะอายุครบ 14 ปี หรือจนกว่าจะอ่านและเขียนภาษาไทยได้ ยกเว้นกรณีที่นักเรียนมีความบกพร่องในการเรียนรู้ ก็จะอนุโลมให้เลิกเรียนได้ก่อน[11] อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองสามารถสอนหนังสือลูกตัวเองได้โดยไม่ต้องส่งเข้าโรงเรียนหากได้รับการยกเว้นจากกระทรวง แต่นักเรียนจะต้องเข้ารับการสอบไล่ปีละครั้งเพื่อวัดความรู้ที่เล่าเรียนมา[12]

เพื่อเป็นการบังคับให้ผู้ปกครองส่งลูกหลานของตนเข้ารับการศึกษา รัฐบาลได้ใช้กฎหมายเพื่อลงโทษผู้ปกครองที่ไม่ส่งลูกหลานเข้าเรียน หากทำผิดครั้งแรก ผู้ปกครองจะถูกทำทัณฑ์บนโดยให้สัญญาว่าจะส่งเด็กเข้ารับการศึกษา แต่หากผิดทัณฑ์บนจะถูกปรับเงินไม่เกิน 50 บาท[13] หากยังทำผิดซ้ำ ต้องระวางโทษจำคุก 50 วัน หรือปรับเป็นเงิน 100 บาท หรือทั้งจำและปรับ[14] จะเห็นได้ว่า กฎหมายที่รัฐบาลใช้ลงโทษผู้ปกครองมีความผ่อนปรน หากเป็นการทำผิดครั้งแรกจะเพียงแค่ทำทัณฑ์บนผู้ปกครองเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวและตัดสินใจส่งเด็กเข้าเรียนหนังสือ แต่ในขณะเดียวกันก็ตั้งเงินค่าปรับในราคาสูงเพื่อไม่ให้ผู้ปกครองทำผิดซ้ำอีก

อย่างไรก็ตาม แผนการศึกษาภาคบังคับถูกคัดค้านว่าอาจทำให้เด็กไม่ได้รับการฝึกฝนวิชาชีพของวงศ์ตระกูลทั้งด้านงานช่างหรือการเกษตร ด้วยเหตุนี้กระทรวงธรรมการจึงแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยจัดหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับที่กำหนดให้การศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 เป็นการศึกษาวิชาสามัญ ส่วนการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 เป็นการศึกษาที่เกี่ยวกับวิชาชีพ โดยเฉพาะวิชาที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม[15] ทำให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องกับพระราชบัญญัติประถมศึกษา อันเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาภาคบังคับของประเทศไทยที่มุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนสามารถอ่านออกเขียนได้และมีความรู้พื้นฐานด้านอื่น ๆ เพื่อประกอบอาชีพในภายภาคหน้า

โรงเรียนเพาะช่าง

นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว งานศิลปะต่างชาติได้เข้ามามีพื้นที่อยู่ในวัดและวัง รวมถึงบ้านของคหบดี ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นพื้นที่ของงานช่างไทย อย่างไรก็ตาม พระราชนิยมในงานศิลปะและสถาปัตยกรรมจีนของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้วัดและวังที่สร้างหรือบูรณะปฏิสังขรณ์ในรัชสมัยของพระองค์ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดราชโอรสาราม หันมาใช้ศิลปะแบบจีนโดยเฉพาะลายกระเบื้องในการตกแต่งโบสถ์และวิหารแทนงานศิลปะแบบไทย ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การเข้ามาของศิลปะและสถาปัตยกรรมตะวันตก โดยเฉพาะงานช่างอิตาลี ทำให้ความนิยมรูปแบบศิลปะและสถาปัตยกรรมในสยามเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง คือหันมาสร้างอาคารสถานที่ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก นอกจากนี้ การตกแต่งภายในอาคารก็หันมาใช้งานจิตรกรรมและประติมากรรมของตะวันตกด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในวังและบ้านของชนชั้นนำ ด้วยเหตุนี้ งานศิลปะไทยรวมทั้งช่างไทยที่ผลิตงานเหล่านี้จึงลดน้อยลงเรื่อย ๆ จากสังคมไทย เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับงานศิลปะหลากหลายประเภท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการประกวดศิลปกรรมขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนและประชาชนมีโอกาสนำเสนอผลงานของตนสู่สาธารณะ นอกจากนั้น ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนเพาะช่างขึ้นเพื่อฝึกหัดและฝึกฝนคนที่มีความสามารถทางด้านหัตถกรรมและศิลปกรรมให้มีความชำนาญเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งนอกจากจะเป็นการผลิตช่างฝีมือที่มีคุณภาพแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์งานศิลปกรรมของไทยให้คงอยู่ต่อไป

การแสดงศิลปการหัดถกรรมของนักเรียนและพณิชยการของพลเมือง

ในพ.ศ.2455 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้จัดการประกวดงานศิลปะของนักเรียนเพื่อส่งเสริมนักเรียนที่มีความสามารถทางศิลปะให้มีโอกาสได้แสดงทักษะของตนสู่สาธารณชน ด้วยเหตุนี้ กระทรวงธรรมการได้จัดให้มีการแสดง “ศิลปการหัดถกรรม” ขึ้นเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โดยผู้เข้าประกวดต้องเป็นนักเรียนอยู่ที่โรงเรียนแห่งใดแห่งหนึ่ง หรือเป็นเด็กที่มีอายุไม่เกิน 14 ปี โดยแบ่งประเภทการประกวดออกเป็น 3 ประเภท คือ หมวดความคิด ประดิษฐ์สิ่งของที่เกิดจากความคิดของตนเอง หมวดถ่ายอย่าง ลอกเลียนให้เหมือนกับสิ่งของที่มีอยู่แล้ว หมวดฝีมือประณีต เช่น งานขัดไม้ ขัดเงา เป็นต้น[16] สำหรับผู้ชนะการแข่งขันประเภทต่าง ๆ จะได้รับของรางวัลแตกต่างกันออกไป รางวัลเหล่านี้บางส่วนได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี นอกจากนี้ยังมีรางวัลจากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ [17]

งานศิลปการหัดถกรรมครั้งแรกจัดขึ้นในเดือนมกราคม พ.ศ.2455 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประธานในพิธีเปิดงานและพระราชทานของรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศประเภทต่าง ๆ พร้อมกันนี้ยังมีพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ทรงเข้าร่วมพิธีปิดงานในคราวนี้ด้วย เช่น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร์ เป็นต้น โดยผู้ชนะรางวัลชั้นที่หนึ่ง ได้แก่ ผลงานการปักไหมและดิ้นของโรงเรียนราชินี ได้รับพระราชทานเงินรางวัลจำนวน 100 บาท จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[18] ส่วนรางวัลชั้นที่สองได้รับพระราชทานเงินรางวัล 80 บาท ได้แก่ การช่างถมของโรงเรียนหัตถกรรมราชบุรณะ การถักลูกไม้ของโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง และการเขียนรูปผู้หญิงด้วยถ่านของนายปาน เด็กนักเรียนโรงเรียนหัตถกรรมราชบุรณะ[19] ในปีถัดมา งานแสดงศิลปการหัตถกรรมของนักเรียนได้จัดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในคราวนี้ได้แบ่งประเภทของการประกวดเป็นสองประเภท คือ หมวดสินค้า เป็นของที่ทำได้ครั้งละมาก ๆ ราคาไม่แพง อีกประเภทคือหมวดศิลปะ เป็นงานที่ต้องแสดงฝีมือทางช่าง เช่น งานเขียน ปั้น แกะ หรือสลัก ซึ่งผู้ชนะการประกวดจะได้รับพระราชทานรางวัลเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา[20] การแบ่งประเภทการจัดประกวดเป็นสองกลุ่มนี้แสดงให้เห็นว่า การประกวดไม่ได้เน้นเพียงความสวยงามประณีตของงานหัตถกรรมเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นให้นักเรียนสามารถใช้ทักษะทางหัตถกรรมเพื่อหารายได้

กระทรวงธรรมการได้จัดการแสดงศิลปการหัดถกรรมอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสแสดงความสามารถด้านศิลปกรรมของตนเอง การจัดงานแต่ละครั้งได้รับความนิยมทั้งจากประชาชนซึ่งเข้าชมงานอย่างเนืองแน่น และจากนักเรียนที่ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดกันเป็นจำนวนมาก แม้แต่นักเรียนโรงเรียนแพทยาลัยก็ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดด้วย[21] ด้วยเหตุนี้กระทรวงธรรมการจึงมีความคิดที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้ส่งงานหัตถกรรมของตนเองเข้าประกวด เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สินค้าหัตถกรรมของชาวบ้านเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เช่น เครื่องสาน เครื่องปั้น เป็นต้น และนอกจากการประกวดสินค้าแล้ว กระทรวงธรรมการยังอนุญาตให้จำหน่ายสินค้าของตนภายในงานจัดแสดงด้วย

ในพ.ศ.2458 จึงมีการเพิ่มการประกวดงานหัตถกรรมของประชาชน และเปลี่ยนชื่องานเป็น “การแสดงศิลปการหัดถกรรมของนักเรียนและพณิชยการของพลเมือง”[22] การจัดงานในครั้งนี้ได้แบ่งประเภทการประกวดออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ หมวดสินค้า เป็นการประดิษฐ์สิ่งของที่ทำได้ครั้งละมาก ๆ เพื่อขายในท้องตลาด หมวดศิลปะ เป็นการประกวดฝีมือช่างที่สามารถประดิษฐ์หัตถกรรมที่มีความประณีตงดงาม และหมวดความคิดดี เป็นการให้รางวัลแก่ผู้ที่ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาใหม่ หรือของที่สาปสูญไปแต่นำกลับมาผลิตขึ้นใหม่อีกครั้ง[23] จุดมุ่งหมายสำคัญของการจัดงานในครั้งนี้นอกจากเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงทักษะทางงานฝีมือแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านมีโอกาสนำสินค้าของตนมาวางจำหน่ายในงาน อันเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับช่างฝีมืออีกทางหนึ่ง จากกระแสตอบรับเป็นอย่างดีของประชาชนต่อการแสดงศิลปการของนักเรียนและประชาชน รัฐบาลจึงได้จัดงานดังกล่าวขึ้นเป็นประจำทุกปี

กำเนิดโรงเรียนเพาะช่าง

สยามในยุคปฏิรูปประเทศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีสถาบันการศึกษาสำหรับฝึกคนให้มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ทั้งด้านกฎหมาย การทหาร การแพทย์ หรือแม้แต่การทำอุตสาหกรรมป่าไม้ อย่างไรก็ดี สำหรับโรงเรียนฝึกหัดคนเพื่อทำหน้าที่ช่าง ยังเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับความสำคัญเท่าใดนัก เพราะแต่เดิมการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านการช่างมักต้องฝากตัวเป็นศิษย์ของช่างที่มีความรู้ในศาสตร์นั้น ๆ ดังนั้นการฝึกหัดช่างของไทยจึงไม่เป็นแบบแผน ทั้งยังไม่มีประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรรับรองความสามารถ ในขณะที่การเกิดขึ้นของการศึกษาแบบตะวันตกที่สอนให้คนอ่านออกเขียนได้เป็นที่นิยมในหมู่ราษฎรมากขึ้น เพราะสามารถทำงานเป็นเสมียนซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของบริษัทร้านค้าต่าง ๆ ทำให้การฝึกฝนวิชาช่างไม่ได้รับความนิยม เพราะคนทั่วไปเห็นว่าเป็นวิชาความรู้ของคนไม่มีการศึกษา และเป็นงานที่เหน็ดเหนื่อย[24] อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคนอ่านออกเขียนได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมากกว่าความต้องการของห้างร้านต่าง ๆ ก็ทำให้คนจำนวนมากที่เล่าเรียนในโรงเรียนต้องตกงาน เนื่องจากไม่มีทักษะด้านอื่นเพื่อใช้ประกอบอาชีพ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงปฏิรูปการศึกษาระดับพื้นฐานใหม่ โดยแบ่งการศึกษาออกเป็นสองภาค คือ วิชาศึกษาบังคับ เป็นการเรียนวิชาสามัญพอให้อ่านออกเขียนได้ ส่วนอีกภาคคือวิชาวิสามัญ เป็นการเข้าศึกษาในโรงเรียนแพทย์ หรือโรงเรียนข้าราชการพลเรือน เป็นต้น ซึ่งผู้ที่จะเรียนวิชาวิสามัญต้องจบการศึกษาระดับมัธยมก่อน แล้วจึงเข้าเรียนในระดับวิสามัญต่อได้ [25]

เนื่องจากโรงเรียนระดับวิสามัญที่มีอยู่ในเวลานั้นยังไม่มีโรงเรียนที่ทำหน้าที่ผลิตช่างโดยเฉพาะ ด้วยเหตุนี้ ในพ.ศ.2456 กระทรวงธรรมการจึงได้ก่อตั้ง “โรงเรียนฝึกหัดการหัดถกรรม” ขึ้น ที่ถนนตรีเพชร เงินส่วนหนึ่งที่ใช้ในการสร้างโรงเรียนมาจากเงินบริจาคของข้าราชการกระทรวงธรรมการที่ต้องการสร้างโรงเรียนเพื่ออุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อการก่อสร้างโรงเรียนสำเร็จแล้วกระทรวงธรรมการได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานนามโรงเรียนจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์พระราชทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียนเพาะช่าง” พร้อมกับเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงเรียนในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2456[26]

ในพิธีเปิดโรงเรียน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราโชวาทถึงความสำคัญของการมีโรงเรียนฝึกหัดช่างว่า งานศิลปะและงานช่างเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นความเจริญรุ่งเรือง และความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติ เพราะหากประเทศชาติอยู่ในความไม่สงบก็จะไม่มีเวลาคิดทำนุบำรุงบ้านเมืองให้วิจิตรงดงาม[27]


		“… เราเห็นว่าศิลปวิชาช่างเปนสิ่งสำคัญอันหนึ่งสำหรับแสดงให้ปรากฏว่า ชาติได้ถึงซึ่งความเจริญเพียงใดแล้ว วิชาช่างแลฝีมือการช่างทั้งสองอย่างนี้ เปนเครื่องแสดง
	ความงามแลความประณีต ซึ่งจะมีได้เปนได้แต่ในประเทศบ้านเมืองที่สงบราบคาบ แลมีการปกครองเปนอันดี ไพร่ฟ้าประชาชนได้รับความสงบร่มเย็นเพื่อประกอบการอาชีวะได้สดวก 
	จึงมีเวลาคิดแลบำรุงความงามความประณีตให้เปนที่น่าสรรเสริญ วัตถุที่ประณีตงามได้แก่ การเขียน การปั้น แลการก่อสร้าง เหล่านี้ล้วนเปนสิ่งที่ต้องการเวลาตรึกตรองและเวลาทำ
	นาน ๆ จึงจะสำเร็จได้ดี ถ้าบ้านเมืองใดต้องกังวลในการต่อสู้ป้องกันข้าศึกสัตรูภายนอก หรือต้องระส่ำระสายในการปราบปรามเหล่าร้ายภายใน บ้านเมืองนั้นก็ไม่อาจทำการเหล่านี้
	ให้สำเร็จไปได้ เพราะฉนั้นความเจริญในวิชาช่างจึงเปนเครื่องวัดความเจริญของชาติ”[28]  

อย่างไรก็ตาม ในพระบรมราโชวาทเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชวิจารณ์ถึงการเข้ามาของศิลปะต่างชาติจนทำให้วิชาช่างไทยค่อย ๆ สูญหายไป จนสุดท้ายแล้วกรุงเทพฯ กลับเต็มไปด้วยสถานที่ที่น่ารำคาญพระเนตรสำหรับพระองค์ เพราะศิลปะของต่างชาติเหล่านี้ดูไม่เข้ากับวัฒนธรรมไทย พระองค์ทรงมีพระราชปรารภกับเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีในการก่อตั้งโรงเรียนเกี่ยวกับการฝึกสอนช่างไทยให้สามารถนำความรู้ของตะวันตกมาพัฒนางานศิลปะและหัตถกรรมของไทย

		“… ชาติไทยเราได้เคยถึงซึ่งความเจริญมานานแล้ว ดังปรากฏด้วยระเบียบแบบแผนแลตำนานของเรา แต่บางสมัยในพงษาวดารของเราได้มีข้าศึกสัตรูเข้ามาย่ำยีทำลาย
	ถาวรวัตถุต่าง ๆ ของเรา แลทำความทรุดโทรมให้เปนอันมาก ครั้งต่อมาเมื่อเราต้องดำเนิรตามสมัยใหม่ วิชาช่างของเราเราก็ชวนจะลืมเสียหมด ไปหลงเพลิน แต่จะเอาอย่างของ
	คนอื่นเขาถ่ายเดียว ผลในที่สุดก็คือ กรุงเทพฯ เดี๋ยวนี้เต็มไปด้วยสถานที่อันเปน  เครื่องรำคาญตาต่าง ๆ แท้จริงแล้ววิชาช่างเปนวิชาพื้นเมือง จะคอยแต่เอาอย่างของคนอื่นถ่าย
	เดียวไม่ได้ เพราะงามของเขาไม่เหมาะแก่ตาเรา แลฐานะของเขากับของเราต่างกัน ที่ถูกนั้นควรจะแก้ไขพื้นวิชาของเราเองให้ดีขึ้นตามความรู้ แลวัตถุอันเกิดขึ้นใหม่ตามสมัย ใน
	ข้อนี้ สมเด็จพระบรมชนกนารถได้ทรงพระปรารภอยู่มาก แลเพื่อจะทรงทำนุบำรุงวิชาช่างของไทยเราที่มีมาแล้วแต่โบราณให้ถาวรอยู่สืบไป จึงได้ทรงสร้างวัดเบญจมบพิตรขึ้นให้
	ปรากฏเปนแบบอย่างไว้ เราเห็นชอบด้วยตามกระแสพระราชดำริห์นั้น แลได้เคยปรารภกับเจ้าพระยาพระเสด็จ แลผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วยการศึกษา ที่จะให้วิชาช่างไทยของเรา
	ตั้งขึ้นใหม่จากพื้นเดิมของเราแล้ว แลขยายให้แตกกิ่งก้านสาขางอกงามยิ่งขึ้น เปรียบเหมือนเอาพรรณพืชของเราเองมาปลูกลงในพื้นแผ่นดินของเรา แล้วบำรุงให้เติบโตงอกงาม 
	ดีกว่าที่จะเอาไปพรรณไม้ต่างประเทศมาปลูกลงในพื้นแผ่นดินของเราอันไม่เหมาะกัน …”[29] 

เพียงปีเดียวหลังจากที่โรงเรียนเพาะช่างถือกำเนิดขึ้น ในงานแสดงศิลปหัตถกรรมของนักเรียนประจำพ.ศ.2456 นักเรียนจากโรงเรียนเพาะช่างก็ได้รับพระราชทานรางวัลที่ 1 จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จากผลงานเครื่องถม นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลที่ 3 จากผลงานออกแบบและคิดลวดลาย[30] ซึ่งในเวลาต่อมา นักเรียนจากโรงเรียนเพาะช่างก็ได้เข้าร่วมงานแสดงศิลปหัตถกรรมของนักเรียนเป็นประจำทุกปี แต่เหนืออื่นใด โรงเรียนเพาะช่างได้กลายเป็นแหล่งผลิตช่างไทยเพื่อสืบทอดงานศิลปะ สถาปัตยกรรม และหัตถกรรมไทยตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจนกระทั่งปัจจุบัน

โรงเรียนมหาดเล็กหลวง

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคือรัชสมัยแห่งการวางรากฐานการศึกษาสมัยใหม่ให้คนไทยได้มีการศึกษาที่เป็นระเบียบแบบแผนแทนการบวชเรียนหรือการฝากตัวเป็นศิษย์ของปราชญ์ต่าง ๆ วิชาสมัยใหม่ที่จำเป็นต่อการก้าวตามความเจริญก้าวหน้าของโลกสมัยใหม่ ทั้งวิชาเลข ภาษาไทย และวิทยาศาสตร์ ได้รับการบรรจุเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอน ผลที่ตามมาคือจำนวนคนที่อ่านออกเขียนได้ในเขตเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตอบรับกับการขยายตัวทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสมัยใหม่เหล่านี้ หากไม่เรียนต่อในระดับสูงเช่นโรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนข้าราชการพลเรือน หรือโรงเรียนแพทยาลัย ก็ล้วนแต่มีโอกาสเข้าทำงานในบริษัทห้างร้านหรือรับราชการตำแหน่งต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะมุ่งเน้นที่การสร้างคนให้ทำงานเสมียนเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีการปฏิรูประบบการศึกษาในโรงเรียน โดยนอกจากนักเรียนจะต้องเรียนวิชาสามัญเช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ยังต้องเรียนวิชาด้านอาชีวะ เช่น งานช่างหรือการเกษตร ตามแต่ภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้นักเรียนเหล่านี้สามารถประกอบอาชีพอื่น ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่มุ่งแต่จะเป็นเสมียน[31]

พระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือการสถาปนา “โรงเรียนมหาดเล็กหลวง” ขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานศึกษาอบรมกุลบุตรให้มีความรู้ควบคู่กับจรรยา โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นอนุสรณ์ในพระองค์แทนการสร้างวัดประจำรัชกาล เพราะทรงตระหนักดีว่าการศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญของความเจริญก้าวหน้าของชาติบ้านเมือง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่กับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นนั้น พระองค์ทรงก่อตั้งโรงเรียนขึ้นในพระตำหนักสวนจิตรลดาและวังสราญรมย์ ตั้งแต่ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร เพื่อเป็นโรงเรียนสอนมหาดเล็กในพระองค์ ซึ่งจำนวนมากเข้ามาถวายการรับใช้พระองค์ตั้งแต่ยังเด็ก บางคนยังไม่สำเร็จการศึกษาขั้นใด ๆ และไม่ได้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารมีพระราชดำริให้ทุกคนเข้าศึกษาตามโรงเรียนต่าง ๆ ตามวิทยฐานะ โดยรูปแบบการศึกษาของโรงเรียนที่วังสราญรมย์นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกแบบหลักสูตรเอง โดยแบ่งการสอนเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งสอนวิชาหนังสือแก่พวกรุ่นเล็ก คือ พวกที่เข้าโรงเรียนวัด อีกส่วนหนึ่งสอนพวกรุ่นโตที่มีพื้นความรู้แล้ว[32]

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินบริเวณสวนดุสิตพร้อมกับพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อสร้างโรงเรียนขึ้นมาใหม่ พร้อมกันนี้พระองค์ทรงพระราชทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียนมหาดเล็กหลวง” ด้วยพระราชประสงค์ที่จะก่อตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแทนวัดประจำรัชกาล เพื่อทำนุบำรุงการศึกษาของชาติให้เจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาให้ดีขึ้น พร้อมกับย้ายโรงเรียนให้ไปอยู่ในพื้นที่ที่กว้างขวางและมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักเรียนและครูอาจารย์อย่างครบครัน และจัดให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนระดับมูลประถมและมัธยม นอกจากนั้นยังจัดให้มีการสอนวิชาข้อราชการในพระราชสำนัก เพื่อเป็นการเตรียมนักเรียนที่ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับรับราชการในพระราชฐานหลังสำเร็จการศึกษา[33]

โรงเรียนมหาดเล็กหลวงรับนักเรียนตั้งแต่อายุ 7 ปีขึ้นไป ผู้เรียนที่ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระองค์จะได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนนักเรียนทั่วไปต้องเสียค่ากินอยู่เดือนละ 30 บาท โดยต้องมีกรรมการโรงเรียนคนหนึ่งรับรองจึงจะมีสิทธิเข้าเรียนได้ อย่างไรก็ตาม นักเรียนที่เสียเงินค่าเรียนเองนั้น สามารถถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวงได้หากต้องการ ซึ่งนักเรียนทั้งสองกลุ่มจะมีสิทธิและอยู่ภายใต้กฎเดียวกัน แต่เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว นักเรียนหลวงจะต้องเข้ารับราชการในหน่วยราชการหน่วยใดหน่วยหนึ่งสุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ส่วนนักเรียนสมัครนั้น เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วมีสิทธิเลือกที่จะศึกษาเล่าเรียนต่อในโรงเรียนวิชาพิเศษหรือประกอบอาชีพได้ตามอัธยาศัย[34]

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใส่พระทัยในกิจการของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นอย่างมาก มีพระราชดำรัสสั่งให้สภาจางวางมหาดเล็กซึ่งมีหน้าที่ปกครองดูแลโรงเรียนถวายรายงานการดำเนินการของโรงเรียนเป็นประจำทุกเดือน ได้เสด็จพระราชดำเนินอย่างเป็นทางการมาที่โรงเรียนปีละ 2 ครั้ง คือ ในวันวิสาขบูชา เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานพระบรมราโชวาทให้แก่นักเรียน และวันพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลประจำปีเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานรางวัลแก่นักเรียนที่ชนะการประกวดในด้านต่าง ๆ รวมทั้งพระราชทานประกาศนียบัตรแก่นักเรียนที่สำเร็จการศึกษา นอกจากนี้ยังมีการเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์เพื่อทอดพระเนตรละครของนักเรียนหรือการแข่งขันกีฬา ความใส่พระทัยต่อนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงยังปรากฏให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการให้นักเรียนของโรงเรียนเข้าเฝ้า หรือหากเสด็จประพาสหัวเมืองต่าง ๆ ก็ทรงมีพระบรมราชโองการให้นักเรียนคอยตามเสด็จอยู่เสมอ[35] นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้นักเรียนมหาดเล็กหลวงเข้าร่วมพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วย เพราะถือว่าเป็นข้าราชการในพระองค์เฉกเช่นข้าราชการคนอื่น ๆ[36]

สำหรับการเรียนหนังสือในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้จัดการเรียนการสอนที่ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่ยังมุ่งเน้นให้นักเรียนมีความเป็นสุภาพบุรุษและมีวินัย ดังนั้นนักเรียนจะต้องฝึกหัดท่าทหารและวิชามหาดเล็ก[37] โดยการฝึกหัดท่าทหารและระเบียบวินัยนั้น มีทหารจากกองทัพบกมาฝึกให้ เพื่อใช้ในการเดินแถวให้มีระเบียบเรียบร้อย ส่วนวิชามหาดเล็กเป็นการเรียนวิชาข้อราชสำนักและการถวายปฏิบัติตนต่อพระมหากษัตริย์ หรือที่เรียกว่า “ถวายอยู่งาน” ซึ่งวิชามหาดเล็กนี้ ทางวังจะส่งคนมาสอน[38] นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้โรงเรียนมหาดเล็กหลวงทำหน้าที่ไม่ใช่เพียงการสอนวิชาความรู้ แต่ยังต้องอบรมให้เด็กมีคุณธรรมจริยธรรม ดังนั้นพระองค์จึงมีพระราชดำริให้จัดการเรียนการสอนในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงในลักษณะเดียวกับโรงเรียนประจำของอังกฤษ ที่นักเรียนจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของครูตลอดเวลาเพื่อที่จะได้รับการอบรมสั่งสอนให้มีระเบียบวินัย

		“ ... เด็ก ๆ เป็นผู้ที่กำลังเรียน ถ้ามีแบบอย่างชักจูงไปทางไหนก็อาจหันไปทางนั้นได้ง่าย ทั้งทางดีและทางชั่ว เพราะฉะนั้นจึงต้องมีโรงเรียนสำหรับฝึกสอนเด็กหัน
	ไปแต่ในทางที่ดี โรงเรียนที่สอนเฉพาะแต่เวลากลางวัน ครูมีเวลาอยู่กับเด็กน้อย การศาสนาเขาก็สอนเหมือนกัน ที่เรียกว่า จรรยา แต่นักเรียนเรียนจรรยาที่โรงเรียนแล้ว เมื่อเลิก
	จากโรงเรียนพ้นครูไป จรรยาที่ครูสอนนั้นก็เป็นอันทิ้งเสียด้วย ถ้าโรงเรียนเป็นบ้านของนักเรียนด้วย เช่น โรงเรียนกินอยู่ประจำ การพักผ่อนและการควบคุมได้มีอยู่ตลอดเวลา เพราะ
	เราหวังประโยชน์เพื่ออุดหนุนการฝึกนอนเช่นนี้ เราจึงตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้น ...”[39] 

“โรงเรียนมหาดเล็กหลวง” นอกจากจะให้การอบรมสั่งสอนนักเรียนที่จะเติบโตขึ้นเป็นข้าราชการในพระองค์แล้ว ยังเป็นการอบรมสั่งสอนประชากรของชาติให้มีทั้งความรู้และจริยธรรม มีความเป็นสุภาพบุรุษ โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นแหล่งบ่มเพาะเด็กจำนวนมากให้เติบโตขึ้นมาเป็นเสาหลักสำคัญของประเทศชาติ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าวของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานนามโรงเรียนใหม่ว่า “วชิราวุธวิทยาลัย” เพื่อน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้น

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะการจัดการการปกครองของกระทรวงมหาดไทยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราโชบายที่จะรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางแทนการให้เจ้าท้องถิ่นปกครองตนเอง ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนข้าราชการของกระทรวงมหาดไทยให้เพียงพอกับการปกครองรูปแบบใหม่ ด้วยเหตุนี้ ในพ.ศ.2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้ก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการฝ่ายพลเรือนขึ้นและพระราชทานนามในเวลาต่อมาว่า “โรงเรียนมหาดเล็ก” มีวัตถุประสงค์ที่จะฝึกหัดคนเพื่อรับราชการในกระทรวงมหาดไทยต่อไป[40] ด้วยความต้องการที่จะผลิตข้าราชการสำหรับทำงานในกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นงานเอกสารราชการ และส่วนที่เป็นงานท้องถิ่นที่ต้องลงไปทำงานคลุกคลีกับชาวบ้าน รวมทั้งยังต้องรับผิดชอบพื้นที่ทุรกันดารที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญ หลักสูตรของโรงเรียนมหาดเล็กจึงออกแบบมาให้ผู้เรียนมีความรู้ทั้งในงานที่เกี่ยวข้องกับส่วนกลาง ได้แก่งานเสมียน หน้าที่มหาดเล็ก ระบบราชการ วิชาบัญชี และความรู้ที่จำเป็นสำหรับการออกไปอยู่พื้นที่ห่างไกล ได้แก่ วิชาทหารทั้งการยิงปืนและขี่ม้า ทำแผนที่ วิชาที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางทั้งภูมิศาสตร์ การรักษาพยาบาล และการสร้างที่พักชั่วคราว เกณฑ์การรับผู้เรียนกำหนดว่าผู้เรียนจะต้องมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและสอบไล่ได้ระดับชั้นมัธยมศึกษาแล้ว โดยต้องเรียนให้จบหลักสูตรภายใน 3 ปี[41] ต่อมาในพ.ศ.2449 ด้วยยุคสมัยที่ภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษามาตรฐานสากล โรงเรียนมหาดเล็กจึงได้บรรจุวิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาบังคับอีกวิชาหนึ่ง เพื่อให้นักเรียนพอที่จะอ่านและเขียนภาษาอังกฤษได้[42]

อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของโรงเรียนมหาดเล็กที่มุ่งเน้นการผลิตข้าราชการยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของรัฐบาลได้ เนื่องจากมีความต้องการบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะด้านมาขับเคลื่อนหน่วยงาน ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้น เพื่อทำหน้าที่ผลิตข้าราชการพลเรือนให้พอเพียงกับความต้องการของประเทศชาติ

โรงเรียนข้าราชการพลเรือน

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระราชดำริที่จะขยายการศึกษาระดับสูงออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้นคือให้มีการจัดการเรียนการสอนเป็นแผนกสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น กฎหมาย ปกครอง การต่างประเทศ การเกษตร การช่าง และการแพทย์ เป็นต้น[43] อย่างไรก็ตาม การตั้งโรงเรียนใหม่นี้จำเป็นต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานเงินที่ประชาชนร่วมกันบริจาคสร้างพระบรมรูปทรงม้า หรือที่เรียกว่า “เงินหางม้า” ซึ่งเหลือกว่าแปดแสนบาท มาสร้างโรงเรียนแห่งใหม่นี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า

“ … ประโยชน์สิ่งใดยิ่งกว่าการปกครองราษฎรให้มีความศุข ความเจริญ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงเริ่ม การจัดการโรงเรียนไว้สำหรับกุลบุตร์ที่จะรับราชการฝ่ายพลเรือนดังนี้แล้ว ควรจะขยายการให้กว้างขวางต่อไป ตามพระราชประสงค์ ทุนที่เหลือจากการที่ราษฎรเรี่ยรายกันสร้างอนุสาวรีย์ปิยะมหาราช ควรจะใช้ในการจัด โรงเรียนนี้ แต่การโรงเรียนนี้ย่อมเกี่ยวกับแก่กระทรวงทะบวงการทั่วไป จึงควรจะมีกรรมการดำริห์แลจัดการให้เปนรูปก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนมหาดเล็กเปนโรงเรียนข้าราชการพลเรือน พระราชทานนามปรากฏว่า “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” … ”[44]

ด้วยเหตุนี้โรงเรียนข้าราชการพลเรือนได้ก่อตั้งขึ้น ด้วยความมุ่งหวังให้เป็นโรงเรียนอุดมศึกษา โดยกำหนดรับนักเรียนเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ นักเรียนหลวง คือ นักเรียนที่สอบไล่ระดับมัธยมศึกษาซึ่งได้รับเลือกจากสภาโรงเรียนให้เข้าเรียนเพื่อฝึกหัดสำหรับราชการต่อไป อีกกลุ่มหนึ่งได้แก่นักเรียนกระทรวง คือ ข้าราชการที่สังกัดกระทรวงอยู่แล้ว ต้นสังกัดส่งมาเรียนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ และกลับไปรับราชการตามกระทรวงต้นสังกัดของตนเมื่อสำเร็จการศึกษา[45] และนักเรียนเชลยศักดิ์ คือบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้สังกัดหน่วยงานราชการซึ่งเสียค่าเล่าเรียนเอง[46]

ตามความมุ่งหวังนั้น โรงเรียนจะเปิดสอนวิชาระดับอุดมศึกษาทั้งสิ้น 8 สาขา ได้แก่ การปกครอง กฎหมาย การทูต การช่าง การแพทย์ การเพาะปลูก การค้าขาย การเป็นครู แต่ในช่วงเแรก ยังคงเปิดสอนตามหลักสูตรของโรงเรียนมหาดเล็ก ซึ่งมีการเรียนการสองสองหลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรเสมียนเอก กับหลักสูตรสำหรับสอนวิชาชั้นสำรองนายร้อย โดยหลักสูตรเสมียนเอกจะต้องเรียนวิชา การเขียนหนังสือราชการ เลข บัญชีหนังสือ ราชาศัพท์ ภูมิศาสตร์เมืองไทย และจรรยา ส่วนหลักสูตรสอนวิชาชั้นสำรองนายร้อย ประกอบด้วยวิชาที่อยู่ในหลักสูตรเสมียนชั้นเอก สากลภูมิศาสตร์ พงศาวดารสยาม ระเบียบวิธีการปกครองกรุงสยาม กฎหมายปกครอง กฎหมายอัฏคดี กฎหมายระหว่างประเทศ วิธีภาษีอากร วิธีการทำแผนที่ ฝึกหัดวิธีทหารและการเดินทาง[47] โดยสาขาวิชาช่างหรือวิศวกรรมจะเปิดในพ.ศ.2457 ส่วนวิชาอื่น ๆ นั้นจะค่อย ๆ ร่างขึ้นหรือรวมเข้ากับโรงเรียนระดับอุดมศึกษาอื่น ๆ เช่น โรงเรียนแพทยาลัย[48]

เมื่อก่อตั้งโรงเรียนสำเร็จแล้ว ปรากฏว่าบรรดาพ่อค้าประชาชนรวมทั้งข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์ต่างบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนกิจการของโรงเรียนเป็นจำนวนมาก เช่น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธ์วงษ์วรเดชพระราชทานเงิน 200 บาท พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรบริจาคเงิน 100 บาท[49] จีนซุ่ม ชาวเมืองฉะเชิงเทรา บริจาคเงินเป็นจำนวน 200 บาท[50] เป็นต้น นอกจากนี้พระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเป็นสตรีต่างร่วมกันบริจาคเงินให้แก่โรงเรียน น่าสังเกตว่าจำนวนเงินที่เจ้านายสตรีบริจาคให้นั้นมีจำนวนสูงมาก เช่น พระองค์เจ้าวรลักษณาวดี ประทานเงิน 4,000 บาท พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภาและพระองค์เจ้าสุจิตราภรณี ประทานเงินรวมกันจำนวน 8,000 บาท[51] ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระประสงค์ที่ทรงต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศชาติ แต่ด้วยความเป็นสตรีจึงไม่มีโอกาสรับการศึกษาเฉกเช่นบุรุษและรับราชการในราชการฝ่ายหน้า ดังนั้น การบริจาครเงินเพื่อบำรุงการศึกษาก็เปรียบเสมือนการช่วยประเทศชาติอีกทางหนึ่ง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังจากที่ก่อตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเป็นเวลา 5 ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริที่จะขยายการศึกษาให้กว้างมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เฉพาะเพื่อผลิตข้าราชการเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อผลิตคนที่มีการศึกษาในระดับสูงมากยิ่งขึ้น จึงมีพระบรมราชโองการสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2459[52] และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงแพทยาลัยเข้าเป็นแผนกหนึ่งของมหาวิทยาลัย[53] โดยมีพระยาอนุกิจวิธูร ดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[54]

เมื่อแรกตั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประกอบด้วย 4 คณะ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะรัฏฐประศาสนศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในแต่ละคณะมีแผนกแยกย่อยอีกต่างหาก เช่น คณะรัฏฐประศาสนศาสตร์ มีแผนกแยกย่อย คือแผนกกฎหมายและการเมือง กับแผนกธนการ พาณิชยการ และเศรษฐวิทยา[55] นักเรียนที่มีสิทธิสมัครเรียนต้องสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 การเข้าศึกษาในระยะแรกยังใช้การสอบวัดความรู้รอบตัวและเชาวน์ ข้อสอบทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ เนื่องจากเวลานั้นอาจารย์ผู้ทดสอบเป็นชาวต่างชาติทั้งหมด ผู้ที่ทำคะแนนได้สิบอันดับแรกจะได้รับทุนค่าเล่าเรียน ค่าที่พักและค่าอาหาร[56] เนื่องจากมีผู้สมัครเรียนไม่มากนัก ในระยะแรก การสอบเข้าเรียนจึงไม่เข้มงวด เพราะจำนวนผู้ประสงค์จะเรียนน้อยกว่าจำนวนที่มหาวิทยาลัยต้องการ จนกระทั่งพ.ศ.2471 ที่มีผู้สมัครเรียนมากกว่าจำนวนที่มหาวิทยาลัยจะรับได้ มาตรฐานการสอบเข้าจึงเข้มข้นมากขึ้น

ด้วยความขาดแคลนทั้งทุนทรัพย์และบุคลากรทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังไม่สามารถจัดการเรียนการสอนระดับปริญญา มีเพียงการศึกษาระดับประกาศนียบัตรชั้นสูงเท่านั้น จนกระทั่งในพ.ศ.2466 เมื่อมูลนิธิร็อคกีเฟลเลอร์ได้จัดสรรทั้งเงินทุนสำหรับก่อสร้างอาคาร จัดสรรอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาเป็นอาจารย์[57] จึงได้จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาในคณะแพทยศาสตร์ได้สำเร็จ ส่วนการเรียนการสอนในสาขาอื่น ๆ นั้นก็ยังคงเป็นการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรขั้นสูงจนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีการปรับปรุงหลักสูตรจนมีการศึกษาในระดับปริญญา โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์เริ่มการศึกษาระดับปริญญาในพ.ศ.2476[58] ส่วนคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์เริ่มการศึกษาในระดับปริญญาในพ.ศ.2478[59]

สรุป

พระราชกรณียกิจทางด้านการศึกษาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนับได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางรากฐานของประเทศ แต่เดิมนั้นการศึกษามุ่งเน้นเพียงให้ประชาชนอ่านออกเขียนได้ แต่เมื่อล่วงเข้าสู่รัชสมัยของพระองค์ ความรู้เพียงอ่านออกเขียนได้ไม่เพียงพอที่จะใช้ทั้งในการประกอบอาชีพและการพัฒนาประเทศชาติ ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้ปฏิรูปการศึกษาไทยเสียใหม่ โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับการศึกษาโดยทั่วไป จึงมีการตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.2464 ขึ้นเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถอ่านออกเขียนได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังทรงคำนึงถึงหนทางในการประกอบอาชีพทั้งด้านการเกษตรและงานช่างต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้การศึกษาขั้นพื้นฐานจึงให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นทักษะอาชีพ เช่น งานช่าง งานเกษตรกรรม เป็นต้น

ความขาดแคลนช่างในเวลานั้น เนื่องจากประชาชนส่วนมากมุ่งเน้นที่จะเรียนหนังสือให้อ่านออกเขียนได้เพียงเพื่อทำงานเสมียน ซึ่งถือกันว่าเป็นงานที่สบายและมีเกียรติ ทำให้งานหัตถกรรมถูกละเลยไป ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการให้จัดการประกวดงานหัตถกรรมของนักเรียนและพลเรือนขึ้น เพื่อให้ประชาชนตระหนักว่างานศิลปะหรืองานช่างนั้นเมื่อทำออกมาได้ดีแล้ว ก็สามารถใช้หาเลี้ยงชีพได้ อย่างไรก็ตามสำหรับงานช่างชั้นสูงของไทยที่ค่อย ๆ เลือนหายไปจากสังคม เพราะความนิยมในศิลปะต่างชาติ ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนให้ก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดช่างขึ้น เพื่อทำหน้าที่ผลิตช่าง อันจะเป็นการช่วยอนุรักษ์งานศิลปะของไทยไว้ ด้วยเหตุนี้โรงเรียนเพาะช่างจึงถือกำเนิดขึ้นในพ.ศ.2456

นอกจากการสร้างประชากรที่มีความรู้ทางวิชาการแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงให้ความสำคัญกับการสร้างประชากรที่มีคุณธรรมจริยธรรมและความเป็นสุภาพบุรุษ โรงเรียนมหาดเล็กหลวงจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่ขัดเกลาเด็กผู้ชายให้มีความรู้คู่คุณธรรม ซึ่งพระองค์ทรงใส่พระราชหฤทัยในกิจการของโรงเรียนเป็นอย่างมาก พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนโรงเรียนทุกปี เพื่อพระราชทานรางวัลและประกาศนียบัตรให้แก่นักเรียน พร้อมกันนี้ยังทรงมีพระบรมราชานุญาตให้นักเรียนเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นประจำ เด็กนักเรียนจำนวนมากของโรงเรียนได้เป็นเสาหลักสำคัญของการปกครองประเทศ รวมทั้งมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาของประเทศไทย

ในขณะที่ความขาดแคลนข้าราชการหลังการปฏิรูประบบราชการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้มีการก่อตั้งโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นในพ.ศ.2446 และเมื่อความต้องการข้าราชการที่มีความรู้อย่างตะวันตกเพิ่มมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดให้ก่อตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้น อย่างไรก็ดี การเรียนการสอนในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนยังมุ่งเน้นผลิตคนเพื่อรับราชการ ซึ่งยังมีคนจำนวนมากที่ต้องการรับการศึกษาในระดับสูงแต่ไม่ได้ประสงค์ที่จะเข้ารับราชการ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายการเรียนการสอนและทรงสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามด้วยปัญหาต่าง ๆ ทั้งความขาดแคลนในด้านงบประมาณ และบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ทำให้ในระยะแรก หลักสูตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเป็นเพียงประกาศนียบัตรขั้นสูงเท่านั้น จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้พัฒนาหลักสูตรจนมีการศึกษาในระดับปริญญาขึ้น


1. รวิพรรณ จารุทวี, “โรงเรียนจีนในมณฑลกรุงเทพฯ พ.ศ. 2461-2475,” (ปริญญามหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552), หน้า 38.[^]
2. อัจฉราพร กมุทพิสมัย, “กบฏ ร.ศ. 130 : ศึกษากรณีการปฏิรูปทางการปกครอง และกลุ่ม "ทหารใหม่,” (ปริญญามหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2524), หน้า 178.[^]
3. “พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พระพุทธศักราช 2461” ราชกิจจานุเบกษา 35 0 ก (9 มิถุนายน พ.ศ.2461), หน้า 112.[^]
4. เรื่องเดียวกัน, หน้า 112 – 113. [^]
5. เรื่องเดียวกัน, หน้า 116 – 117. [^]
6. เรื่องเดียวกัน, หน้า 119.[^]
7. เรื่องเดียวกัน, หน้า 119.[^]
8. เรื่องเดียวกัน, หน้า 122. [^]
9. เรื่องเดียวกัน, หน้า 120 – 121.[^]
10. “พระราชบัญญัติประถมศึกษา พระพุทธศักราช 2464” ราชกิจจานุเบกษา 38 0 ก (23 กันยายน 2464), หน้า 247 – 248.[^]
11. เรื่องเดียวกัน, หน้า 248 – 249.[^]
12. เรื่องเดียวกัน, หน้า 250.[^]
13. เรื่องเดียวกัน, หน้า 267.[^]
14. “พระราชบัญญัติประถมศึกษา พระพุทธศักราช 2464” ราชกิจจานุเบกษา 38 0 ก (23 กันยายน 2464), หน้า 167.[^]
15. มนูญ ลาชโรจน์, “นโยบายจัดการศึกษาสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2453 – 2468),” (วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2521), หน้า 28 – 29.[^]
16. “แจ้งความกระทรวงธรรมการ เรื่อง จะจัดให้มีการแสดงศิลปการหัตถกรรมของนักเรียน” ราชกิจจานุเบกษา 29 0 ง (13 ตุลาคม พ.ศ.2455), หน้า 1582 – 1583.[^]
17. “แจ้งความกระทรวงธรรมการ เรื่อง การแจกรางวัลการแสดงศิลปการหัตถกรรมของนักเรียน” ราชกิจจานุเบกษา 29 0 ง (23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2455), หน้า 2664 – 2665.[^]
18. เรื่องเดียวกัน, หน้า 2666.[^]
19. เรื่องเดียวกัน, หน้า 2666.[^]
20. “แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมศึกษาธิการ เรื่อง แสดงศิลปการหัตถกรรมของนักเรียนประจำ พ.ศ. 2456” ราชกิจจานุเบกษา 30 0 ง (21 กันยายน 2456), หน้า 1330[^]
21. “แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมศึกษาธิการ บัญชีรางวัลการแสดงศิลปหัตถกรรมของนักเรียน” ราชกิจจานุเบกษา 31 0 ง (26 กรกฎาคม 2457), หน้า 962.[^]
22. “แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมศึกษาธิการ แสดงศิลปการหัตถกรรมของนักเรียนและพาณิชยการของพลเมืองประจำ พ.ศ. 2459” ราชกิจจานุเบกษา 33 0 ง (20 สิงหาคม 2459), หน้า 1287 – 1288.[^]
23. เรื่องเดียวกัน, หน้า 1288 – 1289.[^]
24. “คำกราบบังคมของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ในการแสดงศิลปะหัตถกรรม และ พาณิชการ เมื่อวันที่ 3 มกราคม พุทธศักราช 2457” ราชกิจจานุเบกษา 31 0 ง (7 กุมภาพันธ์ 2457), หน้า 2630.[^]
25. เรื่องเดียวกัน, หน้า 2631.[^]
26. “ประกาศกระทรวงธรรมการ เรื่อง การเปิดโรงเรียนเพาะช่าง” ราชกิจจานุเบกษา 30 0 ง (25 มกราคม 2456), หน้า 2492 – 2493.[^]
27. “พระบรมราชโองการ พระราชดำรัสตอบ ในการเปิดโรงเรียนเพาะช่าง” ราชกิจจานุเบกษา 30 ง (25 มกราคม 2456), หน้า 2499.[^]
28. “พระบรมราชโองการ พระราชดำรัสตอบ ในการเปิดโรงเรียนเพาะช่าง” ราชกิจจานุเบกษา 30 ง (25 มกราคม 2456), หน้า 2499.[^]
29. เรื่องเดียวกัน, หน้า 2499 – 2500.[^]
30. “แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมศึกษาธิการ บัญชีรางวัลการแสดงศิลปหัตถกรรมของนักเรียน” ราชกิจจานุเบกษา 31 0 ง (26 กรกฎาคม 2457), หน้า 958 – 959.[^]
31. “คำกราบบังคมของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ในการแสดงศิลปะหัตถกรรม และ พาณิชการ เมื่อวันที่ 3 มกราคม พุทธศักราช 2457” ราชกิจจานุเบกษา 31 0 ง (7 กุมภาพันธ์ 2457), หน้า 2631.[^]
32. สุนทรพิพิธ, พระยา, พระมหากรุณาธิคุณ แห่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า 214.[^]
33. “แจ้งความโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ย้ายโรงเรียนมหาดเล็กข้าหลวงเดิม” ราชกิจจานุเบกษา 28 0 ง (2 เมษายน 2454), หน้า 15 – 17.[^]
34. เรื่องเดียวกัน, หน้า 18 – 19.[^]
35. “คำถวายชัยมงคล ของเหล่าราชบริพารในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง” ราชกิจจานุเบกษา 29 0 ง (1 ธันวาคม 2455), หน้า 1980.[^]
36. รัชดา ภุมรินทร์วรากุล, “การวิเคราะห์แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการส่งเสริมการศึกษาเพื่อสร้างยุวชนให้เป็นสุภาพบุรุษ,” (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538), หน้า 109.[^]
37. ระเบียบการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์พิเศษส่วยพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, (ม.ป.ท.: ม.ป.พ.ม, 2454), หน้า 10.[^]
38. รัชดา ภุมรินทร์วรากุล, “การวิเคราะห์แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการส่งเสริมการศึกษาเพื่อสร้างยุวชนให้เป็นสุภาพบุรุษ”, หน้า 105.[^]
39. กจช. ร.6 ศ/5.69 โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เรื่อง “กระแสพระบรมราชโองการซึ่งบรรจุไว้ในศิลาฤกษ์โรงเรียนมหาดเล็กหลวง, ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2458.[^]
40. “พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก” ราชกิจจานุเบกษา 19 1 (6 เมษายน 2445), หน้า 16.[^]
41. “รายงานโรงเรียนมหาดเล็ก ศก 123” ราชกิจจานุเบกษา 22 4 (23 เมษายน 2448), หน้า 65 – 66.[^]
42. “แจ้งความโรงเรียนมหาดเล็ก [เรื่อง จะจัดการสอนภาษาอังกฤษควบกันไปกับหนังสือไทย และขนบธรรมเนียมราชการแก่นักเรียน]” ราชกิจจานุเบกษา 23 8 (20 พฤษภาคม 2449), หน้า 153.[^]
43. “พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ราชกิจจานุเบกษา 27 ก (11 มกราคม 2453), หน้า 125.[^]
44. เรื่องเดียวกัน, หน้า 126.[^]
45. “ประกาศ ตั้งหลักสูตร โรงเรียนข้าราชการพลเรือน” ราชกิจจานุเบกษา 28 ก (20 สิงหาคม 2454), หน้า 192.[^]
46. “แจ้งความกระทรวงธรรมการ เรื่อง แจ้งความโรงเรียนข้าราชการพลเรือน หัวข้อความคิดจัดการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน” ราชกิจจานุเบกษา 29 0 ง (9 กุมภาพันธ์ 2455), หน้า 2570.[^]
47. “ประกาศ ตั้งหลักสูตร โรงเรียนข้าราชการพลเรือน” ราชกิจจานุเบกษา 28 ก (20 สิงหาคม 2454), หน้า 193 – 195.[^]
48. “แจ้งความกระทรวงธรรมการ เรื่อง แจ้งความโรงเรียนข้าราชการพลเรือน หัวข้อความคิดจัดการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน” ราชกิจจานุเบกษา 29 0 ง (9 กุมภาพันธ์ 2455), หน้า 2571 – 2572.[^]
49. “แจ้งความโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ราชกิจจานุเบกษา 28 ก (29 ตุลาคม 2454), หน้า 1660.[^]
50. “แจ้งความโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ เรื่อง จีนชุ่ม (วิจารณ์จีนพานิช) ได้บริจาคทรัพย์บำรุงโรงเรียนข้าราชการพลเรือน” ราชกิจจานุเบกษา 28 0 ง (4 มิถุนายน 2454), หน้า 453.[^]
51. “แจ้งความโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ประทานเงินบำรุงโรงเรียน” ราชกิจจานุเบกษา 29 0 ง (30 มีนาคม 2454), หน้า 2893.[^]
52. “ประกาศ เรื่อง ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโอนไปขึ้นอยู่ในกระทรวงธรรมการ” ราชกิจจานุเบกษา 34 0 ก (15 เมษายน 2460), หน้า 20 – 21. ราชกิจจานุเบกษา 29 0 ง (30 มีนาคม 2454), หน้า 2893.[^]
53. “ประกาศกระทรวงธรรมการ เรื่อง รวมโรงเรียนราชแพทยาลัยเข้ากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ราชกิจจานุเบกษา 34 0 ก (15 เมษายน 2460), หน้า 21 – 22.[^]
54. “พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยและตั้งผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ราชกิจจานุเบกษา 34 0 ก (15 เมษายน 2460), หน้า 23.[^]
55. สมโชติ วีรภัทรเวธ, “พัฒนาการของมหาวิทยาลัยไทย พ.ศ. 2459-2500,” (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550), หน้า 131.[^]
56. เรื่องเดียวกัน, หน้า 149 – 151.[^]
57. เรื่องเดียวกัน, หน้า 88 – 89.[^]
58. เรื่องเดียวกัน, หน้า 143.[^]
59. เรื่องเดียวกัน, หน้า 145.[^]