บทคัดย่อศึกษาการประกอบสร้างความเป็นชายแบบ "สุภาพบุรุษ" จากบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงยุค "สุภาพบุรุษ" ของศรีบูรพาและศึกษาความเป็นชายแบบ "สุภาพบุรุษ" ที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับวรรณกรรมศรีบูรพา ผลจากการศึกษาพบว่า "สุภาพบุรุษ" ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือการแสดงลักษณะความเป็นชายของชนชั้นสูงสอดรับกับค่านิยมในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่ว่า "สุภาพบุรุษ" คือ ผู้มีชาติกำเนิดดี อีกทั้ง "สุภาพบุรุษ" ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมุ่งแสดงภาพผู้เสียสละ ตลอดจนมีความสำนึกในบทบาทและหน้าที่ของตนเองต่อครอบครัว สังคมและประเทศชาติ การมีความกล้าหาญ การปฏิบัติตนต่อผู้หญิง การรู้จักควบคุมอารมณ์ การเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้อื่น นอกจากนี้ "สุภาพบุรุษ" ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังผูกโยงกับความเป็นชาติ ที่หมายถึงประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำไปสู่ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วน "สุภาพบุรุษ" ของศรีบูรพาหมายถึงการแสดงออกถึงความเป็นชายที่ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องอยู่ในชนชั้นสูง สามัญชนก็สามารถเป็น "สุภาพบุรุษ" ได้ ถ้าเป็นผู้มีความประพฤติดีหรือเป็นคนดี สอดรับกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.๒๔๗๕ ที่สามัญชนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกัน "สุภาพบุรุษ" ของศรีบูรพายังแสดงภาพของผู้ชายที่เสียสละ มีความกล้าหาญ มีการปฏิบัติตนต่อผู้หญิง มีความยุติธรรม ตลอดจนเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้อื่น ซึ่งคำว่าผู้อื่นของศรีบูรพาหมายถึงประชาชน สอดรับกับอุดมการณ์ที่ศรีบูรพาต้องการให้ "สุภาพบุรุษ" ประพฤติตนเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นหรือประชาชนมากกว่าตนเอง ทั้งนี้แนวความคิดเรื่อง "สุภาพบุรุษ" ที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับวรรณกรรมศรีบูรพา ได้ชี้ให้เห็นว่าการประกอบสร้างความเป็น "สุภาพบุรุษ" ในแต่ละยุคสมัยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้ง "สุภาพบุรุษ" ยังเปลี่ยนแปลงไปตามอุดมการณ์ที่ประกอบสร้างมาจากแนวพระราชดำริใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับทัศนะของศรีบูรพา