บทคัดย่อวิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาถึงการใช้วรรณกรรมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงใช้พระนามแฝงแทนพระองค์ว่า “อัศวพาหุ” เป็นสื่อสำคัญในการเผยแพร่แนวความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองไปสู่ประชาชน ตลอดจนศึกษาถึงปัจจัยที่ทำให้ “อัศวพาหุ” ใช้วรรณกรรมเป็นสื่อ ผลจากการศึกษาพบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “อัศวพาหุ” ทรงเลือกใช้วรรณกรรมเป็นสื่อ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ ปัจจัยภายใน ได้แก่ ภูมิหลังส่วนพระองค์ พระปรีชาสามารถพิเศษทางด้านวรรณกรรม และปัจจัยภายนอก ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ทั้งภายในและภายนอกประเทศ แนวความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ปรากฏในงานวรรณกรรมของ “อัศวพาหุ” มีลักษณะของอุดมการณ์ชาตินิยม ศูนย์กลางของความรักชาติ ก็คือความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ อุดมการณ์ชาตินิยม อันหมายถึง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นอุดมการณ์ที่เกิดขึ้นจากการกำหนดของพระองค์เอง แนวความคิดและอุดมการณ์ชาตินิยมที่ปรากฏในงานวรรณะกรรมของ “อัศวพาหุ” แบ่งได้เป็น 4 ประเภทคือ 1.แนวความคิดและอุดมการณ์ในการต่อต้านชาวต่างชาติ 2.แนวความคิดและอุดมการณ์ในการสร้างเจตคติเกี่ยวกับลัทธิการปกครอง 3.แนวความคิดและอุดมการณ์เกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิต 4. แนวความคิดและอุดมการณ์ในการสร้างเจตคติต่อการสงครามและกลยุทธในการรบ เนื้อหาของวรรณกรรมยังสะท้อนให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้ากับสภาพสังคมไทยในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี ผู้วิจัยไม่อาจสรุปได้ว่า การใช้วรรณกรรมเพื่อเผยแพร่แนวความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองของ “อัศวพาหุ” ประสบความสำเร็จหรือไม่เพียงไร อย่างไรก็ดีปรากฏปฏิกิริยาตอบโต้จากผู้อ่านที่เป็นนักเขียนกลุ่มปัญญาชนในขณะนั้นบ้าง ทั้งในลักษณะที่ตอบโต้งานวรรณกรรมในพระนามแฝง “อัศวพาหุ” และในพระนามแฝงอื่นที่มีสาระเกี่ยวเนื่องกัน นอกจากนี้ “สื่อ” วรรณกรรมของ “อัศวพาหุ” ก็ยังคงอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ ดังจะเห็นได้ว่าวรรณกรรมบางบทบางตอนได้ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นตัวอย่างเสมอ เนื่องจากให้สาระ และแนวคิดที่เป็นประโยชน์ทั้งในการประพฤติปฏิบัติของบุคคล ต่อตนเอง และสังคม