พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีพระปรีชาสามารถที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ยกย่องพระเกียรติคุณให้พระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวัฒนธรรม สำหรับชาวจุฬาฯ แล้ว พระองค์ทรงเป็นยิ่งกว่าผู้ที่มีความสำคัญด้านศิลปวัฒนธรรม พระองค์ได้สืบสานพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นเพื่อเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชาวสยาม เพื่อให้ประชาชนที่ประสงค์จะเข้ารับการศึกษาชั้นสูงเข้ามีโอกาสเข้าเรียนได้โดยทั่วถึงกัน พระองค์ทรงประกาศประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2459 ทั้งนี้ยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นเมื่อพระราชทานที่ดินของพระคลังข้างที่ จำนวน 1,309 ไร่ ให้เป็นสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัย ตลอดระยะเวลา 15 ปีในการครองราชย์ พระองค์ทรงเปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพ และทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในหลายสาขายังประโยชน์นานัปการ ทั้งด้านการเมือง การปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข และการต่างประเทศ สมดังพระราชสมัญญา “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” กษัตริย์นักปราชญ์ของชาวไทยอย่างแท้จริง 100 ปีที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง และยังมุ่งมั่นทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในทุกวิถีทางให้เป็นสถานศึกษาที่เป็นดั่งพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าของพสกนิกรชาวไทยตลอดไป
Author | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
Subject | พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
|
ปีที่เผยแพร่ | 25 March 2017 |
more info