ย้อนกลับไป 100 ปีที่แล้ว สืบเนื่องจากการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินรัชสมัยของสมเด็จพระปิยมหาราช การจัดตั้งกระทรวงต่างๆ ทำให้ต้องการคนที่มีความรู้มาทำงาน พระองค์ท่านจึงได้จัดตั้ง สำนักฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือนขึ้น ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนมหาดเล็ก” โดยเปิดโอกาสให้สามัญชนสามารถเข้าศึกษาได้ สมกับพระราชปณิธานที่ว่า “เจ้านายตั้งแต่ลูกฉันเปนต้นไป ตลอดจนถึงราษฎรที่ต่ำสุด จะให้ได้มีโอกาสเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้า ว่าขุนนาง ว่าไพร่ เพราะฉะนั้นจึ่งขอบอกได้ว่า การเล่าเรียนในบ้านเมืองเรานี้จะเปนข้อสำคัญที่หนึ่ง ซึ่งฉันจะอุส่าห์จัดให้เจริญขึ้นจงได้” ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็น “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” หลังจากนั้นก็ทรงประกาศประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นพระราชประสงค์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ที่พระองค์ทรงต้องการให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งของสังคมในการพัฒนาศักยภาพของนิสิต รวมถึงการศึกษาองค์ความรู้ทางด้านการวิจัยทางวิชาการเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน
Author | สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
ปีที่เผยแพร่ | 25 March 2017 |
more info